รัฐสภา ผ่าน พ.ร.บ. ประชามติ เปิดช่องประชาชน 5 หมื่นชื่อ ขอออกเสียงได้

รัฐสภา ผ่านฉลุย กฎหมายประชามติ 611 ต่อ 4 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เปิดช่อง รัฐสภา – ประชาชน ขอเสนอทำประชามติได้ 

วันที่ 22 มิถุนายน 2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ…. ในวาระที่ 2 ต่อเนื่องจากสมัยประชุมรัฐสภาครั้งที่แล้ว โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธาน 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่รัฐสภาถกเถียงอย่างกว้างขวาง คือ มาตรา 55 เรื่องบทกำหนดโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติ หน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้ ที่ใช้อำนาจมิชอบในการออกเสียงประชามติ มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 

ส.ส.ฝ่ายค้าน เช่น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาท ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตั้งข้อสังเกตว่า มุ่งลงโทษเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ในฐานะฝ่ายปฏิบัติ แต่ไม่มีบทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐในระดับสูงที่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นกลาง จึงควรขยายขอบเขตบทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐให้ครอบคลุมถึง ส.ส. ส.ว. และผู้บริหารท้องถิ่นด้วย แต่เสียงส่วนใหญ่ เห็นชอบมาตรา 55 ด้วยคะแนน 374 ต่อ 124 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน 10 ให้คงร่างเดิม

ต่อมา เข้าสู่การพิจารณามาตรา 60 เรื่องการกระทำใดที่เป็นความผิดในการออกเสียงประชามติ ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.)  วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้เพิ่มเติมข้อความขึ้นใหม่ว่า “เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะออกเสียงประชามติอันเป็นเท็จ”

ทำให้ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ใช้สิทธิขอแปรญัตติให้ตัดข้อความดังกล่าว เนื่องจากเป็นการเขียนไว้กว้างเกินไป เกรงว่าจะเป็นการใช้กฎหมายมาปิดปากประชาชน ทำให้การรณรงค์ประชามติอาจถูกปิดกั้น มีการให้ข้อมูลประชาชนแค่ฝ่ายเดียว ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มข้อความดังกล่าวขึ้นมา

เพราะสามารถใช้การเอาผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตรา 60 ด้วยคะแนน 479 ต่อ35 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน 6 คงตามร่างเดิม ที่กำหนดโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกินห้าปีด้วยก็ได้

กระทั่งเวลา 15.00 น. สมาชิกอภิปรายกันครบทั้ง 67 มาตรา ที่ประชุมจึงลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวาระ 3 ด้วยคะแนน 611 ต่อ 4 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 รอการบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยใช้เวลาอภิปรายทั้งหมด 3 ชั่วโมง 15 นาที 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากบทกำหนดโทษเรื่องห้ามเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะออกเสียงประชามติอันเป็นเท็จยังให้รัฐสภามีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียง และได้แจ้งเรื่องให้ ครม. ดำเนินการ รวมถึง ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 ชื่อเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียง โดยแก้ไขจากเดิมที่อำนาจเป็นการเสนอทำประชามติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น