ธุรกิจบันเทิง-อาชีพอิสระ ยื่น 8 ข้อเสนอ บิ๊กเล็ก ขีดเส้น 1 ก.ค. คลายล็อก

ปริญญ์-ปชป. นำตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิง-กลุ่มอาชีพอิสระ ยื่นหนังสือเรียกร้อง-8 ข้อเสนอ บิ๊กเล็ก อุ้ม-คลายล็อก ผับ-บาร์ ฟิตเนส คอนเสิร์ต-อีเวนต์ โอดปิดเหมาเข่ง 200 วัน ธุรกิจไปต่อไม่ไหว

วันที่ 16 มิถุนายน 2564 นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พร้อมด้วย นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และ น.ส.ชมพูนุท นาครทรรพ ประธานคณะทำงานด้าน LGBTQs ของ รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืน ธุรกิจบันเทิง และธุรกิจอิสระ

อาทิ ร้านอาหารกลางคืน ฟิตเนส ธุรกิจคอนเสิร์ต อีเวนต์ และร้านผับบาร์ เข้าพบ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล หลังได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 ทั้งสามระลอกนานกว่า 200 วัน หวั่นธุรกิจไปต่อไม่ไหว

นายปริญญ์กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว เราต้องพยายามช่วยกันบาลานซ์ระหว่างงานด้านสาธารณสุขและการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบไปพร้อมกัน ซึ่งที่ผ่านมาเราต่างได้เห็นกลุ่มอาชีพธุรกิจกลางคืน ธุรกิจบันเทิง และอาชีพอิสระ ได้รับความเดือดร้อนและออกมาเรียกร้องกันมาสักพักแล้ว เพราะมาตรการของภาครัฐที่อยากจะควบคุมวิกฤตโควิด-19 ได้ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจเหล่านี้เจ็บตัว

“ทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์จึงประสานพาตัวแทนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมาเข้าพบ ผอ.ศปก.ศบค. เพื่อแบ่งปันมุมมองและเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา และถ้าเป็นไปได้อยากเสนอแนะให้ ศบค. เปิดโอกาสให้ประชาชนหรือตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจประเภทต่าง ๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมก่อนออกมาตรการใหม่ทุกครั้งด้วย เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ และร่วมกันทำให้มาตรการของภาครัฐเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากขึ้น”

ขณะที่ นายนนทเดช บูรณะสิทธิพร เจ้าของร้าน The Rock Pub ตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืน ธุรกิจบันเทิงและธุรกิจอิสระ ได้เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ว่า

1.ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม โดยให้ปิดเฉพาะสถานบันเทิงที่พบผู้ติดเชื้อหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงเป็นเวลา 14 วัน เพื่อทำความสะอาดร้านตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรคและกระทรวงสาธารณสุข และให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้กักตัว

2.ขอให้มีคำสั่งปลดล็อกให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้กลับมาเปิดบริการ และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ภายใน 1 กรกฎาคม 2564 โดยให้ปฏิบัติตามคำสั่งของ ศบค. และกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด

3.ผ่อนปรนให้สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านได้ เพราะปัจจุบันยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่ยืนยันว่าแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อ

4.ผ่อนปรนให้มีการจัดมหรสพในพื้นที่ปิดได้ โดยต้องจัดเก้าอี้แบบ 2 เว้น 1 และรักษาระยะห่างตามความเหมาะสม

5.พิจารณาการจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจกลางคืน ธุรกิจบันเทิง และธุรกิจอิสระโดยเร็วที่สุด โดยให้มีสิทธิเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงไปพร้อมกับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว

6.พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา พักชำระหนี้ และการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ เพื่อรักษาสภาพคล่องทางธุรกิจและการจ้างพนักงานจากการปิดธุรกิจชั่วคราว โดยพิจารณาการงดเว้นเก็บภาษาบางประเภท เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีใบอนุญาตจำหน่ายสุรา ภาษีป้าย

7.เปิดช่องทางการสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการประชาชนที่เดือดร้อน เพื่อให้ทราบถึงมุมมอง ผลกระทบ ความยากลำบากของผู้ประกอบอาชีพในกลุ่มต่าง ๆ ก่อนที่ภาครัฐจะออกมาตรการต่าง ๆ

8.เสนอให้ ศบค. พูดคุยกับกระทรวงแรงงาน ให้ผ่อนปรนเรื่องการจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน กรณีที่นายจ้างต้องลดเงินเดือนพนักงานลงเป็นการชั่วคราว เพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ แทนการปลดพนักงานออก

ด้าน พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ศบค. ทราบดีถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ แต่มาตรการของภาครัฐที่ออกมา เกิดจากความเห็นชอบร่วมกันของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพราะการฟื้นฟูสถานการณ์ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ไม่ได้มีแค่ในแง่ของสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ศบค. พร้อมรับฟังปัญหาของทุกคน และหลังจากนี้จะพยายามหารือมาตรการช่วยเหลือ ให้ความเป็นธรรมที่ทำให้แต่ละฝ่ายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ทั้งนี้ นายปริญญ์จะนำกลุ่มธุรกิจบันเทิง/กลางคืน และอาชีพอิสระ เข้าพบ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข และยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาต่อไป