ก้าวไกลหักเพื่อไทย ไม่ร่วมลงชื่อแก้ รธน.มาตรา 256 พุ่งเป้าปิดสวิตช์ ส.ว.

ก้าวไกลหักดิบเพื่อไทย ไม่ร่วมขบวนแก้ไขมาตรา 256 หวั่นติดกับดักหมวด 1 หมวด 2 ย้ำทำลายหัวใจสืบทอดอำนาจระบอบประยุทธ์ ด้วยการปิดสวิตช์ ส.ว.

วันที่ 15 มิถุนายน 2564 ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค ว่า ที่ประชุม ส.ส.พรรคก้าวไกลได้มีการพิจารณาประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีกครั้ง โดยมีมติดังนี้ 1.เห็นว่า หนทางที่ดีที่สุดในการออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญ คือยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมาจากการรัฐประหาร แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง

ประตูบานแรกที่นำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย คือ การจัดทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชน ผู้ทรงสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา

ดังนั้น พรรคก้าวไกลขอคัดค้าน หากประธานรัฐสภาเตะถ่วงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่ค้างอยู่ แล้วนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาก่อน ตามความต้องการของพรรคพลังประชารัฐ ทั้งที่ไม่มีเหตุความจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด ในการประชุมร่วมกันในปลายเดือนที่จะถึงนี้ ดังนั้น ประธานรัฐสภาควรบรรจุวาระตามปกติให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จก่อนวาระอื่น ๆ

2.เห็นว่าการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐในหลายมาตรานั้น มีความพยายามเบี่ยงเบนเป้าหมายการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกจากการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. และยุติกลไกการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร

และดำเนินการต่ออายุให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯคนต่อไปอีกครั้ง ผ่านการแก้ไขกติกาที่ตนเองได้เปรียบทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทุน ผ่านการเปิดช่องให้นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลเข้าไปเบียดบังงบประมาณ และแทรกแซงข้าราชการได้ง่ายขึ้น

3.การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลากหลายมาตรา ตามเกมของพรรคพลังประชารัฐ มีแต่จะทำให้เกิดความสับสน หรือแย่กว่านั้นไปตกแต่งให้รัฐธรรมนูญฉบับ คสช.ดูดีขึ้น และช่วยกันต่ออายุให้ระบอบประยุทธ์ ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราในปัจจุบัน ควรพุ่งเป้าให้ชัดไปยังปลดกลไกสำคัญในการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร

ที่ประชุมพรรคก้าวไกล จึงเสนอให้ปิดสวิตช์ ส.ว. ยกเลิกอำนาจในการเลือกนายกฯของ ส.ว. 250 คนที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. ซึ่งพรรคก้าวไกลจะลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นนี้ ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านและยื่นต่อประธานรัฐสภา ในวันที่ 16 มิถุนายน 2564

4.ที่ประชุม ส.ส.พรรคก้าวไกลมีมติไม่ร่วมลงชื่อกับร่างลงชื่อกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. เพราะเราไม่เห็นด้วยในการจำกัดอำนาจ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ห้ามแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ

พรรคก้าวไกลยืนยันมาโดยตลอดว่า การห้ามดังกล่าวเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ผิด จะส่งผลเสียต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว และเป็นการไม่เคารพต่ออำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน

“เราเสนอว่า ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชนมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทุกหมวด และ ส.ส.ร. ควรเป็นเวทีที่เปิดกว้างสำหรับทุกฝ่ายเคารพอำนาจของประชาชน เพื่อนำไปสู่ฉันทามติใหม่ของสังคมร่วมกัน” หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าว

นายพิธากล่าวว่า 5.สำหรับระบบการเลือกตั้งนั้น พรรคก้าวไกลเห็นว่า หากจะมีการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ต้องมีเป้าหมายในการสร้างระบบเลือกตั้งที่ดี ไม่ใช่มีเป้าหมายเพียงแค่แสวงหาการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้ประโยชน์มากที่สุด ระบบการเลือกตั้งที่ดีต้องทำให้เสียงทุกเสียงมีความหมาย สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนที่ดีที่สุด รวมถึงส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมือง สร้างประสิทธิภาพระบบรัฐสภากับรัฐบาล

ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ระบบที่ดี ขณะเดียวกันระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังมีข้อด้อยที่ต้องปรับปรุง พรรคเห็นว่าระบบการเลือกตั้งที่ดีควรเป็นระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม ที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กล่าวคือ เลือก ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง 1 ใบ และเลือกพรรคการเมือง 1 ใบ เพื่อนำคะแนนเลือกพรรคการเมืองมาคำนวณคะแนน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค เพื่อให้เสียงของประชาชนไม่ตกน้ำ

และได้สัดส่วน ส.ส.ของแต่ละพรรคตามเจตนารมณ์ของประชาชนมากที่สุด หมายถึงว่า เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการต่ออายุให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทุกเสียงต้องถูกนับ ย้ำว่า ทางออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน ไม่ใช่การเข้าร่วมตามเกมรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐซึ่งต้องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร และต่ออายุให้กับระบอบประยุทธ์

“แต่ต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการลงประชามติ เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 คู่ขนานไปกับการทำลายหัวใจการสืบทอดอำนาจด้วยการปิดสวิตช์ ส.ว.ก่อน การแก้ไขระบบเลือกตั้ง หรือประเด็นปลีกย่อยอื่น ๆ โดยไม่ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ย่อมเป็นการเดินเข้าสู่กับดักและขนมล่อทางการเมืองของระบอบประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายพิธากล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ออกมาคัดค้านระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นเพราะพรรคก้าวไกลเสียเปรียบหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ไม่จริง พรรคก้าวไกลพร้อมสู้ทุกระบบการเลือกตั้ง ส่วนจำนวนบัตรเลือกตั้ง เห็นด้วยกับบัตร 2 ใบ แต่ระบบบัตร 2 ใบ มีหลายระบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบรัฐธรรมนูญ 2540

เราต้องการระบบเลือกตั้งที่ตอบโจทย์ใกล้เคียงกับเจตจำนงของประชาชนมากที่สุด ไม่ใช่เป็นเสียงตกน้ำ พรรคใหญ่ก็ใหญ่ไปเลย พรรคเล็กก็เล็กไปเลย เราวิเคราะห์แล้วระบบเลือกตั้งที่ไม่ทำให้เสียงประชาชนตกน้ำ คือระบบจัดสรรปันส่วนผสม แบบ MMP ของเยอรมนี