ประธานศาลอุทธรณ์แถลงไขก๊อก หลัง ก.ต.ตั้งกก.สอบ”ปม”โอนย้ายสำนวน

นายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ (ภาพจากแฟ้ม)

ประธานศาลอุทธรณ์แถลงไขก๊อก หลัง ก.ต.ตั้งกก.สอบ “ปม” โอนย้ายสำนวน ระบุยอมกลืนเลือดกลืนเนื้อ อดทนถึงที่สุด

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 18 กรกฎาคม ที่ศาลอุทธรณ์ ถนนรัชดาภิเษก นายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ แถลงรอบเป็นรอบที่ 3 เปิดใจถึงการลาออก ภายหลังพลาดตำแหน่งประธานศาลฎีกา โดยอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) และ ก.ต.มีมติไม่ผ่านคุณสมบัติ รวมทั้งมีการเปิดตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา เทียบเท่าประธานศาลอุทธรณ์ ที่มีการกระแสข่าวว่านายศิริชัยจะถูกโยกไปดำรงตำแหน่งดังกล่าว ตลอดจนมีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณี อ.ก.ต.ไม่ผ่านคุณสมบัติด้วย

นายศิริชัยระบุว่าจะแถลงข่าวครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ยืนยันว่าได้ลาออกจากตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ ซึ่งประธานศาลฎีกาก็ได้ลงนามเรียบร้อยแล้ว โดยมีผลตั้งแต่เมื่อวานที่ผ่านมา (วันที่ 17 กรกฎาคม)

ส่วนสาเหตุที่ลาออกเนื่องจากเห็นว่าตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกาที่แต่งตั้งให้ตัวเองดำรงตำแหน่งนั้นน่าจะมิชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าอาจเกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง และตามการปฎิบัติตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่อาวุโสสูงสุดควรได้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา แต่หากไม่ได้รับตำแหน่งนี้ก็จะได้อยู่ตำแหน่งเดิมไม่เคยมีการโยกย้ายให้ไปอยู่ตำแหน่งที่สร้างขึ้นมาใหม่เหมือนกรณีนี้

ส่วนที่คณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ต.ก.) และคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตัวเองอีก นั่นจึงรู้สึกว่าได้ถอยจนไม่รู้จะถอยอย่างไรแล้ว รู้สึกเจ็บปวดมากไม่เคยคิดว่าที่ผ่านมาตัวเองที่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ให้ความยุติธรรมกับคนอื่นมาตลอดชีวิต แต่สุดท้ายกลับมาเป็นเช่นนี้ ก็จะยอมกลืนเลือดกลืนเนื้อตัวเอง และได้ยอมอดทนมาโดยตลอด จึงมีทางเดียวที่จะได้พักผ่อนนอนหลับอย่างสบาย เลิกนอนสะดุ้งเสียที คือการลาออกจากตำแหน่ง และยืนยันไม่เคยฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใด แต่ก็มีเพื่อนทั้งสองฝ่าย และเลือกที่จะไม่ติดต่อไปหาฝ่ายใดเลย

นายศิริชัย ระบุอีกว่าที่ผ่านมาตัวเองไม่เคยเห็นคำให้การของพยานจึงได้ขอความเมตตาไปที่ ก.ต. เพื่อต่อสู้แต่ตัวเองก็ไม่ได้รับโอกาสใดๆ เลย ส่วนคดีความที่ ก.ต.ได้นำมาพิจารณาว่ามีการโอนสำนวนมีจำนวน 3 สำนวนคดี ซึ่งเป็นคดียาเสพติด ที่ตรวจพบว่ามีความผิดปกติ นายศิริชัยยืนยันว่าการโอนสำนวนถูกต้องมีการลงลายลักษณ์อักษรถึงเหตุผลต่างๆ ชัดเจนว่ามีหลักฐานลงโทษจำเลยได้ และเมื่ออ่านคำพิพากษาให้จำเลยทั้ง 3 คดีฟัง จำเลยก็ได้ยอมรับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ฎีกาคดีจึงถึงที่สุด

 

ที่มา : มติชนออนไลน์