“ประยุทธ์” หย่าศึก อบจ.ชิงวัคซีน ล้วงเงินท้องถิ่น แสนล้าน

7 มิถุนายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะกดปุ่มคิกออฟการฉีดวัคซีน-วาระแห่งชาติ ทว่าความโกลาหลวัคซีนโควิด-19 มาตามนัด-ไม่มาตามนัด

หนึ่งในความพยายามในการเปิดจังหวัด-เปิดประเทศขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คือการ “ล้วงเงินสะสม” ของ อปท. ผ่านแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่าย การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 ข้อ 89 กำหนดเงื่อนไขในการ “ใช้จ่ายเงินสะสมได้”

1.ให้กระทำได้เฉพาะกิจการซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อปท. ซึ่งเกี่ยวกับด้านการบริการชุมชนและสังคม หรือกิจการที่เป็นการเพิ่มพูนรายได้ของ อปท. หรือกิจการที่จัดทำเพื่อบำบัดความเดือดร้อนของประชาชน

2.ได้ส่งเงินสมทบกองทุนส่งเสริมกิจการของ อปท.แต่ละประเภทตามระเบียบแล้ว และ 3.เมื่อได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินสะสมแล้ว อปท.ต้องดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้เสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีถัดไป หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ การใช้จ่ายเงินสะสมนั้นเป็นอันพับไป

ต่อมาได้มีการ “แก้ไขเพิ่มเติม” ระเบียบกระทรวงมหาดไทย “ฉบับที่ 2” โดยยกเลิก ข้อ 89 ที่ว่า “อปท.อาจจ่ายขาดจากเงินสะสมได้ไม่เกินร้อยละ 40 ของงบประมาณรายจ่ายเพื่อการลงทุนของปีนั้น โดยได้รับอนุมัติจากสภาท้องถิ่น” เปลี่ยนเป็น “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจใช้จ่ายเงินสะสมได้ โดยได้รับอนุมัติจากสภาท้องถิ่น” ภายใต้ “เงื่อนไขเดิม”

ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 “แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุด” แก้ไข-เพิ่มเติม ข้อ 89 (3) โดยระบุว่า “ให้กันเงินสะสมสำรองจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไม่น้อยกว่า 3 เดือนและกันไว้อีกร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานและกรณีที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้น”

ข้อ 44 ยังให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 89/1 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อความว่า

“ข้อ 89/1 ในกรณีที่มีภารกิจตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล หรือกระทรวงมหาดไทย และจำเป็นต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ โดยมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและงบประมาณดังกล่าวไม่เพียงพอและไม่ต้องด้วยเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินสะสมหรือเงินทุนสำรองเงินสะสม ข้อ 87 และข้อ 89 (เงื่อนไขการใช้เงินสะสม) ปลัดกระทรวงมหาดไทยอาจอนุมัติยกเว้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้จ่ายเงินสะสมหรือเงินทุนสำรองเงินสะสมได้โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย”

ที่ผ่านมามีความพยายาม “ล้วงเงิน” สะสมของ อปท. อย่างน้อย 2 ครั้ง

ครั้งแรก มติ ครม.เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 เห็นชอบหลักการมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายของ อปท. เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ อปท. นำเงินสะสมมาใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่น 2 มาตรการ ได้แก่

1.มาตรการสนับสนุนการลงทุนร่วมระหว่างรัฐบาลและ อปท. (matching fund) และ 2.มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านการใช้จ่ายเงินสะสมของ อปท. โดยให้ใช้จ่ายจากเงินสะสมของ อปท. เป็น “ลำดับแรก” จำนวน 7,851 แห่งก่อน ภายในกรอบวงเงินไม่เกิน 8,897 ล้านบาท

“ครั้งที่สอง” การประชุม “ครม.สัญจร” ที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 โดยกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินสะสมของ อปท. เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยกำหนดแนวทาง-เงื่อนไข “ล้วงเงินสะสม” อาทิ โครงการเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น

ให้ อปท.นำเงินสะสมไปใช้จ่ายตามอำนาจหน้าที่เพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นและการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยให้ความสำคัญกับโครงการ เช่น ด้านโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร การจัดการขยะมูลฝอย การรักษาความสะอาดในท้องถิ่น

แม้กฎ-ระเบียบ อปท. “เงินสะสม” ของ อปท. จะมีกว่า 3 แสนล้านบาท จะสามารถนำออกมาใช้ได้ ทว่า แต่ละ อปท.มี “เงินสะสม” มาก-น้อยตามขนาดพื้นที่-จำนวนประชากรของแต่ละจังหวัด ทำให้ “เงินก้นถุง” ของแต่ละ อปท.ไม่เท่ากัน

“แหล่งข่าวทำเนียบรัฐบาล” วิเคราะห์ว่า ต้องตั้งหลักว่า หนึ่ง “วัคซีนน้อย” และสอง อปท.แต่ละแห่งมีขนาดที่เล็ก-ใหญ่ต่างกัน รวมถึงขีดความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณแตกต่างกัน

“จังหวัดเล็กจะเสียเปรียบจังหวัดใหญ่ จึงต้องกลับไปยึดที่หลักการเดิม คือ เมื่อวัคซีนจำกัด การที่รัฐบาลจัดหาจะทำให้เกิดความยุติธรรมที่สุด และจะไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและการบริหารจัดการจะง่ายขึ้น”

เมื่อจังหวัดเล็ก-ใหญ่ มีนัยไปถึงขาใหญ่-ผู้มีอิทธิพลในแต่ละจังหวัด จึงสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็น “วัคซีนการเมือง” ปัญหาขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่กฎระเบียบ-งบประมาณ แต่อยู่ที่ “จำนวนวัคซีน” ที่มีปริมาณจำกัด

พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องเปิดสถานี ศบค.ใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.โรคติดต่อและกฎหมาย 31 ฉบับในมือ “ดับไฟ” หย่าศึก “ชิงวัคซีน” ของขาใหญ่-ผู้มีอิทธิพลภูธร