ถอดรหัส 61+4 เสียงภูมิใจไทย วัคซีนการเมืองที่ ประยุทธ์ ขาดไม่ได้

ลูกพรรคภูมิใจไทย ที่มี “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ชูสุดแขนโหวตผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการแบบไม่มีแตกแถว 100%

ไม่เว้นแม้กระทั่ง “งูเห่า” พรรคก้าวไกล 4 คน ที่ออกตัวตั้งแต่ครั้งอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยมีแย้มว่าพร้อมร่วมงานภูมิใจไทย ก็ยกมือสนับสนุนให้ร่างงบประมาณ 2565 ด้วยอีกแรง

คือ นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี และนายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

หากนับนิ้ว ส.ส.ภูมิใจไทย ทั้งที่เป็นทางการในสังกัดสมาชิก “ภูมิใจไทย” กับไม่เป็นทางการอีก 4 คน

วันนี้ พรรคภูมิใจไทย กลายเป็นพรรคอันดับ 2 ในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างแข็งแกร่ง ด้วยเสียง 61+4 เสียง

“ภูมิใจไทย” เติบโตขึ้นหลังการเลือกตั้ง 2562 วันนั้น มีเสียงในรัฐบาลเป็นลำดับ 3 อยู่ 51 เสียง แต่แล้วเกิดปรากฏการณ์พรรคอนาคตใหม่แตกในรอบแรก “ภูมิใจไทย” สอย ส.ส.เพิ่มได้ 1 คนคือ “ศรีนวล บุญลือ” ส.ส.เชียงใหม่

และผลพวงจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้มี ส.ส.อนาคตใหม่ ตัดสินใจสละเรือพร้อมกันทีเดียว 11 ชีวิต ไปอยู่ขั้วรัฐบาล

ในจำนวนนั้นเป็นพรรคภูมิใจไทย 9 คน ทำให้เสียงภูมิใจไทย ดีดจาก 52 เป็น 61 และรอบสุดท้ายจากผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2564 ก็คว้า “งูเห่า” ไม่เป็นทางการมาอีก 4 คน

เส้นทางพรรคภูมิใจไทย ในอดีตตั้งแต่ครั้งเป็น 23 ชีวิตของ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” แยกตัวจากพรรคพลังประชาชน มาจับมือกับ 8 ชีวิตของพรรคมัชฌิมาธิปไตย ของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” เปิดตัวพรรคภูมิใจไทย เมื่อ 14 มกราคม 2552 มีสมาชิกรวมกันในวันนั้น 31 เสียง ร่วมรัฐบาลประชาธิปัตย์

หลังการเลือกตั้ง 23 กรกฎาคม 2554 พรรคภูมิใจไทยได้เสียงพลาดเป้าจากที่ประกาศไว้ 70 เสียง แต่ได้ที่นั่งในสภาแค่ 29 ที่นั่ง เป็นพรรคฝ่ายค้านร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์

กระทั่งการเมืองเว้นวรรคจากการยึดอำนาจ 5 ปี และหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ภูมิใจไทยก็สถาปนาที่นั่งในสภา 51 เสียง ก่อนเป็น 52 เสียง 61+4 เสียงตามลำดับ

แหล่งข่าวระดับสูงภูมิใจไทย ยืนยันว่า 61 เสียงคือตัวเลขเป็นทางการในสภา แต่ 65 เสียง (รวมงูเห่า) คือตัวเลขที่เราสั่งซ้ายหัน ขวาหันได้

ดังนั้น แม้ระหว่างการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 บนความน้อยใจของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ถูกลูกพรรคร่วมรัฐบาล รุมถล่มในสภาผู้แทนราษฎร เรื่องจุดอ่อน จุดด้อย ในการจัดงบประมาณ 2565

ไฮไลต์เฉพาะ “ภูมิใจไทย” ของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ที่ลูกพรรคดาหน้าถล่มเป็นพิเศษ

เริ่มต้นที่ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” ส.ส.อุทัยธานี พูดถึง พล.อ.ประยุทธ์ว่า “นายกรัฐมนตรีไม่รักนายอนุทินเสียแล้ว จึงได้ตัดงบประมาณแบบนี้ ผมก็อยากจะบอกว่า หัวหน้าครับ ถ้าเขาไม่รักก็กลับบ้านเราเถอะครับ”

ปิดท้ายที่ “ศุภชัย ใจสมุทร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ แกนนำภูมิใจไทยว่าไม่ให้เกียรติ “นายอนุทิน”

“นายอนุทินคือลูกน้องนายกฯ ท่านใช้งานเขาเถอะ เขาพร้อมสนองท่านตลอดเวลา เวลาประชุมพรรค นายอนุทินพูดจายกย่องท่านนายกฯตลอด แต่ทำไมท่านไม่ใช้เขา วันนี้แนวทางการทำงานต่อไปด้วยกัน พวกเรายินดีสนับสนุนให้งานอันสำคัญของประเทศไปต่อ แต่การทำงานของรัฐบาลต้องปรับแนวคิดใหม่”

จน พล.อ.ประยุทธ์ต้องตอบว่า “ผมให้เกียรติรองนายกฯ ทุกคน ทุกท่านสามารถคุยกับผมได้ทุกโอกาส หลายครั้ง ทุกวัน ทุกเวลา วันละหลายเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19”

“โดยเฉพาะรองนายกรัฐมนตรีด้านสาธารณสุข (อนุทิน) เรียกว่า คุยกันบ่อยครั้งมาก เพื่อพิจารณาร่วมกัน ท่าน (อนุทิน) ก็เหมือนเป็นที่ปรึกษาของผมกลาย ๆ ให้เกียรติซึ่งกันและกันอยู่แล้ว ที่ผ่านมาไม่เห็นมีปัญหาอะไร”

แม้ว่าก่อนหน้านี้มีเรื่องระหองระแหง การเบรกโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ต่อเนื่องสายสีส้ม

ต่อเนื่องถึงการระบาดโควิดระลอก 3 พล.อ.ประยุทธ์รวบอำนาจ 31 เรื่อง มาบัญชาการเอง โดยที่ รมว.สาธารณสุขเป็นแค่ “พระรอง” ไม่ใช่พระเอก แต่กลับถูกล่ารายชื่อนับแสนให้ออกจากตำแหน่ง แล้วยังมีปมร้าวเรื่อง “ล้มแผน” วอล์กอินฉีดวัคซีนเพิ่มเติมอีก

ในจังหวะ “อนุทิน” และภูมิใจไทย กุมเสียงถึง 61+4 เสียง จึงมีความสำคัญยิ่ง ต่อรัฐนาวาลำนี้

กลายเป็นวัคซีนภูมิใจไทย ที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่อาจปฏิเสธการมีตัวตนและอำนาจการต่อรองได้

เพราะหากภูมิใจไทยเล่นบทถอนตัวร่วมรัฐบาล จะเหลือเสียงแค่ 210 เสียง น้อยกว่าฝ่ายค้านทันที ยามที่รัฐบาลยังต้องการเสียงในสภาเพื่อผ่านงบประมาณสำคัญ ในการแก้ปัญหาโควิด-19