ประยุทธ์ อ้างหนี้พุ่ง เพราะจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” ซัดชายชาติทหาร เขาไม่ทำกัน

ประยุทธ์ ยิ่งลักษณ์
FILE PHOTO : BANGKOK METROPOLITAN ADMINISTRAT / AFP

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โต้ พล.อ.ประยุทธ์ ปมหนี้เน่าจำนำข้าว เพราะทำรัฐประหาร จัดเกรดข้าวดีเป็นข้าวเน่า ขายข้าวต่ำกว่าราคาจริง สวนกลับ หนี้ยุคลุงตู่ 5.699 ล้านล้านบาท “ใช้หนี้นานเท่าไหร่กว่าจะหมดคะ”

วันที่ 2 มิถุนายน 2564 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พาดพิงในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 ที่รัฐสภาวานนี้ (1 มิ.ย.) ที่ว่าด้วยสถานการณ์ที่หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เพราะต้องใช้หนี้โครงการจำนำข้าวสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ โดยได้ใช้หนี้ไปแล้ว 7 แสนล้าน เหลือภาระหนี้อีก 2.8 แสนล้านบาท และต้องใช้อีก 12 ปีจึงจะหมด

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวเริ่มต้นว่า วานนี้ (1 มิ.ย.) ได้ฟังพล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงในรัฐสภา ถึงหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีหนี้จำนำข้าว ในลักษณะที่เป็นการพาดพิงถึงตนเอง พร้อมทั้งอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้หนี้ไปแล้ว 7 แสนห้าพันล้านบาท และเหลือภาระหนี้อีก 2.8 แสนล้านบาท ต้องใช้หนี้อีก 12 ปีถึงจะหมด นั้น

นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ขอชี้แจงทั้งหมด 5 ข้อ ดังนี้

1. เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ทำรัฐประหารยึดอำนาจนั้น ยอดหนี้สาธารณะของโครงการฯ เป็นภาระค้ำประกัน และมียอดไม่ถึง 5 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน และโครงการฯ ยังมีสต็อกข้าวสารหลายแสนล้านบาท ถ้าไม่เชื่อก็ลองไปสอบถาม รมว.คลังของท่านดู เสียดายที่รัฐบาลท่านปล่อยปละให้มีการทุจริต นำข้าวดี ๆ เหล่านั้นไปจัดเกรด ซึ่งไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำมาก่อนมีผลให้นำไปขายในราคาต่ำกว่าราคาจริง เป็นอาหารสัตว์บ้าง เป็นพลังงานบ้าง ซึ่งถ้าขายข้าวกันอย่างสุจริต ภาระคงค้างที่เกิดจากภารกิจช่วยเหลือชาวนาอย่างจริงจังในครั้งนั้นก็ย่อมจะไม่มาก และโครงการฯ ก็มีความคุ้มค่าต่อภารกิจ และเศรษฐกิจโดยรวม ตามรายงานของสภาพัฒน์ฯ อีกด้วย

2. ส่วนคำกล่าวหาในลักษณะที่ว่ารัฐบาลตนสร้างหนี้มาก มาดูข้อมูลจริงกันค่ะ ในช่วง 3 ปีงบประมาณ (2555-2557) ที่ตนบริหารงาน การกู้เงินเพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุลลดลง ต่อเนื่องทั้ง 3 ปี จาก 400,000 ล้านบาท เป็น 300,000 ล้านบาท และ 250,000 ล้านบาท (และวางเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นงบประมาณสมดุล ในปี 2560) รวมยอดหนี้ฯ 3 ปีงบประมาณ เท่ากับ 950,000 ล้านบาท

3. มาดูฝีมือสร้างหนี้ของพล.อ.ประยุทธ์ กันสิคะว่าเป็นอย่างไร การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ที่กำลังลดลงและควรจะลดลงอีก กลับทะยานเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 ที่มียอดเงินกู้ 250,000 ล้านบาท ปรากฏว่ามีการกู้เงินที่มียอดสูงขึ้นในช่วงเวลาอีก 4 ปี ต่อเนื่องก่อนการเลือกตั้ง (2559-2562) เป็น 390,000 ล้านบาท : 552,921.7 ล้านบาท : 550,358 ล้านบาท และ 450,000 ล้านบาท ทั้งหมดเป็นช่วงก่อนจะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 เสียอีก

พอปี 2563 และ 2564 ก็ยิ่งกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณสูงเป็นประวัติการณ์ คือ 683,000 ล้านบาท และ 623,000 ล้านบาท และในสองปีนี้ยังออก พรก.กู้เงินเพื่อภารกิจโรคระบาด อีกสองฉบับ ปี 2563 กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และในปี 2564 เมื่อไม่กี่วันก่อนก็กู้อีก 5 แสนล้านบาท และนี่ยังไม่รวมที่ พล.อ.ประยุทธ์กำลังเสนอ พรบ.งบประมาณ 2565 ที่ต้องกู้ชดเชยขาดดุลอีก 7 แสนล้านบาท รวมเป็นยอดเงินกู้ถึง 5.699 ล้านล้านบาท หนี้ขนาดนี้ใช้นานเท่าไหร่จะหมดคะ

4. มาดูดอกเบี้ยจ่ายกันบ้างก็พอจะบอกได้ว่าหนี้ที่ท่านก่อไว้สร้างภาระแค่ไหน งบประมาณปี 2565 ที่กำลังอภิปรายกันอยู่ มียอดรวม 3.1 ล้านล้านบาทนี้ ต้องจัดเตรียมไว้จ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 182,988 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มสูงขึ้น ถึง 67 % เมื่อเทียบกับ สมัยรัฐบาลตน ในปีงบประมาณ 2557 ก่อนรัฐประหาร งบฯ จ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่เพียง 109,511 ล้านบาท ดอกเบี้ยสูงขึ้นมาก เพราะพล.อ.ประยุทธ์กู้เงินมากมาย

5. รัฐบาลตนวางระบบชำระคืนหนี้สาธารณะก้อนโตที่ทิ้งค้างไว้ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทำให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์นอกจากจะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแล้ว ยังลดยอดหนี้สาธารณะลงไปหลายแสนล้านบาทโดยท่านไม่ต้องทำอะไรเลย แทนที่จะชื่นชมรัฐบาลก่อน กลับเอาแต่โทษโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเพื่อเบี่ยงเบนความเสียหายที่ท่านก่อขึ้น

“วันนี้ดิฉันไม่ได้บริหารประเทศมา 7 ปีแล้ว พล.อ.ประยุทธ์หัดโทษตัวบ้างเถอะค่ะ อย่าโทษแต่ดิฉันเลย ดิฉันฟังมา 7 ปีแล้ว สุภาพบุรุษ ชายชาติทหารเขาไม่ทำกันแบบนี้หรอก”