อ.นิติจุฬาฯชี้ เนื้อหาก่อความหวาดกลัว ไม่มีมาตรวัดชัดเจน

อ.นิติ จุฬา ปม ควบคุมสื่อ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Ponson Liengboonlertchai

อ.นิติจุฬาฯเผย มาตรการควบคุมสื่อ จำกัดเสรีภาพมากเกินเหตุ เตือน กสทช. -เจ้าหน้าที่รัฐ หากดำเนินการต้องรับผิดตามกฎหมายด้วย ย้อนถาม กรณีรัฐแจ้งยอดผู้เสียชีวิตรายวันทำให้ประชาชนหวาดกลัวหรือไม่ ?

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 กรณี เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) โดยเนื้อหาระบุว่า ผู้ใดเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดสับสน ปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง จนเกิดความเสียหายร้ายแรงมากขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฯลฯ

จึงมีมาตรการ 2 ข้อ ข้อแรกห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ข้อสอง กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารตามข้อ 1 ในอินเทอร์เน็ต ให้ กสทช. แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมทุกรายทราบ และให้ผู้รับใบอนุญาตังกล่าวทุกราย มีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวมาจากเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ใด

ต่อมา ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Ponson Liengboonlertchai ว่า เรื่องข้อกำหนดฉบับที่ 29 นี้ ที่กำหนดว่า หากสื่อมีการนำเสนอ “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” นั้น ผมเห็นว่าเป็นข้อกำหนดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (Unconstitutional) อย่างชัดเจน

เพราะการให้ดุลพินิจแก่รัฐเป็นผู้ชี้ว่าเนื้อหาใดเป็นเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัว ฯลฯ นั้น ไม่มีมาตรวัดที่ชัดเจนแน่นอน จนอาจนำไปสู่การใช้อำนาจตามอำเภอใจ “กำหนดเนื้อหาการใช้เสรีภาพของสื่อ” (Content based restriction) ได้ จึงย่อมเป็นการจำกัดเสรีภาพสื่อมากเกินสมควรแก่เหตุตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองไว้แล้ว

ดังนั้น หากทาง กสทช. รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐใดดำเนินการตามข้อกำหนดดังกล่าว จึงย่อมต้องรับผิดตามกฎหมายด้วยครับ

อนึ่ง ผมขอถามว่า กรณีการแจ้งยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายวันของรัฐเป็นข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวด้วยหรือไม่?

6 องค์กรสื่อ แถลงการณ์ร่วม หลังนายกฯสั่งปราบเฟกนิวส์

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ออกแถลงการณ์ร่วมอีกครั้ง หลังรัฐบาลเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องให้ทบทวนหรือแถลงถึงเหตุผลในการบังคับใช้ ข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) เรื่อง มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งเรียกร้องไปเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 64

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย จึงลงความเห็นร่วมกันว่า รัฐต้องการจำกัดเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความเห็นของสื่อและประชาชนต่อสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ

จากนี้เป็นต้นไป องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจะมีกิจกรรมที่แสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จนกว่ารัฐบาลจะเข้าใจและตระหนักได้ว่า การพยายามจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนย่อมนำไปสู่ความล่มสลายของรัฐบาลในที่สุด