แก้รัฐธรรมนูญฉบับไพบูลย์-พปชร. นอนมา ลุ้นตีตกเกมปิดสวิตช์ ส.ว.

ไพบูลย์ นิติตะวัน

เกมแก้รัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องใหญ่ในกลางสัปดาห์

เพราะในวันที่ 22-24 มิถุนายน 2564 เป็น 3 วันที่รัฐสภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. จะถกแพ็กเกจกฎหมายสำคัญ คือแพ็กเกจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ล้อกระแสกับวาระครบรอบ 89 ปี 24 มิถุนายน 2475 วันที่เปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ตามปฏิทิน 22 มิถุนายน รัฐสภาจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ค้างการพิจารณาไว้เมื่อสมัยประชุมที่แล้ว ซึ่งจะมีผลต่อการแก้รัฐธรรมนูญในระยะต่อไปแน่นอน

เพราะก่อนที่จะจบการพิจารณาในสมัยประชุมที่แล้ว ฝ่ายค้านชนะโหวต ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ทำให้รัฐสภามีอำนาจเสนอประเด็นทำประชามติต่อคณะรัฐมนตรีได้ จากเดิมที่ให้อำนาจการตัดสินใจในการทำประชามติ เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี กำหนดแต่เพียงผู้เดียว

แน่นอนว่า พรรคฝ่ายค้านเตรียมชง คณะรัฐมนตรี ขอทำประชามติให้มี “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ซึ่งจะเป็นเกมการเมืองถัดจากนี้

จากนั้นวันที่ 23-24 มิถุนายน จะเป็นการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งจากฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน

วิป 3 ฝ่าย ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. แบ่งเวลาการอภิปรายระหว่างฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และวุฒิสภา ฝ่ายละ 6 ชั่วโมง รวม 18 ชั่วโมง

หากไม่มีอะไรผิดพลาด ตามกำหนดจะอภิปรายจบในเวลา 16.00 น. ของวันที่ 24 มิถุนายน หลังจากนั้นใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงลงมติรับ-ไม่รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยการ “ขานชื่อ” เป็นรายบุคคล

การแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้ เป็นการชงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภามากที่สุดในรอบทศวรรษ คือ 13 ฉบับ แบ่งเป็น

1.ร่างพรรคพลังประชารัฐ 1 ฉบับ คือ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 มาตรา 29 มาตรา 41 มาตรา 45 มาตรา 83 มาตรา 85 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 มาตรา 92 มาตรา 94 มาตรา 144 มาตรา 185 และมาตรา 270) นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กับคณะ เป็นผู้เสนอ

ร่างของพรรคฝ่ายค้าน 4 ฉบับ

เป็นฉบับที่ 2.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 25 มาตรา 29 มาตรา 29/1 มาตรา 34 มาตรา 45 มาตรา 47 มาตรา 49/1 และมาตรา 129) (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

3.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 มาตรา 85 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 มาตรา 92 และยกเลิกมาตรา 93 และมาตรา 94) (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

4.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272) (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

5.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 6 ยกเลิกมาตรา 65 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 142 มาตรา 162 และยกเลิกมาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 275 และมาตรา 279) (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล (พรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา) 7 ฉบับ

เป็นฉบับที่ 6.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 65) (นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

7.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 5 และมาตรา 55/1) (นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกับคณะ เป็นผู้เสนอ)

8.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 มาตรา 43 มาตรา 46 และมาตรา 72) (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

9.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256) (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

10.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 236 และมาตรา 237) (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

11.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272) (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

12.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 76/1 มาตรา 76/2 มาตรา 249 มาตรา 250 มาตรา 251 มาตรา 252 มาตรา 253 มาตรา 254 และเพิ่มมาตรา 250/1) (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

13. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

ไฮไลต์การพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อยู่ที่มาตราที่ปิดสวิตช์อำนาจ ส.ว. 2560 ที่ให้ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. ได้ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ที่รัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 159

ซึ่งเป็นมาตราที่ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค และพรรคฝ่ายค้าน (เพื่อไทย ก้าวไกล ประชาชาติ เพื่อชาติ พลังปวงชนไทย เสรีรวมไทย) ที่เห็นพ้องต้องกันในการปิดสวิตช์อำนาจ ส.ว. ต่างจากพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่มีประเด็นดังกล่าว

แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดคือ การโหวตในวาระแรก ต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ต้องมีเสียงอย่างน้อย 375 จาก 750 เสียงขึ้นไป โดยในจำนวนนี้ต้องมีเสียง ส.ว.เห็นด้วยอย่างน้อย 1 ใน 3 คือ 84 เสียง

ดังนั้น เมื่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล ตั้งเป้า “ปรับลด” อำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ย่อมมีเสียงแตกปลายในหมู่ ส.ว. ซึ่งมีทั้งเห็นด้วย-และไม่เห็นด้วยกับปมปิดสวิตช์ ส.ว.

ตัวแปร ส.ว. จะเป็นด่านใหญ่ของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรอบ 2 โดยมี ส.ว.บางรายออกมาขู่ว่า จะโหวตให้เฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เฉพาะร่างของพรรคพลังประชารัฐ

ขณะที่ระบบเลือกตั้งพรรคการเมืองใหญ่ทั้งฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล เห็นตรงกันว่าอยากหันกลับมาใช้ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 และ 2550 ที่ใช้บัตรเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ เลือกคนที่ใช่-พรรคที่ชอบ แต่ไม่นับคะแนนตกน้ำ

เว้นแต่พรรคก้าวไกล ในฝ่ายค้านที่ประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย และไม่ลงชื่อร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องระบบเลือกตั้งกับพรรคฝ่ายค้าน และเสนอสูตรเลือกตั้งบัตร 2 ใบ แต่นับคะแนนในแบบจัดสรรปันส่วนผสม เก็บคะแนนตกน้ำ

เกมแก้รัฐธรรมนูญยังฝุ่นตลบ ไม่ต่างจากการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่ปรับเปลี่ยนแกนขั้วอำนาจ

เปลี่ยนแกนกลางจากกลุ่มสามมิตร มาเป็น กลุ่ม 4 ช. ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เถลิงอำนาจขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคป้ายแดง

แต่ให้จับตาคนที่อยู่เหนียวแน่น คงกระพันในเก้าอี้รองหัวหน้าพรรค คือ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ตัวพ่อแท็กติกกฎหมาย

และยังเป็นคน “คุมเกม” แก้รัฐธรรมนูญในสภา

แม้วาระ 1 การโหวตรัฐธรรมนูญ ยังลุ้นจนนาทีสุดท้าย แต่ร่างแก้ไขฉบับพลังประชารัฐ ที่มี “ไพบูลย์” เป็นผู้เสนอ นอนมาเป็นร่างหลักแน่นอน…..