งบฯกลาโหมมากกว่า สธ.-งบฯวัคซีนมีแค่ 22 ล้าน จริงหรือไม่? ทีมศบค. ตอบแล้ว

ทีมศบค.แจงข่าวงบวัคซีน 22 ล้าน

กรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ตั้งงบฯกระทรวงกลาโหมมากกว่ากระทรวงสาธารณสุข ทั้งยังให้งบวัคซีนแค่ 22 ล้านบาท เป็นเรื่องจริงหรือไม่? ทีมสื่อสาร ศบค. ตอบอย่างละเอียดแล้ว

วันที่ 3 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษา ศบค. โพสต์เฟซบุ๊กแจกแจงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท มีการตัดงบประมาณที่สำคัญหลายจุด แต่งบกระทรวงกลาโหมกลับเพิ่มขึ้น 

โดยเฉพาะงบฯกระทรวงสาธารณสุข ที่ลดลงมากถึง 4.3 พันล้านบาท คิดเป็นติดลบ 2.74% ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 12 ปี

เมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ผศ.ดร.วรัชญ์ เริ่มโพสต์เฟซบุ๊กอธิบายว่า งบฯของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ไม่ได้นับรวมงบของ 3 กองทุน ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ข้อความทั้งหมดมีดังนี้

ประเด็นงบฯกลาโหม มากกว่า งบสาธารณสุข? งบประมาณกระทรวงกลาโหม ปี 65 รวม 203,282 ล้านบาท งบประมาณด้านสาธารณสุข ปี 65 ถ้าดูเฉพาะงบฯของ 9 กรม ในกระทรวงสาธารณสุข จะอยู่ที่ 153,940.47 ล้านบาท

แต่ถ้ารวม งบประมาณของ 3 กองทุน ภายใต้สังกัด สธ. ก็คือกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน และกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย รวม จำนวน 141,741 ล้านบาท จะได้ยอดรวมที่ 295,681 ล้านบาท เผื่อจะลองพิจารณาดูครับ

ส่วนกรณีที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาฯพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้งบประมาณเพียง 22 ล้านบาท ทั้งที่ประเทศมีปัญหาเรื่องวัคซีนนั้น ผศ.ดร.วรัชญ์ยืนยันว่า งบฯ 22 ล้านบาท ไม่ใช่งบฯวัคซีน แต่เป็นงบประมาณของ “สถาบันวัคซีนแห่งชาติ” ซึ่งไม่เกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนแต่อย่างใด ข้อความทั้งหมดมีดังนี้

งบฯวัคซีน 65 แค่ 22 ล้าน? เห็นมีคนแชร์กัน ส่งมาถามผม ว่าทำไมงบฯวัคซีน ปี 65 มีแค่ 22 ล้าน ตัวเลขจริง ๆ กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่นะครับ แต่ไม่ใช่ “งบฯวัคซีน” แน่ ๆ เพราะแค่ปี 63-64 เฉพาะงบเกี่ยวกับวัคซีนของไทย ก็ปาเข้าไป 21,134 ล้านบาทแล้วครับ (ตามภาพ) ลองดูรายละเอียดงบประมาณเกี่ยวกับโควิดทั้งหมด ตั้งแต่ปี 63-64 นะครับ งบประมาณของไทย เกี่ยวกับกับการจัดการโควิด ในปี 63-64 ทั้งหมดรวม 87,862 ล้านบาท ประกอบด้วย

1) ค่าใช้จ่ายด้านวัคซีน 21,134 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

1.พัฒนาวัคซีนของไทย รวม 2,260 ล้านบาท

1.1 ChulaCov-19 พัฒนาวัคซีน mRNA รวม 365 ล้านบาท (ดังนั้นข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลไม่สนับสนุนโครงการนี้ จึงไม่จริง ซึ่งผมได้แก้ข่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว)

1.2 ศูนย์วิจัยไพรเมท เพื่อทดลองวัคซีนก่อนมนุษย์ 35 ล้านบาท

1.3 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 49 ล้านบาท

1.4 Bionet พัฒนาวัคซีน DNA 650 ล้านบาท

1.5 มจธ. พัฒนาโรงงานและห้องแล็บ 562 ล้านบาท

1.6 องค์การเภสัชกรรม พัฒนาการผลิตวัคซีนและการบรรจุ 239 ล้านบาท

1.7 บริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม พัฒนาวัคซีนจากพืช 160 ล้านบาท

1.8 สวทช. พัฒนาวัคซีน 200 ล้านบาท

2.ทำความร่วมมือวิจัยต่างประเทศ 600 ล้านบาท: Siam Bioscience พัฒนาโรงงานการผลิตที่รับเทคโนโลยีจาก AstraZeneca (ส่วนนี้จะได้คืนเป็นวัคซีน ทำให้ประหยัดงบประมาณไปได้อีก 600 ล้านบาทในอนาคต)

3.จัดหาวัคซีน 69.1 ล้านโดส รวม 18,274 ล้านบาท

3.1 Sinovac 8.1 ล้านโดส 5,059 ล้านบาท

3.2 AstraZeneca 61 ล้านโดส 11,665 ล้านบาท

3.3 ค่าฉีดวัคซีน 1,520 ล้านบาท

3.4 ค่ารักษาผลข้างเคียงวัคซีน 30 ล้านบาท

นอกจากนั้นยังมี

2) ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด 29,304 ล้านบาท

3) ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภาคสนาม และ อสม. 22,146 ล้านบาท

4) การเฝ้าระวัง ควบคุม ติดตามการระบาด ป้องกันและค้นหา เชิงรุก 6,483 ล้านบาท

5) การจัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ 1,824 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ ผศ.ดร.วรัชญ์ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ใครบอกงบฯวัคซีน 22 ล้าน? นี่คือสถานะการจัดหาวัคซีนของไทยภายในสิ้นปี 64 และต่อเนื่อง และปีหน้าน่าจะมีวัคซีนไทยออกมาให้เลือกอีกด้วยครับ ตั้งแต่ปี 63-64 ไทยใช้งบประมาณไปกับเฉพาะเรื่องวัคซีน มากกว่า 2 หมื่นล้านแล้วครับ (รวม 21,134 ลบ.) จริง ๆ ผมว่าสำคัญกว่า “ใครบอก” อาจจะเป็น “ใครเชื่อ” มากกว่า

ก่อนปิดท้ายว่า สรุปรวบยอดอีกทีนะครับ เรื่อง “งบวัคซีน” ที่แชร์กันว่าได้แค่ 22 ล้าน 22 ล้านที่ว่า คือ งบประมาณของ “สถาบันวัคซีนแห่งชาติ” ครับ ซึ่งเป็นงบฯ operation เช่น เงินเดือนบุคลากร งบฯวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ไม่เกี่ยวกับการ “จัดหาวัคซีน” แต่อย่างใด

ภาครัฐทุ่มงบประมาณเต็มที่ ในการจัดหาวัคซีนให้ประชาชนในประเทศไทย ตั้งเป้าไว้ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 64 และต่อเนื่องถึงปีต่อ ๆ ไป

โดยตั้งแต่ปี 63 ต่อเนื่องปี 64 ได้ใช้งบประมาณทั้งการจัดหาวัคซีนและการพัฒนาวัคซีนของไทย รวมถึงการปรับปรุงโรงงานการผลิต รวมแล้วมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากหลายแหล่ง ทั้งงบฯกลาง และเงินกู้

หลักการข้อหนึ่งของการจับ Fake News ของผม ไม่มีอะไรยาก นั่นคือ “อะไรที่ไม่ Make Sense มักจะไม่จริง” ครับ (จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของเรา ในการหาข้อมูลต่อ) แต่สุดท้ายมันกลับมาที่ตัวเราครับ ว่าก่อนเชื่อ ก่อนแชร์ เราได้ “คิด” มั้ย?