จับตา ครม.เคาะแจกเงินเยียวยาแรงงาน ม. 33-39 เพิ่ม 3 จังหวัด หัวละ 2,500 บาท

จับตา ครม. ประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะ เคาะเงินเยียวยา ม.33-ม.39-ม.40 เพิ่มเติม 3 จังหวัด ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา-อยุธยา แจกเงินผู้ปกครอง 2 พันบาทต่อหัวนักเรียน 

วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมผ่านระบบ Video Conference ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล มีวาระการขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด โดยเพิ่มเติมจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครอบคลุมถึงกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบ 9 กิจการ ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จำนวน 1 เดือน 

กรณีลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีสัญชาติไทย จะได้รับการเยียวยา เป็นเงิน 2,500 บาท โอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชน 

กรณีลูกจ้างมาตรา 33 ได้รับผลกระทบ เนื่องจากบริษัทของนายจ้างได้รับผลกระทบจากคำสั่งรัฐบาลนายจ้างต้องขึ้นทะเบียน e-service เพื่อแจ้งว่าไม่สามารถจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามมาตรา 33 โดยระบุให้ชัดเจนว่าลูกจ้างมีกี่คน และหยุดงานตั้งแต่วันที่อะไรถึงวันที่อะไร ส่วนลูกจ้างมีหน้าที่กรอกแบบ สปส.2-01/7 และแนบสมุดปัญชีออมทรัพย์ ส่งให้นายจ้างรวบรวมเพื่อนำส่ง สำนักงานประกันสังคม ภายใน 3 วันหลังจากที่ยายจ้างลงทะเบียน e-service แล้ว เพื่อจะได้รับเงินโดยเร็วซึ่งเงินกองทุนประกันสังคมจะจ่าย 50% (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) กรณีว่างงานสูงสุด 90 วัน ทั้งคนไทยและต่างชาติที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 รวมแล้วลูกจ้างมาตรา 33 สัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือสูงสุด 10,000 บาท 

สำหรับ 9 กิจการที่ลูกจ้างมาตรา 33 จะได้รับการช่วยเหลือ ได้แก่ 9 กิจการที่ได้รับสิทธิเงินเยียวยา

1.กิจการก่อสร้าง

2.กิจการที่พักแรงบริการด้านอาหาร

3.กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ

4.กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ

5.สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า

6.สาขาขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์

7.สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน

8.สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชกาการ

9.สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร

สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 ซึ่งเป็นกลุ่มฟรีแลนซ์และอาชีพอิสระ รัฐบาลจะเยียวยา 5,000 บาทต่อคน โดยผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 และ 40 ก่อนวันที่ 28 มิ.ย. 2564 ให้รีบสมัครภายในวันที่ 30 ก.ค. 2564

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานกล่าวว่า สำหรับ 3 จังหวัดที่ได้รับการเยียวยาเพิ่มเติม ผู้ประกันตน ม.33 แบ่งออกเป็นลูกจ้าง 272,000 คน นายจ้าง 19,000 กว่าราย ใช้งบเงินกู้ 1,500 ล้านบาท

ส่วนผู้ประกันตน ม.39 ในจังหวัดชลบุรี มี 9.1 หมื่นราย ฉะเชิงเทรา 2.3 หมื่นราย อยุธยา 3.4 หมื่นราย ใช้งบประมาณจากวงเงินกู้ รายละ 5,000 บาท

ผู้ประกันตน ม.40 ในจังหวัดชลบุรี 6.6 หมื่นราย ฉะเชิงเทรา 3.5 หมื่นราย อยุธยา 3.6 หมื่นราย ใช้งบประมาณจากวงเงินกู้ รายละ 5,000 บาท

นอกจากนี้ยังต้องจับตา น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการจะเสนอมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา เนื่องจากสถานการณ์โควิด 4 มาตรการ

มาตรการที่ 1

การให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา โดยเป็นการ ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา ในวัยเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งสายสามัญศึกษาและสายอาชีพ ในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน รวมประมาณ 10.8 ล้านคน ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน รวมเป็นเงินประมาณ 21,600 ล้านบาท โดยใช้ฐานข้อมูลเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งเงินนี้เป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายในการเรียนที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 ใช้วิธีการจ่ายเงินตรงให้ผู้ปกครองนำไปใช้ตามความจำเป็น เช่น ค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าบำรุงการศึกษา ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าไฟฟ้า เป็นต้น

มาตรการที่ 2

เป็นการขอความร่วมมือจากโรงเรียนเอกชนให้ลด หรือ ตรึงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจาก ผู้ปกครอง ในโรงเรียนเอกชนกลุ่มที่ไม่รับการอุดหนุนจากรัฐ และกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ ให้เท่ากับปีการศึกษา 2563 เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในโรงเรียนเอกชน ทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อพิจารณาสั่งการเป็นรายกรณี

ทั้งนี้ ศธ.ได้ออกประกาศแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ปีการศึกษา 2564 ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาในสังกัด หรือ ในกำกับของ ศธ. ถือปฏิบัติไปแล้ว นั้น จนถึงขณะนี้มีโรงเรียนเอกชนในสังกัด สช.คืนเงินค่าธรรมเนียม การเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นแก่ผู้ปกครองแล้วกว่า 2,275 ล้านบาทเศษ บางแห่งให้ผู้ปกครองผ่อนชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น โดยมีระยะปลอดดอกเบี้ยตลอดปีการศึกษา และบางโรงเรียนสนับสนุนค่าอินเทอร์เน็ตแก่นักเรียน อย่างน้อย 1 เดือน ขณะเดียวกันในส่วนสถานศึกษาของรัฐ ก็ได้มีการคืนเงินค่าบำรุงการศึกษาบางส่วน และ คืนเงินค่ากิจกรรมที่ไม่ได้จัดให้นักเรียนแก่ผู้ปกครองไปแล้วเช่นกัน

มาตรการที่ 3

เป็นการลดช่องว่างการเรียนรู้ (Learning Gaps) และลดผลกระทบด้านความรู้ ที่ขาดหายไป (Learning Loss) โดยให้สถานศึกษาสามารถถัวจ่ายเงินที่ได้รับจัดสรรตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ใน 5 รายการ ได้แก่ ค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อใช้จัดการเรียนรู้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดใน ปีการศึกษา 2564 ได้ และจัดสรรค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้สถานศึกษาอีกส่วนหนึ่ง เพื่อใช้จัดการเรียนรู้และแก้ ปัญหาความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของสถานศึกษา และจัดทําสื่ออุปกรณ์การเรียนรู้หลากหลายที่เหมาะสมกับวัย ลดการเรียนรู้จากสื่อออนไลน์โดยเฉพาะกลุ่มผู้เรียน อนุบาล-ป.3 ขณะเดียวกัน ศธ.จะจัดเช่าอุปกรณ์ (Devices) พร้อมสัญญาน จํานวน 200,000 ชุด สําหรับให้นักเรียน/นักศึกษา กลุ่ม ป.4 – ม.6 และ อาชีวศึกษา ใช้ยืมเรียน รองรับการเรียนแบบออนไลน์

มาตรการที่ 4

เป็นการช่วยเหลือผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างงาน โดยจะมีการจัดฝึกอบรมด้านอาชีพสําหรับผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นการอบรมฟรีรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน พร้อมทั้งประสานเชื่อมโยงกับแหล่งทุนเพื่อจัดหาทุนเริ่มต้นประกอบอาชีพ

นอกจากนี้ยังมีมาตาการครอบคลุมสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน โดยสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐ จะมีการลดค่าเล่าเรียน และค่าธรรมเนียมการศึกษา โดยกำหนดเป็น 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 ส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา ร้อยละ 50 ขั้นที่ 2 ตั้งแต่ 50,001-100,000 บาท ลดร้อยละ 30 และขั้นที่ 3 ตั้งแต่ 100,001 บาทขึ้นไป ลดร้อยละ 10 โดยรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณสำหรับส่วนลดนี้ ร้อยละ 60 และสถาบันอุดมศึกษาสมทบ ร้อยละ 40 ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน รัฐบาลจะสนับสนุนลดค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา คนละ 5,000 บาท