“มีชัย” กางตำรารัฐธรรมนูญ เปิดช่อง คสช.หนุนพรรคทหาร

ข่าวการตั้งพรรค-สนับสนุนพรรคการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อไปต่อทางการเมือง กลบข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีไปในบัดดล

หลังจาก 6 คำถามที่ถามประชาชนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ถูกถอดรหัสออกมา หยั่งเชิงถามประชาชนนัยว่าขอ “อยู่ต่อ”

ทว่ามีข้อสังเกตจากฝ่ายตรงข้าม คสช.กับคำถามข้อ 2 ที่ระบุว่า “การที่ คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็ถือเป็นสิทธิของ คสช.ใช่หรือไม่” นั้น อาจเข้าข่าย “ครอบงำ ชี้นำทางการเมือง” อันขัด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 29 ที่ระบุว่า

“ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม”

ถ้าไม่ปฏิบัติตามนี้อาจมีโทษถึง “ยุบพรรค” แต่มือกฎหมาย คสช. หัวหน้าคณะร่างรัฐธรรมนูญ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ออกมาไขความกระจ่าง ว่าการสนับสนุนได้หรือไม่ว่า

“ขณะนี้นายกฯถามประชาชน ไม่ได้บอกว่าสนับสนุนใครว่าได้ไหม ความจริงทุกคนมีสิทธิจะสนับสนุนใครก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่ยุ่งกับการหาเสียง เพราะประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะชอบหรือไม่ชอบใครได้อยู่แล้ว คสช.เป็นคน ไม่ใช่องค์กร ถ้าจะมาถามผมว่าสนับสนุนใคร ในใจผมก็ต้องมี แต่จะพูดหรือไม่พูดก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าไม่มีพรรคให้เลือกก็จะกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน”

ส่วนการที่ คสช.ประกาศสนับสนุนพรรคหนึ่งพรรคใด จะถือเป็นการได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองหรือไม่นั้น

“ก็เวลาหัวหน้าพรรคแต่ละพรรค หรือสนับสนุนลูกพรรคเขา ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองเหมือนกันหรือ เวลาที่คนเป็นนายกฯ ก็ได้เปรียบเสียเปรียบเหมือนกัน เราจะต้องไม่ไปคิดในการที่จะทำให้สิทธิธรรมดาของคนต้องหายไป แต่จะทำอย่างไรได้มากน้อยแค่ไหน ก็เป็นเรื่องแต่ละคนพิจารณาดูเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย”

“มีชัย” ยกตัวอย่างนายกรัฐมนตรีที่เป็น “หัวหน้าพรรคการเมือง” ยังสนับสนุนพรรค-ลูกพรรคของตนเองได้ โยงยาวไปถึงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แม้อาจจะได้เปรียบทางการเมือง แต่ไม่ผิดกฎหมาย

“คนที่เป็นรัฐบาล ก็ต้องไปบอกประชาชนว่าเลือกพรรคผมสิ ผมจะไปทำต่อ ถามว่าคนที่เป็นฝ่ายค้านเสียเปรียบไหม ในเชิงการเมืองจะบอกว่าเสียเปรียบก็ได้ แต่จะทำยังไงได้ เว้นแต่ให้เป็นรัฐบาลหนเดียวก็เป็นอีกเรื่อง ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก็เหมือนกัน เวลาลงสมัยที่ 2 ก็ต้องลงไปหาเสียง แต่ถามว่าได้เปรียบไหม…ก็ได้เปรียบ เพราะนั่งเครื่องบินของประธานาธิบดีไป”

“ส่วนการครอบงำพรรคการเมืองนั้น ถ้าหากบอกว่าไปเลือกนั่นสิ เพราะพรรคนี้ทำตามคำสั่งผมอย่างนี้ถือว่าไม่ได้ แปลว่าไปครอบงำ แต่ถ้าบอกว่าพรรคนี้สิ เพราะพรรคนี้ดี อย่างนี้ก็ไม่มีปัญหา”

“บริจาคก็บริจาคได้ แต่ต้องไม่เกินที่กฎหมายกำหนด แต่ต้องประกาศชื่อให้ประชาชนทราบ”

ตามกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 65 ที่บัญญัติว่า ทุกเดือน ให้พรรคการเมืองประกาศรายชื่อผู้บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าตามที่ กกต.กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 5 พันบาท ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป พร้อมทั้งวัตถุประสงค์ของการบริจาค และให้แจ้งนายทะเบียนทราบตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ กกต.กำหนดด้วยการประเมินมูลค่าของสิ่งที่ได้รับบริจาคและมาตรา 66 บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมือง มีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละห้าล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว

มีชัยกล่าวว่า “เราไม่ได้เขียนกฎหมายเพื่อตัดสิทธิให้ทุกคนต้องงอมืองอเท้า พูดกันไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิของคน

ทุกคนที่จะสนับสนุนได้ แต่นายกฯยังไม่ได้บอกเลยว่าสนับสนุนใคร เพียงแต่ถามประชาชนว่า ถ้า คสช.จะสนับสนุนจะได้ไหม แต่ความจริงท่านอยากรู้ว่าประชาชนคิดอย่างไร”

แต่มีข้อแม้อย่างหนึ่งว่า ถ้าจะสนับสนุนพรรคการเมือง “คสช.ต้องไม่ใช้อำนาจรัฐในทางที่ไม่บังคับใคร”