ชวน ยัน ไม่บรรจุร่างแก้ไข ม.256 เพื่อไทย ยึดคำวินิจฉัยศาล รธน.ผูกพันทุกองค์กร

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา

ชวน ยึดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ร่างแก้ไขมาตรา 256 หมวด 15/1 เหมือนร่างเก่าที่ถูกศาลวินิจฉัยว่าเป็นการยกเลิกฉบับ 2560 หากบรรจุเท่ากับท้าทายศาล

วันที่ 23 มิถุนายน 2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาวาระร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำนวน 13 ฉบับ ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ นายชวนเปิดให้สมาชิกอภิปราย กรณีที่ไม่บรรจุวาระร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากขัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านพรรคเพื่อไทย อภิปรายตอนหนึ่งว่า การที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาบอกว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมเพราะมีหมวด 15/1 หากเรานึกภาพ ก่อนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ไปถามประชาชนก่อนด้วยการทำประชามติ ถ้าประชาชนเห็นด้วยจึงทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ศาลไม่ได้ก้าวล่วงว่า ขั้นตอนก่อนทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รัฐสภาต้องทำอย่างไร เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐสภา เราจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้เลยหากบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญรองรับไว้คือ 2560

เราต้องแยกช่องทาง การตีความว่าการมีหมวด 15/1 เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ เป็นการตีความเกินคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ และเป็นการปิดกั้นการแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิก ซึ่งเป็นการทำหน้าที่

ถ้าประธานบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ เป็นวาระรับหลักการ เหตุและผลที่จะอภิปราย แสดงความเห็น จะเป็นบันทึกแห่งสภาแห่งนี้เพื่อดำเนินการต่อ เมื่อถึงวาระพิจารณาหมวด 15/1 มั่นใจรัฐสภาแห่งนี้จะลงมติว่ายังไม่รับหลักการ เนื่องจากมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ร่างยังไม่ตกไป การที่รัฐสภามีมติอย่างนี้ เป็นสารตั้งต้นที่ดีอย่างยิ่ง ตัวร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจะเป็นหลักฐานหรือเหตุผลประกอบคำถามอย่างดียิ่งให้แต่ละสภามีมติว่าจะส่งให้คณะรัฐมนตรีมีความเห็นในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

นายพิจาร ก้าวไกล กล่าวว่า มีโครงการของภาคประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายใต้ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ การล่ารายชื่อ 4 หมื่นรายชื่อ เข้าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในไม่ช้า รู้สึกเสียดายที่เรามีการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ร่างที่จะเสนอโดยประชาชนไม่ได้ถูกบรรจุมาพิจารณาร่วมกัน

ฝ่ายรัฐบาลดูเหมือนเร่งรัดว่าแก้รัฐธรรมนูญไม่ทันยุบสภาจะเป็นปัญหา ดังนั้น หากว่า ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ ยื่นต่อประธานภายในระยะเวลาที่การพิจารณาในวันนี้ยังไม่จบวาระที่ 3 วิธีของร่างของประชาชนจะถูกพิจารณาอย่างไร

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า จากข้อหารือ ในประเด็นร่างรัฐธรรมนูญที่พรรคพลังประชารัฐ ยื่นมาตั้งแต่ 7 เมษายน ถูกกล่าวอ้างว่าไม่รอร่างของประชาชน แต่เรามีเวลาทิ้งทอดมาตั้งแต่เดือนเมษายน ถ้าจะมีการเตรียมการก็ต้องทำตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน ส่วนประเด็นที่ต้องรีบแก้ไขก่อนยุบสภา ไม่จริง เพราะเมื่อรู้ว่าไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ 256 ได้ โดยให้แก้ไขรายมาตราในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับประชามติ เราก็ทำต่อเลย

พรรคร่วมรัฐบาลยื่น 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ยังไม่มีปรากฏการณ์แก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีมากร่างอย่างนี้ เราไม่ได้เร่งรีบแต่อย่างใด เรามาจากจิตวิญญาณพี่น้องประชาชนเช่นเดียวกัน ประชาชนก็สะท้อนมาว่าผ่านไม่ผ่านเป็นกระบวนการของรัฐสภา ไม่ใช่ของคนหนึ่งคนใด

ด้านนายชวน ชี้แจงการไม่บรรจุวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย ว่า ตนสมมติฐานว่า สมาชิกส่วนใหญ่เชื่อมั่นแนวทางประชาธิปไตย ถ้าเรามีความเข้าใจให้ถูกต้อง เราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหนึ่งอำนาจอธิปไตย คือฝ่ายออกกฎหมายเราออกกฎหมายบังคับคนทั่วประเทศ ต้องเป็นแบบอย่างในการเคารพกฎหมาย เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยอยู่ได้ด้วยกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ถ้ากฎหมายไม่มีบังคับใช้ ประชาธิปไตยก็จะอ่อนแอ จึงสนับสนุนทุกฝ่ายให้เคารพกฎเกณฑ์ กติกา

ขอเล่าให้ฟังว่า มีการเสนอญัตติมีแนวปฏิบัติในการพิจารณาญัตติ โดยให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคือนายสุชาติ ตันเจริญ ทำหน้าที่กลั่นกรอง ซึ่งทำหน้าที่ได้ดี ตนไม่เคยตัดสินไม่เห็นชอบเวลาท่านเสนอมา นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่สภาดูแลญัตติ ไม่ต้องผ่านให้ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา ยกเว้นเรื่องใดที่เห็นว่าสำคัญ จึงให้ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐสภา พิจารณาอีกครั้งว่าจะวินิจฉัยอย่างไร

กรณีรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายค้านเสนอก็เช่นเดียวกัน เมื่อบรรจุไม่ได้ ก็ไปสู่ที่ปรึกษากฎหมายพิจารณาซึ่งมีมติว่าบรรจุไม่ได้ จึงเสนอถึงตนเป็นคนสุดท้าย ไม่มีประสงค์หาเรื่อง ที่จะไม่รับบรรจุ เพราะมีหมวด 15/1 คือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีมาตรา 256/1 / 2 ไปเรื่อยๆ ตนจึงไปดูว่าเหมือนกับร่างแก้ไขฉบับเดิมที่ตกไปหรือต่างกันอย่างไร

“ผมใช้ความรอบคอบมาก เพราะรู้ว่าผิดพลาดแล้วเสียหาย เมื่อดูแล้วพบว่าหลักการและเหตุผลเหมือนกัน สาระสำคัญเหมือนกัน ยกเว้นวันเวลาต่างกันเล็กน้อย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปแล้ว การที่มีหมวด 15/1 ย่อมเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และให้ไปทำประชามติก่อนว่า ประชาชนประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

เหตุผลดังกล่าว เราต้องยึดรัฐธรรมนูญที่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพัน รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล คนเหล่านี้ไม่ใช่ไม่รู้ จบกฎหมายมาและทำงานในรัฐสภาตลอดมา จึงมีความเห็นว่าไม่บรรจุ เพราะถ้าบรรจุก็เหมือนของเดิมที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย” นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวว่า ตนต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 ไม่ต้องการให้ ป.ป.ช. มาสอบตนเรื่องการทำหน้าที่ จึงตัดสินใจ ไม่บรรจุ แม้ไม่อยากให้ใครมาวิจารณ์ แต่ในฐานะประธาน มีหน้าที่ในการวินิจฉัยไม่อาจไปละเลยเรื่องนี้ช่างหัวเถอะ บรรจุวาระให้ทุกฝ่ายพอใจ มันไม่รับผิดชอบ ตนสำนึกต่อหน้าที่ที่ปฏิบัติ

“ผมผ่านประสบการณ์ พบเหตุการณ์ที่ประธานปฏิบัติต่อเราไม่ถูกต้องมาแล้ว ยืนยัน 2ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครมาสั่งประธานได้ นายกฯไม่เคยมายุ่ง ขอให้มั่นใจว่า การวินิจฉัยเป็นไปด้วยความสุจริต ยึดมั่นกฎหมาย ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ดังนั้น การวินิจฉัยเรื่องนี้ ยึดความถูกต้อง ตามกฎหมาย ถ้าผมท้าทายศาล เท่ากับผมไม่ยึดความผูกพันศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นเช่นนั้นผมทำผิดรัฐธรรมนูญแน่” นายชวน กล่าว

นายชวน ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนร่างภาคประชาชน ถ้าส่งมาเมื่อใด ก็จะพิจารณาและบรรจุให้ทันที ไม่มีลับลมคมใน ประชาธิปไตยปิดบังไม่ได้