ประยุทธ์สั่งลุยคลอดแพ็กเกจแก้หนี้ทั้งระบบ 1.38 ล้านล้านบัญชี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

พล.อ.ประยุทธ์มอบหมายให้สุพัฒนพงษ์ออกแพ็กเกจแก้หนี้ทั้งระบบ 1.38 ล้านล้านบัญชี ปลดล็อกเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผุดมาตรการอุ้มคนรุ่นใหม่-วัยเกษียณ ลดภาระหนี้ที่อยู่อาศัย-ค่าเดินทาง ชง ศบศ.ด่วนที่สุด

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หาทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อยให้กับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ 1.หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จำนวน 3.6 ล้านคน รวมถึงผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน 2.หนี้ครู/ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี 3.หนี้เช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ 27.7 ล้านบัญชี 4.หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี และ 5.ปัญหาหนี้สินอื่น ๆ ของประชาชน 51.2 ล้านบัญชี

รายงานข่าวระบุว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างเบ็ดเสร็จ ประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน 2.การกำกับดูแลเจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม และ 3.การปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน

โดยแบ่งออกเป็นมาตรการระยะสั้นและมาตรการระยะยาว มาตรการระยะสั้น เช่น ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินเพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชน เช่น หนี้ กยศ. หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หนี้สหกรณ์ ลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน ทั้งในส่วนสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อ PICO และ NANO สำหรับประชาชน ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของครูและข้าราชการ รวมถึงสหกรณ์ ปรับรูปแบบการชำระหนี้ รวมถึงปรับลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น
ยกระดับการกำกับดูแล เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คุ้มครองความเป็นธรรมให้ประชาชนที่เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ธปท. ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียน

กำกับดูแลไม่ให้การบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อของสถาบันการเงิน/สหกรณ์สร้างภาระแก่ผู้กู้จนเกินสมควร เพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยและ SMEs เช่น จัดให้มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) สำหรับ SMEs ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ การเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำและโรงรับจำนอง

มาตรการระยะยาว ได้มีการพูดถึงหลักการสำคัญ คือ ต้องทำให้เกิดสภาพแวดล้อมของการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย และมีการคุมยอดวงเงินกู้ที่เหมาะสม เช่น รัฐต้องเร่งส่งเสริมการแข่งขันให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง เพิ่มระบบให้ผู้ฝากเงินมาเป็นผู้ให้สินเชื่อโดยรับความเสี่ยงมากขึ้นผ่านระบบดิจิทัล การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่เพื่อกำกับดูแลสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อรายย่อยเป็นการเฉพาะ การจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน เพื่อชะลอการฟ้อง อำนวยความสะดวกให้การฟื้นฟูหนี้รายบุคคลที่มีเจ้าหนี้หลายราย

นอกจากนี้ จะมีการออกมาตรการช่วยเหลือเด็กรุ่นใหม่และคนเกษียณที่มีภาระหนี้สินเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย เรื่องที่อยู่อาศัย และค่าเดินทางระบบขนส่งมวลชนในราคาถูก

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการให้มาตรการที่ออกมาเพื่อลดภาระการชำระหนี้ เช่น มีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้นจากภาระหนี้ที่ดอกเบี้ยลดลงได้ 2-3% ต่อปี ลดปัญหาการสร้างหนี้เกินตัวลงได้ทันที เพิ่มโอกาสทางสังคมและลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรม และใช้การจัดการเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐมาแก้ไขปัญหารากแก้วโดยใช้งบประมาณรัฐน้อยที่สุด

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์เป็นผู้รับผิดชอบการศึกษาและดำเนินการออกมาตรการให้เร็วที่สุดและเสนอต่อศูนบ์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) อนุมัติต่อไป