อปท. จัดซื้อวัคซีนโควิดได้หรือไม่ อนุพงษ์ แจงอีกครั้งในสภา

“อนุพงษ์ เผ่าจินดา” แจงปม อปท.จัดซื้อวัคซีนโควิดเอง ในที่ประชุมสภา เผย นายกฯ ให้ซื้อเองได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้แผนงาน ศบค.

วันที่ 2 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงประเด็นการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า สามารถกระทำได้ แต่ห่วงเรื่องความเหลื่อมล้ำ พร้อมขอให้รอข้อยุติจากทาง ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) อีกครั้ง ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด พลเอกอนุพงษ์ ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าว ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในวาระที่ 1 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท วันที่ 3 ระบุว่า ตั้งแต่มีปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 มา รัฐบาลได้ดำเนินการเรื่องนี้ โดยตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ในส่วนของท้องถิ่นก็ได้มีการเข้ามาทำงาน ทั้งการกักกัน สกัดกั้น และการรักษา เมื่อมาถึงเรื่องการจัดหาวัคซีน ที่อยากให้ อปท.เข้ามามีส่วนในการจัดหานั้น เมื่อพิจารณากฎหมายของ อปท. ก็เปิดให้สามารถจัดซื้อวัคซีนได้ แต่ก่อนหน้านี้ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แจ้งให้ทราบว่าการจัดหาวัคซีนในช่วงเริ่มแรกนี้ให้ภาครัฐเป็นฝ่ายดำเนินการ

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ถ้า อปท. เข้ามาจัดซื้อวัคซีนเอง ก็มีเรื่องที่ อปท.บางแห่งมีงบประมาณ และบางแห่งไม่มีงบประมาณ ซึ่งจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่า กระบวนการจะเป็นอย่างไร และซื้อยี่ห้ออะไร ปัญหาคือ หลักการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต้องฉีดครอบคลุม 70% ของประชาชนทั้งประเทศ ถ้าให้ อปท.ซื้อ ก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะบางแห่งซื้อได้เยอะ ก็ฉีดได้เยอะ บางแห่งซื้อได้น้อย ก็ฉีดได้น้อย ทำให้จะไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่ขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ เหมือนที่สาธารณสุขระบุไว้

แม้กฎหมาย อปท. จะให้ดำเนินการซื้อวัคซีนได้ แต่ต้องประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น ศบค. ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้ให้ ศบค.แจ้งไปที่ อปท. ว่าซื้อได้แต่ต้องอยู่ใต้แผนของ ศบค. ทำให้สุดท้ายก็ต้องซื้อผ่านรัฐอยู่ดี