ชอตต่อชอต ก้าวไกล หักเหลี่ยม เพื่อไทย ในเกมแก้รัฐธรรมนูญ

ยังไม่ทันจะเริ่ม ก็งัดข้อกันเองแล้ว ในศึกแก้รัฐธรรมนูญภาคสอง

เมื่อพรรคก้าวไกล โดย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงจุดยืนแก้รัฐธรรมนูญของพรรค

1 ใน 4 ข้อในถ้อยแถลงของก้าวไกล ตั้งใจกระทบชิ่งถึงพรรคเพื่อไทย คู่แข่งฝ่ายค้านว่า

“ที่ประชุม ส.ส. พรรคก้าวไกลมีมติไม่ร่วมลงชื่อกับร่างลงชื่อกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. เพราะเราไม่เห็นด้วยในการจำกัดอำนาจ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ห้ามแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ”

“พรรคก้าวไกลยืนยันมาโดยตลอดว่า การห้ามดังกล่าวเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ผิด จะส่งผลเสียต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว และเป็นการไม่เคารพต่ออำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน”

“เราเสนอว่า ส.ส.ร. ที่มาจากประชาชนมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทุกหมวด และ ส.ส.ร. ควรเป็นเวทีที่เปิดกว้างสำหรับทุกฝ่ายเคารพอำนาจของประชาชน เพื่อนำไปสู่ฉันทามติใหม่ของสังคมร่วมกัน”

นอกจากนี้ “ก้าวไกล” ยังตั้งใจพูดถึงระบบเลือกตั้ง ที่พรรคการเมืองใหญ่ ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านเพื่อไทย อยากย้อนกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบแบบรัฐธรรมนูญ 40 และ 50

“สำหรับระบบการเลือกตั้งนั้น พรรคก้าวไกลเห็นว่า หากจะมีการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ต้องมีเป้าหมายในการสร้างระบบเลือกตั้งที่ดี ไม่ใช่มีเป้าหมายเพียงแค่แสวงหาการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้ประโยชน์มากที่สุด ระบบการเลือกตั้งที่ดีต้องทำให้เสียงทุกเสียงมีความหมาย สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนที่ดีที่สุด รวมถึงส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมือง สร้างประสิทธิภาพระบบรัฐสภากับรัฐบาล”

“ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ระบบที่ดี ขณะเดียวกันระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังมีข้อด้อยที่ต้องปรับปรุง พรรคเห็นว่าระบบการเลือกตั้งที่ดีควรเป็นระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม ที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กล่าวคือ เลือก ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง 1 ใบ และเลือกพรรคการเมือง 1 ใบ เพื่อนำคะแนนเลือกพรรคการเมืองมาคำนวณคะแนน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค เพื่อให้เสียงของประชาชนไม่ตกน้ำ”

เกมนี้เล่นเอา พรรคเพื่อไทยกลายเป็นผู้ร้ายในพริบตา

แถมสิ้นสุดการแถลงข่าวของก้าวไกลที่รัฐสภา ไม่กี่อึดใจ กลุ่ม Re-solution นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ์ ตั้งโต๊ะแถลงขย่ม เน้น 4 ข้อ ล้ม-โละ-เลิก-ล้าง ระบอบประยุทธ์ จันทร์โอชา “ธนาธร” ฮาร์ดเซล เชิญชวนให้คนมาลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญคนละ 1 ชื่อ ประหนึ่ง ไม่ต้องง้อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของฝ่ายการเมือง

“ผมอยากจะเรียนเชิญ ประชาชนคนไทยที่รักความยุติธรรม ความเสมอภาค ที่รักสิทธิเสรีภาพ ที่รักประชาธิปไตยทุกคนช่วยสนับสนุนกลุ่ม Re-solution นี่คือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่มุ่งขจัดต้นตอของปัญหาในการสืบทอดอำนาจ”

ทันใดนั้น พรรคเพื่อไทยไม่อาจนิ่งเฉยได้ จัดแจงทำอินโฟกราฟฟิก เปรียบเทียบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ข้าง ทั้งของพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วมรัฐบาล (ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา) และ กลุ่ม Re-solution

จัดทำโดย น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย หรือ “หญิง” ที่ตั้งใจกระแทกกลับไปที่พรรคก้าวไกลโดยตรง ถึงสูตรบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ “พิธา” พยายามนำเสนอ

“พรรคก้าวไกล” ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบจัดสรรปันส่วนผสม คือบัตรเลือกปาร์ตี้ลิสต์ 1 ใบ และบัตรเลือก ส.ส.เขต 1 ใบ แต่การคำนวนคะแนน ใช้คะแนนจากบัตรที่กาปาร์ตี้ลิสต์ (พรรค) เพื่อกำหนดสัดส่วนของจำนวน ส.ส.พึงมีทั้งหมดของแต่ละพรรค บัตรอีกใบเลือก ส.ส.เขต เป็นการคำนวนแบบเยอรมนี (MMP) ที่ให้เหตุผลว่าคะแนนเสียงทุกเสียงจะไม่ตกน้ำ

ประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือกับระบบ (MMP) แบบนี้ เพราะการกำหนดสัดส่วน ส.ส.พึงมี ถูกกำหนดจากคะแนนพรรค และจำนวน ส.ส.เขตในพื้นที่ที่ชนะการเลือกตั้ง มาถึงจุดนี้หญิงจะเอาตัวเลขการเลือกตั้งปี’62 มาคำนวณให้เล่น ๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

ถ้าใช้สูตรคำนวณแบบพรรคก้าวไกลที่นำเสนอปี’64 ว่าพรรคไหนได้ประโยชน์สูงสุด โดยใช้คะแนนการเลือกตั้งปี’62 ตั้งฐาน แต่คำนวณตามข้อเสนอของพรรคก้าวไกลปี’64

พรรคอนาคตใหม่ได้ 6,300,000 คะแนน หรือ 17.8% ถ้าคำนวณด้วยสัดส่วน (MMP) จะมี ส.ส. พึงมี 89 คน
อนาคตใหม่ได้ ส.ส.เขต 26 ที่นั่ง เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 63 คน

พรรคเพื่อไทย 7,800,000 คะแนน หรือ 22.16% ถ้าคำนวณตามสัดส่วน (MMP) จะมี ส.ส.พึงมี 111 คน แต่พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขต 135 เขต ดังนั้น ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ คือ 0 คน

พรรคพลังประรัฐ 8,400,000 คะแนน หรือ 23.74% ถ้าคำนวณตามสัดส่วน (MMP) จะมี ส.ส.พึงมี 119 คน พลังประชารัฐชนะเขต 97 คน ดังนั้น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ได้ คือ 22 คน

“ระบบนี้เราจะเห็นได้ว่าคะแนนเสียงอาจมีคุณค่าจริง แต่ก็ละเลยและไม่ได้ยอมรับหลักการประชาธิปไตยที่ควรเป็น การเลือกตั้งในแบบเขต คือการสะท้อนความต้องการของคนในพื้นที่ การแพ้ชนะกันในการเลือกตั้งเขต คือการตัดสินใจของประชาชนในเขตเลือกตั้ง ๆ นั้น”

“การที่ทุกคนมีสิทธิเลือกและเลือกได้อย่างเท่าเทียม ผลที่เกิดขึ้นมาจากการตัดสินใจของประชาชน การนำเอาคะแนนพรรคมากำหนดสัดส่วน ส.ส. พึงมี คือเน้นพรรคแต่ขาดการยึดโยงกับประชาชน”

“กลับมาที่ระบบ บัตร 2 ใบ ปี’40 ประชาชนได้ประโยชน์ทั้ง 2 ทาง และมีโอกาสตัดสินใจได้ การคำนวIคะแนนก็แยกบัตรเพื่อกำหนดโควตาของ ส.ส. ในแต่ละส่วนทั้งปาร์ตี้ลิสต์และแบบเขต”

ในช่วงเย็นพรรคเพื่อไทยก็แก้เกม เข็น “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรค ออกมาอ่านแถลงการณ์ของพรรค เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกรอบ โดยจะมีการยื่นร่างแก้ไขต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในเที่ยงวันนี้

อีกด้านในช่วงเที่ยงของวัน “ภูมิธรรม เวชยชัย” ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เลขานุการ ผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร การทำการเมือง ผู้นำยุทธศาสตร์เพื่อไทย ในปัจจุบัน โพสต์ข้อความลอยๆ โดยไม่เอ่ยถึงพรรคใด คนใดว่า

“ที่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง ต้องยึดหลักการและอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างมั่นคง แต่ที่สำคัญ ต้องเข้าใจ วิธีการจัดการ ที่สอดรับกับความเป็นจริงและเคารพความเห็นต่างของทุกฝ่าย แสวงหาความร่วมมือกับทุกคน”

ลูกพรรคเพื่อไทย บางรายก็ออกอาการหงุดหงิด เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ตลอดทั้งวัน พรรคเพื่อไทยกว่าจะขยับตัวก็ช้า เพลี่ยงพล้ำทางการเมืองให้พรรคข้างบ้านไปแล้ว กว่าจะแก้เกมก็สาย

เกมแก้รัฐธรรมนูญ เพลี่ยงพล้ำให้พรรคคู่แข่งในฝ่ายค้าน แม้ ทักษิณ ชินวัตร ในร่างของ “โทนี่ วู้ดซัม” ก็ช่วยไม่ได้