พลังประชารัฐ ประชุมใหญ่ พล.อ.ประวิตร คือ ผู้กำหนดเกม

การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 พรรคพลังประชารัฐ จงใจ-เจตนา “เขยิบวัน” ให้ตรงกับ “เวลาราชการ” จากวันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน 2564 เป็นวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 2564 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดขอนแก่น

“พล.อ.ประวิตร” เหยียบเมฆไร้ร่องรอย เดินทางไปตรวจราชการจังหวัดขอนแก่น แต่ไม่เข้าประชุมพรรค ปล่อยลูกพรรค หยั่งเสียงเลือก “เลขาธิการพรรคคนใหม่” เนื่องจากข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ เปิดทางหนี-ทางถอยให้ “พล.อ.ประวิตร” เวียนว่ายรอบวงโคจร

“ขั้วขัดแย้ง” ระหว่าง “ก๊วนสามมิตร” กับ “กลุ่ม 3 ช.” ที่มี “เก้าอี้เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ” เป็น “เดิมพัน”

ข้อบังคับข้อที่ 39 ระบุไว้ว่า ให้หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นประธานในที่ประชุมใหญ่ ถ้าหัวหน้าพรรคการเมืองไม่มาประชุมให้รองหัวหน้าพรรคการเมืองลำดับต้นทำหน้าที่แทน

1 ใน 10 “รองหัวหน้าพรรคการเมืองลำดับต้น” คนใดคนหนึ่ง จะเป็นผู้กำหนดทิศทางการประชุมใหญ่ในวันที่ 18 มิถุนายน 2564

คนที่ 1 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการพรรค
คนที่ 2 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รองหัวหน้าพรรค
คนที่ 3 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองหัวหน้าพรรค
คนที่ 4 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค (ลาออก)
คนที่ 5 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองหัวหน้าพรรค
คนที่ 6 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองหัวหน้าพรรค
คนที่ 7 นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค
คนที่ 8 นายสุชาติ ชมกลิ่น รองหัวหน้าพรรค
คนที่ 9 นายนิพนธ์ ศิริธร รองหัวหน้าพรรค
คนที่ 10 นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค

ข้อบังคับข้อที่ 39 เว้นช่องว่าง-ช่องไฟ ไว้ผ่านทางตันไว้อีกว่า แต่ถ้ารองหัวหน้าพรรคการเมืองไม่มาประชุมให้ที่ประชุมใหญ่เลือกกรรมการบริหารพรรคการเมืองคนใดคนหนึ่งเป็นประธาน และให้เลขาธิการพรรคการเมืองเป็นเลขานุการในที่ประชุม

“แต่ถ้าเลขาธิการพรรคการเมืองไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ก็ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการบริหารพรรคการเมืองคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่แทน”

แม้วาระการประชุมใหญ่ประจำปีอย่างน้อย “ปีละหนึ่งครั้ง” จะเป็น “วาระพิจารณา” งบการเงิน แต่ข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อที่ 40 ระบุว่า การดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ให้กระทำโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง

อะไรทำได้-อะไรทำไม่ได้ 7 ประการ

1.การแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองหรือนโยบายของพรรคการเมือง

2.การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคการเมือง

3.การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง และกรรมการบริหารอื่นของพรรค

4.การเลือกตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง

5.ให้ความเห็นชอบรายงานการเงิน และการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองที่ได้ดำเนินการไปในรอบปีที่ผ่านมา

6.กิจการที่เสนอโดยคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือหัวหน้าสาขาพรรคการเมือง

7.กิจการอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมาย หรือข้อบังคับพรรคการเมือง

การลงมติในที่ประชุมใหญ่ให้กระทำโดยเปิดเผย แต่การลงมติเลือกบุคคลตามข้อ 3 และข้อ 4 ให้ “ลงคะแนนลับ”

สำหรับกำหนดการประชุมใหญ่สามัญพรรคพลังประชารัฐประจำปี ครั้งที่ 1/2564 ในวันที่ 18 มิถุนายน 2564 เวลา 08.00 – 15.00 น. ณ ห้องประชุม Hall 2, 3 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น

เวลา 08.00 น. – 10.00 น. ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุม
เวลา 10.00 น. – 12.00 น. การประชุมใหญ่สามัญพรรคการเมือง (ตามระเบียบวาระที่แนบ)
เวลา 13.00 น. – 15.00 น. การประชุมใหญ่สามัญพรรคการเมือง (ต่อ)
เวลา 15.00 น. ปิดการประชุม

ความระทึกใจของกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรค-สมาชิกพรรคผู้ร่วมได้รับเชิญ 350 คน ของ “ไพ่ไฟ” บางใบที่ระบุให้ กก.บห.พรรคเขียน “ใบลาออก” ไว้ล่วงหน้า

และความพยายามของ “กลุ่มสามมิตร” ที่จะเป็น “แบ็กอัพ” ให้กับ “อนุชา” เป็นเลขาธิการพรรคต่อไป คือ การตัดสินใจเพียง 1 นาที ควักเงิน 310 ล้านบาทของ “นายทุนใหญ่” ในการคว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2020 เพื่อคืนความสุขให้คนไทย จะค้ำเก้าอี้เลขาธิการพรรค เพื่อ “สนองงาน” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ “ชนะใจ” พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคได้หรือไม่