5 จุดพลาด “บิ๊กตู่” รับมือโควิด-19 ล้มเหลว

คณะวิจัยแห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2 และครบรอบ 2 ปี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 โดยเฉพาะฝีมือการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระบาดระลอกสอง (ธันวาคม 2563) และการระบาดระลอกสาม (เมษายน 2564)

1.การควบคุมการระบาด “ระลอกสอง” สาเหตุเกิดจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ตลาดแพกุ้ง จังหวัดสมุทรสาครแสดงถึงความย่อหย่อนในการป้องกันแรงงานต่างด้าวลักลอบข้ามพรมแดนเข้ามาและระบาดกระจายตัวต่อไปยังแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ การระบาด “ระลอกสาม” ใน กทม. สาเหตุเกิดจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ-เอกมัย

ส่งผลให้ประเทศไทยมียอดจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 จนถึงเดือนมีนาคม 2564 ประมาณ 2.8 หมื่นคน หลังจากนั้นภายในช่วงเวลาประมาณ 3 เดือน ยอดผู้ติดเชื้อสะสมนี้เพิ่มขึ้น 10 เท่า เป็น 3.17 แสนคน ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2564

ตัวเลขนี้คาดว่าจะสูงขึ้นตามแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นในระดับเกือบ 1 หมื่นคนต่อวัน (การระบาดระลอกสี่) ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19

การระบาด 4 ระลอก เกิดการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 94 คน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 จนสูงกว่า 2.5 พันคน ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2564

2.การบริหารจัดการวัคซีน จนถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2564 ไทยดำเนินการฉีดวัคซีนอย่างช้า ๆ คล้ายกับฟิลิปปินส์ โดยมีการฉีดวัคซีนสะสมรวมทุกเข็มประมาณร้อยละ 6 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่มาเลเซียและอินโดนีเซียมีอัตราการฉีดวัคซีนสะสมที่ร้อยละ 11 และ 10 ตามลำดับ

ภายหลังจากวันที่ 6 มิถุนายนเป็นต้นมา ไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนสะสมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเพิ่มเป็นร้อยละ 17.6 ในวันที่ 8 กรกฎาคม ใกล้เคียงกับอินโดนีเซีย แล้วอัตราการฉีดวัคซีนสะสมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประเทศไทยเกิดขึ้นได้จากการเร่งฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนในระดับเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ (รวมวันหยุด) ประมาณวันละ 2.4 แสนเข็ม

อย่างไรก็ตาม ความเร็วในการฉีดวัคซีนดังกล่าวยังไม่สามารถทำให้การเปิดประเทศในเวลา 120 วันตามที่ผู้นำรัฐบาลประกาศไว้เป็นไปได้ เพราะภายในระยะเวลาดังกล่าว ระดับการฉีดวัคซีนน่าจะยังไม่ถึงระดับที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity)

ขณะที่การจัดหาวัคซีน รัฐบาลมีแผนที่จะจัดหาวัคซีนรวม 200 ล้านโดส ภายในปี 2565 แต่จนถึงช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 รัฐบาลไทยได้จัดหาวัคซีนมาได้แล้วทั้งสิ้น 80.5 ล้านโดส

“สำนักวิจัยทีดีอาร์ไอ” ชี้ความผิดพลาดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในการจัดหาวัคซีน 5 ประการ เช่น ประการแรก รัฐบาลมีความเชื่อมั่นที่สูงเกินไปว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ตลอดไป ทำให้ล่าช้าในการจัดหาวัคซีนและจัดหามาในปริมาณที่น้อยเกินไป ประการที่สอง รัฐบาลมีแนวทางจัดหาวัคซีนตามแนวคิดทางสาธารณสุขเป็นหลัก

ประการที่สาม การบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาด โดยการพึ่งพาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศในสัดส่วนที่สูงมาก และการเลือกวัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนเสริมโดยไม่หาทางเลือกอื่นตั้งแต่ต้น รวมทั้งไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ประการที่สี่ วัคซีนเสริมที่รัฐบาลเลือกใช้คือวัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิผลไม่สูงในการสร้างภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ

ประการที่ 5 การกระจายวัคซีน ปัญหาสำคัญในการกระจายวัคซีนก็คือ การขาดความเป็นเอกภาพ โดยพรรคร่วมรัฐบาลได้แย่งบทบาทกันในการกระจายวัคซีน ทำให้เกิดหลายช่องทางในการลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีน นอกจากนี้ยังมีการลัดคิวในการฉีดวัคซีนมากมาย โดยใช้เงินบริจาคหรือสายสัมพันธ์กับผู้บริหารโรงพยาบาลที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน

“สุรชาติ บำรุงสุข” นักวิชาการรัฐศาสตร์ ด้านความมั่นคง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยวิเคราะห์ไว้ว่า วิกฤต 9 เรื่องที่จะทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ “อยู่ไม่ได้”

เรื่องที่ 1 วิกฤตการบริหารจัดการวัคซีน เรื่องที่ 2 วิกฤตเศรษฐกิจ เรื่องที่ 3 วิกฤตคนจน เรื่องที่ 4 วิกฤตความไม่เป็นเอกภาพในพรรคร่วมรัฐบาล เรื่องที่ 5 วิกฤตศรัทธา

เรื่องที่ 6 วิกฤตการเดินขบวนประท้วงบนท้องถนน เรื่องที่ 7 วิกฤตองค์กรอิสระ-กระบวนการยุติธรรม เรื่องที่ 8 วิกฤตคนรุ่นใหม่ เรื่องที่ 9 วิกฤตการประท้วงรัฐบาลเมียนมา

ก่อนจะทิ้งปริศนาที่มีคำถามอยู่ในตัวว่า “อยู่ได้” เพราะ “มีพลังพิเศษ” และกลไกรัฐธรรมนูญเอื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ภายใต้การตัดสินขององค์กรอิสระที่ตัดสิน “เป็นคุณ” กับรัฐบาล