ถอดรหัส 4 ก๊ก แก้รัฐธรรมนูญ ล้างบาง ส.ว. ล็อกโหวต “ประยุทธ์” สมัย 3

รายงานพิเศษ

เกมแก้รัฐธรรมนูญเตรียมออกสตาร์ตอีกรอบ ในการประชุมรัฐสภาสามัญฤดูกาลใหม่

หลังจากสมัยประชุมที่แล้ว เกมแก้รัฐธรรมนูญ ปิดฉากไปด้วยการ “ถูกคว่ำ” ไปอย่างไม่ไยดี

มาคราวนี้พรรคพลังประชารัฐ ปักหมุดแก้ไขรายมาตราแทน ส่วนพรรคฝ่ายรัฐบาลที่ “อกหัก” แก้ไขรัฐธรรมนูญในยกแรก อย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย

กอดคอเป็นพันธมิตรเตรียมเดินหน้ายื่นร่างแก้ไขใหม่ เช่นเดียวกับ 6 พรรคฝ่ายค้าน กระทั่ง วันนี้เกมแก้รัฐธรรมนูญ ถูกแบ่งเป็น 4 ก๊ก เตรียมเสนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

พปชร.ฉายเดี่ยว

ก๊กแรก คือ พรรคพลังประชารัฐ โดย “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคชงแก้ไขรายมาตรา แทนแก้ไขทั้งฉบับ แบ่งเป็น 13 มาตรา ใน 5 ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพ แก้ปัญหากระบวนการไพรมารี่โหวตของพรรคการเมือง

ประเด็นที่ 2 แก้ไขระบบการเลือกตั้ง ใจความหลักให้บัตรเลือกตั้งสองใบ มี ส.ส.แบ่งเขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ประเด็นที่ 3 แก้ไขเรื่องการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ มาตรา 144 ซึ่งเดิมมีปัญหากระทบต่อการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณ

ประเด็นที่ 4 แก้ไขอุปสรรคในการทำงานของ ส.ส.และ ส.ว. ให้สามารถติดต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้

ประเด็นที่ 5 อำนาจวุฒิสภา แก้ไขบทเฉพาะกาล มาตรา 270 ให้ ส.ส.ร่วมมีหน้าที่และมีอํานาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ จากเดิมที่ให้ ส.ว.ทำหน้าที่เพียงฝ่ายเดียว

ปชป.-ภท.-ชทพ.ผนึกกำลัง

ก๊กที่สอง พรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็น “เจ้าภาพ” ในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย

1.แก้ไขมาตราว่าด้วยสิทธิของประชาชน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม, สิทธิที่ดินทำกิน, สิทธิผู้บริโภค และสิทธิชุมชน เหมือนรัฐธรรมนูญ 2550

2.ระบบเลือกตั้ง ให้มี ส.ส.เขต 400 คน, ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เลือกตั้งโดยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

3.บุคคลที่จะเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีในสภา จะต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในบัญชีนายกรัฐมนตรีที่เสนอจากพรรคการเมือง หรือต้องเป็น ส.ส. เพราะถือว่าได้ผ่านการตรวจสอบ และผ่านการเลือกจากประชาชนมาแล้วส่วนหนึ่ง และแก้มาตรา 272 ไม่ให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี

4.แก้ไข มาตรา 256 ว่าด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ใช้เสียงรับหลักการ ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ และตัดส่วนของเสียง ส.ว.จำนวน 1 ใน 3 (84 เสียง) ออก

5.แก้ไขมาตรา 236 ที่ระบุว่าให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกรัฐสภา ยื่นเรื่องไปให้ประธานรัฐสภา หรือ ประธานสภาที่ตนเองสังกัดอยู่ โดยเปลี่ยนให้ยื่นต่อประธานรัฐสภาวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเห็นด้วยจะส่งดำเนินคดีต่อ ป.ป.ช.หรือไม่เท่านั้น

6.กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งตรงของประชาชน เพื่อคืนอำนาจให้กับท้องถิ่น

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า

“ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ไม่ใช่แก้แล้วถอยหลังเข้าคลอง ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่สนับสนุน”

ฝ่ายค้านชง 3 ประเด็น

ก๊กที่สาม ฝ่ายค้าน 6 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคพลังปวงชนไทย ตกผลึกอยู่ที่ 3 ประเด็น แยกกันยื่น-ร่วมกันตี ตามที่ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่หัวโต๊ะแถลงข่าวเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564

1.การแก้ไขมาตรา 272 ที่ตัดอำนาจ ส.ว.ในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตตินี้พร้อมกัน

2.แก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) พรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้ยื่น ไม่ปิดโอกาสที่จะให้พรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นมาร่วมเสนอ

3.ประเด็นอื่น ๆ เช่น สิทธิเสรีภาพของประชาชน ระบบการเลือกตั้ง และเรื่องอำนาจ ส.ว. รวมถึงการนิรโทษกรรม คสช.ที่ระบุไว้ในมาตรา 279

คณะก้าวหน้า ล้ม-โละ-เลิก-ล้าง

ก๊กที่สี่ กลุ่ม Resolution ที่ประกอบด้วย คณะก้าวหน้า iLaw และพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ซึ่งเปิดให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภาเป็นครั้งที่ 2 เน้น 4 ล้ม-โละ-เลิก-ล้าง

1.ล้ม ส.ว.-เดินหน้า “สภาเดี่ยว” ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเพื่อออกแบบที่มาและอำนาจของวุฒิสภา

2.โละศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ-ปฏิรูปที่มา อำนาจ การตรวจสอบ ให้ ส.ส.เป็นฝ่ายคัดเลือกและรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระ จากเดิมที่เคยเป็นอำนาจของ ส.ว.

3.เลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูป-ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศ

4.ล้างมรดกรัฐประหาร-หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย ด้วยการเพิ่มหมวดใหม่ในรัฐธรรมนูญ ชื่อว่า

“การลบล้างผลพวงรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 และการป้องกันและการต่อต้านรัฐประหาร”

พรรครัฐบาล-ฝ่ายค้านยังฝุ่นตลบ

อย่างไรก็ตาม หากกรองกระแสการเมืองเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ขณะนี้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคพลังประชารัฐ โดย “ไพบูลย์” ถูกฝ่ายค้านพรรคก้าวไกลโดย ชัยธวัช ตุลาธร เลขาธิการพรรค อ่านเกมว่า

เป้าหมายมีเพียง 2 เรื่อง 1.ทำอย่างไรก็ได้ ที่ไม่ให้เปิดช่องไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 60 แล้วให้ประชาชนมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

2.สร้างเงื่อนไขต่าง ๆ ให้นายกฯคนต่อไปยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยระบบเลือกตั้งที่คิดว่าตัวเองได้เปรียบด้วยอำนาจรัฐ และอิทธิพล

“นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน เพื่อไทย เป็นตัวแทนพรรควิเคราะห์ว่า ร่างแก้ไขของพรรคพลังประชารัฐ ไม่มีการทำไพรมารี่โหวตในระดับเขตเลือกตั้ง เพราะตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดของพลังประชารัฐ มีไม่ถึงกึ่งหนึ่ง หากไม่แก้จะมีปัญหาในการส่งผู้สมัคร ส.ส.

แต่ก๊กฝ่ายค้านเองก็มีความเห็นไม่เป็นขบวน เพราะ 2 พรรคใหญ่ฝ่ายค้าน เพื่อไทย-ก้าวไกล “มองต่างมุม”

เพื่อไทยต้องการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การมี ส.ส.ร. แต่ก้าวไกลต้องการให้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ผ่านรัฐสภา แล้วไปทำประชามติ ใช้ฉันทามติของประชาชนเพื่อให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วค่อยตั้ง ส.ส.ร.

“ก้าวไกลยังไม่เห็นด้วยที่จะไปยื่นแก้ไขมาตรา 256 เพราะจะงดเว้นหมวด 1 หมวด 2 อีก ซึ่งไม่มีประโยชน์ ไว้ทำประชามติถามประชาชนว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าประชาชนเห็นด้วยค่อยไปว่ากัน” ชัยธวัชระบุ

พรรคเพื่อไทย จึงเป็นผู้นำยื่นร่างแก้ไขมาตรา 256 แต่ไม่ใช่ฝ่ายค้าน

ส่วน 3 พรรคร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ลอยตัวขี่กระแสแก้รัฐธรรมนูญ เป็นอาวุธลับถอนตัวร่วมรัฐบาล

เมื่อถึงคราวรัฐบาลเบี้ยวแก้รัฐธรรมนูญ ในจังหวะที่คะแนนตกฮวบจากการบริหารวัคซีนโควิด-19 ผิดพลาด