ประยุทธ์ แจงงบปี 65 จีดีพี 4.0-5.0% เงินสำรองแข็งโป๊ก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
แฟ้มภาพ

พล.อ.ประยุทธ์ แจงหลักการ-เหตุผลร่าง พ.ร.บ.งบปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท คาดจีดีพีปี 64 ขยายตัว 2.5-3.5% เงินเฟ้อ 1.0-2.0% และจีดีพีปี 65 ขยายตัว 4.0-5.0% คาดจัดเก็บรายได้ลดลงกว่าปีก่อน 10.26% หนี้สาธารณะ 8.47 ล้านล้าน เงินสำรองระหว่างประเทศแข็งโป๊ก 250,433.55 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ที่รัฐสภา มีการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2564 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงหลักการและเหตุผล ว่า หลักการ คือ ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นจำนวนไม่เกิน 3,100,000,000,000 บาท

สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ เป็นจำนวน 3,074,424,773,300 บาท เพื่อชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 596,666,700 บาท และเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย เป็นจำนวน 24,978,560,000 บาท

เหตุผลเพื่อให้หน่วยรับงบประมาณได้มีกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

โดยใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันนโยบายและมาตรการด้านต่าง ๆ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565

แผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และนโยบายของรัฐบาล สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศและผลกระทบจากภายนอก รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

จีดีพี ปี 64 ขยายตัวร้อยละ 2.5-3.5 เงินเฟ้อร้อยละ 0.7-1.7

ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป เศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกตามความคืบหน้าของการอนุมัติและการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก และผลจากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม

ทั้งด้านการเงินและการคลังที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการกลับมาขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม รวมทั้งการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีความรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จนนำไปสู่การดำเนินมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น แนวโน้มความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจท่ามกลางตลาดแรงงานและกิจกรรมทางธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง และความผันผวนของเศรษฐกิจและระบบการเงินโลก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0-2.0

จีดีพี ปี 65 ขยายตัวร้อยละ 4.0-5.0

เศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.0-5.0 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศภายหลังการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น

ภายใต้เงื่อนไขของการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของหลายประเทศที่เป็นต้นทางของนักท่องเที่ยวนับตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2564 สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2565 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7-1.7

จัดเก็บรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท

นโยบายการคลังและความสัมพันธ์ระหว่างรายรับและงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2,511,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.26 จากปีก่อน

และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 111,000 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,400,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมเพียงพอ จึงกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 3,100,000 ล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิจำนวน 2,400,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 700,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 3,100,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย

หนี้สาธารณะ 8.47 ล้านล้านบาท

ฐานะการคลังสำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มีจำนวน 8,472,187.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรงและการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 8,068,913.7 ล้านบาท

ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 372,784.3 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

ฐานะและนโยบายการเงิน การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมามีการผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำ ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น

โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัว จากการระบาดระลอกแรกและได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้รายได้และความสามารถในการชำระหนี้ลดลง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564 ที่ร้อยละ 0.5 เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมมีความผ่อนคลาย สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงการช่วยดูแลภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้และเอื้อให้ต้นทุนทางการเงินของการปรับโครงสร้างหนี้อยู่ในระดับต่ำ

เงินสำรองระหว่างประเทศ 3.5 เท่าของหนี้ ตปท.

สำหรับฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 มีจำนวน 250,433.55 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 3.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

นโยบายการจัดทำงบประมาณร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายให้ประเทศได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรมนุษย์ ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เศรษฐกิจได้รับการฟื้นฟูจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากในประเทศ พัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตประชาชน เพื่อเป็นกำลังในการขับเคลื่อนประเทศ ปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานและยกระดับขีดความสามารถประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนและกระจายการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายให้หน่วยรับงบประมาณต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งได้คำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ความเป็นธรรมทางสังคม เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณของประเทศเกิดประโยชน์สูงสุด มีความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐ