กรณ์ ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึง “ประยุทธ์” 6 ข้อ รับมือวิกฤตโควิด

กรณ์ จาติกวณิช
นายกรณ์ จาติวณิช หัวหน้าพรรคกล้า

กรณ์ หัวหน้าพรรคกล้า ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ 6 ข้อ รับมือโควิด-19 แนะเปิดลงทะเบียนกลับภูมิลำเนา แก้วิกฤตเตียง แฉ สายด่วนไม่ฟรี-ไม่มีคนรับ

วันที่ 4 กรกฎาคม 2564 นายกรณ์ จาติวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับข้อเสนอการรับมือโควิด-19 ว่า การเข้าถึงเตียงรักษาพยาบาลในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตอนนี้วิกฤตอย่างมาก

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ กลุ่มกล้าอาสาหาเตียงของพรรคกล้า ได้รับคำขอความช่วยเหลือหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิดมากที่สุดตั้งแต่เริ่มรับอาสาตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา มีผู้รอเตียงนานนับหลายวันจนเสียชีวิต เพราะไม่ได้รับการรักษา

จากประสบการณ์ตรงของพวกเรา ขอเสนอประเด็นให้รัฐบาลพิจารณาปรับปรุง เพื่อการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ป่วยโควิด ให้ได้เข้ารับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้

1. ในเมื่อเตียงในพื้นที่กรุงเทพฯ เต็มแล้ว ต้องมี “ระบบการส่งต่อคนไข้เคสสีเหลืองไปโรงพยาบาลต่างจังหวัด” อย่างมีประสิทธิภาพ ตามกฏการส่งต่อต้องอาศัยการประสานโดยโรงพยาบาลต้นสังกัด แต่ผู้ป่วยหลายคนเข้าไม่ถึง รวมทั้งสาธารณสุขพื้นที่ก็ยังไม่มีนโยบายให้ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ตอนนี้เคสสีเหลืองคือต้นตอของปัญหาคอขวด เพราะไป Hospitel ก็ไม่ได้ แต่ก็ไม่วิกฤตถึงขั้นที่จะรับเข้าโรงพยาบาล จึงมีเคสสีเหลืองติดอยู่ที่บ้านจำนวนมาก และเป็นตัวการหลักในการแพร่เชื้อสู่ชุมชน การประสานและส่งต่อไปโรงพยาบาลในจังหวัดใกล้เคียงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องรีบพิจารณา เพราะคนไข้เคสเหลืองและเหลืองปนแดงเหล่านี้ มีโอกาสเปลี่ยนเป็นสีแดงอาการวิกฤตมากขึ้นจนเกิดความสูญเสียอีกมาก

2. “เพิ่มจำนวนบุคลากร” รับสาย 1330, 1668, 1669,1646 และไลน์ 1668.register, @sabaideebot เพื่อให้ผู้ป่วยหรือญาติสามารถลงทะเบียนข้อมูลจองเตียงได้สะดวกขึ้น เพราะสองวันนี้เวลาเฉลี่ยในการรอสายเกินกว่า 40 นาที และต้องเพิ่มข้อมูลให้บุคลากรรับสายสามารถช่วยผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที ต้องพัฒนาระบบติดตามผล ป้องกันการตกหล่น โดยรวมฐานข้อมูลของทุกเบอร์ Call Centerเข้าด้วยกัน

และควรมีเจ้าหน้าที่อีกชุดหนึ่ง ให้ข้อมูลการดูแลตัวเองที่บ้าน แนะนำการแยกตัวออกจากผู้อื่น และการรักษาอาการเบื้องต้น เพื่อให้ผู้ป่วยที่อาการน้อย สามารถบรรเทาอาการตัวเองที่บ้านได้และไม่กระจายเชื้อเพิ่ม การได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่และรับข้อมูลที่เชื่อถือได้ จะช่วยบรรเทาความกังวลของผู้ป่วยและญาติได้มาก

3.สายด่วนจำเป็นอย่างยิ่งต้อง “โทรฟรีทุกเบอร์” จากทุกเครือข่ายและจากทุกปลายทาง อาสาของเราในต่างจังหวัดที่ช่วยโทรประสานหาเตียง เจอประสบการณ์รอสายจนเงินในโทรศัพท์หมด อย่าให้การโทรลงทะเบียนหาเตียงเป็นภาระเรื่องเงินกับผู้ป่วยอีกเลย

4.ช่วงนี้ผู้ติดเชื้อและผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ทยอยเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาในต่างจังหวัด หวังจะได้รับการรักษามากขึ้นเรื่อย ๆ อัตราการแพร่ระบาดในต่างจังหวัดจะเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจะไม่มีทางทราบเลยว่าใครเดินทางไปที่ไหนบ้าง รัฐบาลควรต้อง :

  • เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนแจ้งความประสงค์กลับไปรักษายังภูมิลำเนา เพื่อจะได้มีข้อมูลผู้ติดเชื้อที่ชัดเจน สามารถส่งตัวได้อย่างปลอดภัย ไม่เกิดความเสี่ยงแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น แม้ปัจจุบันมีบางจังหวัดเริ่มเปิดลงทะเบียนในลักษณะนี้แล้ว แต่ก็เป็นเพียงแค่ส่วนน้อยเมื่อเทียบกับภาพรวมทั้งประเทศ
  • ต้องประกาศเป็นนโยบายระดับประเทศ เพื่อให้แต่ละจังหวัดปฏิบัติในรูปแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด
  • รัฐบาลต้องรีบจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานและโรงพยาบาลในจังหวัด เพราะทุกการส่งต่อผู้ป่วย มีภาระค่าใช้จ่ายที่สูง

5.รัฐบาลต้องดูแลการ “ฉีดวัคซีนและจัดอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมให้กับกลุ่มอาสา สมัคร กู้ภัย และมูลนิธิ” ที่ทำหน้าที่รับส่งผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา แทบไม่ได้พัก กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ รวมไปถึงหัวหน้าชุมชนที่คอยประสานงานรวมถึงดูแลคนป่วยในพื้นที่ สิ่งที่จำเป็นได้แก่ ชุด PPE Medical Grade ที่มีคุณสมบัติป้องกันการติดเชื้อได้, ถุงครอบรองเท้ายาว, แว่น Goggle, Face Shield, หน้ากากอนามัย Medical Grade รัฐควรจัดหาเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วให้กับทุกชุมชน เพื่อติดตามอาการและส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยแม่นยำมากขึ้น

6.การดูแลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ได้รับผลติดเชื้อ เนื่องจากศักยภาพการรักษาในโรงพยาบาลจำกัดมาก รัฐบาลควรสร้างระบบติดตามอาการ ลงทะเบียนพิกัดจัดส่งอาหาร น้ำ และอุปกรณ์จำเป็นในการดูแลตัวเอง รวมถึงยาต้านไวรัสให้ผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน โดยแยกเป็น

  • เคสสีเขียวอาการไม่หนัก ไม่มีโรคประจำตัว เมื่อรู้ผลควรได้รับหน้ากาก N-95 สำหรับผู้ป่วยและคนในบ้าน แอลกอฮอล์/น้ำยาทำความสะอาดสำหรับฉีดพ่นพื้นที่สัมผัสร่วมในบ้านเรือน
  • เคสสีเหลือง กรณีผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูงมีโรคประจำตัวหรือเริ่มมีอาการระบบทางเดินหายใจมากขึ้น ควรมีที่วัดออกซิเจนปลายนิ้วให้ผู้ป่วยด้วย ซึ่งสามารถส่งคืนกลับมาใช้ในระบบเมื่อหายดีแล้ว

หากข้อเสนอของเราจะเป็นประโยชน์ในทางใดก็ตาม ผมและทีมงานกล้าอาสาทุกคน ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี นำข้อเสนอเหล่านี้ ซึ่งเป็นข้อเสนอโดยตรงจากการลงมือทำหน้างานไปปรับใช้โดยด่วน

พวกเราจากพรรคกล้าพยายามทุกทางในการบรรเทาความเดือนร้อนของผู้คนเท่าที่เราจะทำได้ในกำลังที่เรามี และจะทำหน้าที่ของเราเพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤตฉุกเฉินต่อไป