“ชัยวุฒิ” รัฐมนตรีด่านหน้า ค้นคนการเมือง อยู่เบื้องหลังสื่อเฟกนิวส์

สัมภาษณ์พิเศษ

ชั่วโมงนี้ “คอการเมือง” กองหนุน-กองต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีใครไม่รู้จัก “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

“ชัยวุฒิ” ถูกสปอตไลต์ฉายจับ ทันทีที่ก้าวขึ้นมารับตำแหน่ง “กระทรวงความมั่นคง” บรรทัดถัดจากนี้คือ “ความในใจ” ของเขาที่ไม่เคย “เปิดใจ” ที่ไหนมาก่อน

ไม่ใช่ “รัฐมนตรีเฟกนิวส์”

“ชัยวุฒิ” ตอบข้อสงสัยทำไมถึงเอาการเอางานแต่เรื่อง “ข่าวปลอม” จน “ภาพจำ” เป็น “รัฐมนตรีเฟกนิวส์” ใน “กระทรวงความมั่นคง” ว่า ตอนนี้มีปัญหาเรื่องเฟกนิวส์ ผมเลยต้องทำเยอะหน่อยยิ่งออกข่าวเยอะเลยดูเหมือนทำแต่เรื่องพวกนี้

“ที่ออกข่าวช่วงนี้บ่อย เพราะเฟกนิวส์เยอะ มีปัญหาเรื่องโควิด เรื่องการเมืองด้วย จึงมีการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารกันเยอะเพราะระบบที่เปิดกว้าง ไม่ปิดกั้น”

“รมว.ดีอีเอส” ที่มีอายุงาน 4 เดือน กับอีก 14 วัน หักร้างด้วย “จ็อบดิสคริปชั่น”ที่มีมากกว่างานไล่ล่า-ปราบปรามเฟกนิวส์ซึ่งเป็นภาระ-หน้าที่ส่วนใหญ่ของกระทรวงดีอีเอส

หนึ่ง พัฒนาอินเทอร์เน็ตให้ประชาชนใช้ระบบต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย เช่น การขายของออนไลน์ การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการวางระบบกฎหมายให้ทำธุรกรรมออนไลน์ได้

สอง ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคธุรกิจและภาคราชการ สาม พัฒนาระบบไซเบอร์ซิเคียวริตี้ หรือความมั่นคงปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อวางระบบป้องกันผู้ไม่หวังดีเข้ามาโจมตี (แฮกเกอร์)

ขณะเดียวกันบริษัท ไปรษณีย์ไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในกำกับให้บริการประชาชน เช่น การส่งสินค้าเกษตรออนไลน์ รวมถึงสินค้าจากชุมชนในต่างจังหวัด

ในช่วงโควิดเข้าไปช่วยวางระบบไอทีในโรงพยาบาลสนาม อยู่เบื้องหลังและส่งเสริมผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับโควิดบางตัว เช่น “หมอชนะ” ในภูเก็ต ซึ่งระบบไอทีของ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ดีอีเอสเป็นผู้ดูแลทั้งหมด เพื่อรองรับการเปิดประเทศ

ส่วนภารกิจ “รมว.ดีอีเอส” ในการควบคุม-ดูแล “เฟกนิวส์” เป็นส่วนหนึ่งในหน้าที่-อำนาจของ “รักษาการ” ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560

ขีดเส้นสื่อจริง-สื่อเทียม

“ชัยวุฒิ” ขีดเส้น คำว่า “สื่อจริง” กับ “สื่อเทียม” ไม่ให้ “ล้ำเส้น” ว่า สื่อจริง คือ วิทยุ-โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ที่มีสมาคมวิชาชีพ สภาวิชาชีพกำกับดูแล มีมาตรฐานทางจริยธรรม-กฎหมายรองรับ มีใบอนุญาต-บทลงโทษ

“ช่วงหลังมีสื่อเทียม สื่อออนไลน์ ผมเรียกว่า สื่อเทียม ไม่มีการกำกับดูแล มันมีคนทำตัวเป็นเสมือนสื่อ ให้ข่าว ให้ข้อมูลโน่น นี่ นั่น แต่ไม่ใช่สื่อ ไม่มีสังกัด ไม่มีมาตรฐานจริยธรรม ไม่มีการกำกับดูแล ทุกคนทำตัวเป็นสื่อกันหมด”

เขายืนยันว่า “ข้อกำหนดฉบับที่ 29” เกี่ยวกับการ “ตัดเน็ต” ต้องการคุม “เฟกนิวส์” เพราะคุมได้ยาก-ต้องเข้มข้น และยอมรับว่า ปิดไม่ได้ทั้งหมด บางระบบเป็นของต่างประเทศ ไม่อิงกับกฎหมายไทย 100%

“ชัยวุฒิ” ขอความร่วมมือทุกองค์กร-สื่อปรับตัว ในการใช้สิทธิ-เสรีภาพบนความรับผิดชอบ-เข้มข้นมากขึ้นในการเสนอข่าว ภายใต้สถานการณ์โควิดรุนแรง เขาเปรียบราวกับ “ภาวะสงคราม-กึ่งสงคราม” กับโควิด

“ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ แต่ต้องใช้ในทางที่ถูกต้อง บอกว่าเสนอข่าวตรงไปตรงมา แต่บางทีก็มีเจตนาแอบแฝง เสนอข่าวไม่ครบถ้วน เกิดความเข้าใจผิด บิดเบือนข้อมูล มีเจตนาให้สังคมคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง”

ข่าวปลอม-เฟกนิวส์ในช่วงคาบลูกคาบดอกระหว่าง “ปัญหาโควิด” กับ “ปัญหาการเมือง” เขายืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ใช้ “กฎหมายติดหนวด” เป็น “เครื่องมือทางการเมือง” เพื่อปิดปากฝั่งตรงข้ามแน่นอน และถามกลับว่า

“คนที่ให้ข่าวเฟกนิวส์ มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่ สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองอยู่หรือเปล่า ยืนยันได้หรือไม่ว่า สื่อทั้งหมดไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง 100 เปอร์เซ็นต์”

โควิดคลี่คลาย เฟกนิวส์ลดลง

ก่อน “ชัยวุฒิ” จะมารับตำแหน่ง “รมว.ดีอีเอส” เขาอภิปรายปกป้องราชบัลลังก์ในสภาอย่างถึงที่สุด-หลังรับตำแหน่งยังรุกไล่ “เว็บหมิ่นสถาบัน” สุดชีวิต แต่เขาไม่คิดว่า สื่อโซเชียลเป็นภัยคุกคามสถาบัน แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ช่องทางนี้ในการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม

“ผมคิดว่าตัวเองเป็นคนไทย เกิดมาในแผ่นดินนี้ต้องยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติ ประเทศชาติจะเดินหน้าไปได้ก็ขึ้นอยู่กับสถาบันหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

“ผมทำงานการเมืองยึดมั่นในหลักการนี้มาตลอด ผมไม่คิดว่าจะมีแนวทางอื่นมากกว่านี้”

“ชัยวุฒิ” ไม่คิดว่าการมารับตำแหน่ง “รัฐมนตรีสมัยแรก” เป็นเผือกร้อน-ทุกขลาภ เพราะเขาสนใจ-ตั้งใจมาทำงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

“เฟกนิวส์จะมาในช่วงบ้านเมืองมีวิกฤต ช่วงนี้จะมีเรื่องการเมืองกับเรื่องโควิดปนอยู่เยอะ เลยทำให้ดูวุ่นวายหน่อย ไม่ได้คิดมากอะไร เดี๋ยวพอเรื่องโควิดคลี่คลาย เฟกนิวส์จะลดลงไปเอง”

“ผมไม่คิดว่าเป็นเผือกร้อน ผมมองว่า เรื่องการตรวจสอบ กำกับดูแล ถ้าคุณ (สื่อ) ทำดี ทำถูกต้อง ใครจะไปยุ่งกับคุณ”

ไม่อยากดัง-คนไม่เกลียด

“ชัยวุฒิ” เป็น ส.ส.สิงห์บุรี “สมัยแรก” สังกัดประชาธิปัตย์ ตั้งแต่อายุ 29 ปี โคจรสู่ “จุดต่ำสุด” ตัดสิทธิ์-เว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี หลังพรรคชาติไทยถูกยุบ ขึ้น “จุดสูงสุด” เป็น “เสนาบดี” ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/4 ในวัย 49 กะรัต

ปัจจุบันเขายังเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 10-กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ “บ้านหลังที่สาม” ที่มีทั้งนักการเมืองหิวแสง-มีแสงในตัวเอง เขานิยามความเป็นนักการเมืองของตัวเองว่า “เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง”

“ผมเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ผมไม่ใช่คนมีชื่อเสียงมาก่อน ไม่ใช่คนใหญ่คนโต หรือเป็นทายาทตระกูลการเมือง บ้านผมเป็นพ่อค้า-แม่ค้าอยู่ต่างจังหวัด ผมลูกชาวบ้าน สุดท้ายผมหมดตำแหน่งนี้ก็จะกลับไปเป็นคนธรรมดาเหมือนเดิม”

“วันนี้ผมอยากใช้ชีวิตปกติ ไปเดินซื้อของโลตัส ไปกินข้าว ผมก็เหมือนพวกคุณ ผมแค่รับอาสาเป็นตัวแทนประชาชน หมดภาระผมก็กลับไปใช้ชีวิตปกติ สุดท้ายผมต้องกลับไปใช้ชีวิตเป็นคนปกติ”

“ผมไม่ใช่คนมักใหญ่ใฝ่สูง ผมแค่อยากทำงานที่ชอบ ผมอาสามาทำงาน ผมเข้ามาการเมืองตั้งแต่อายุไม่เยอะ ลงเลือกตั้งก็ได้มาเป็น ส.ส. ประชาชนให้โอกาสแล้วก็ทำไป ทำให้ดี”

“ผมไม่ใช่นักธุรกิจการเมือง ไม่ได้หวังหาผลประโยชน์ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ผมไม่ได้อยากดัง ออกข่าวเยอะแบบนี้ เดี๋ยวผมกลับไปใช้ชีวิตปกติยาก”

“คุณนึกภาพ ถ้าคุณดังมากจะกลับไปใช้ชีวิตปกติยาก ผมอยากใช้ชีวิตปกติ ผมไม่อยากดัง” เขาย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“ชัยวุฒิ” ยืนยันคำตอบว่า ไม่ใช่นักการเมืองหิวแสง-ไม่ใช่นักการเมืองประเภท “ดาวฤกษ์” และไม่ต้องการแสงสปอตไลต์ฉายส่อง

“ใช่ ผมไม่ต้องการ ผมเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง เป็นเหมือนพวกเรา ๆ เป็นมนุษย์เงินเดือน เป็นนักธุรกิจคนหนึ่งที่ทำงานและใช้ชีวิตปกติ ผมคิดว่าบ้านเมืองจะเดินไปได้ต้องมีคนที่คิดว่าไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่มาทำงานการเมืองเพื่อบ้านเมือง”

“ผมไม่อยากมีภาพจำอะไร เป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่งเข้ามาทำงานให้บ้านเมืองผ่านไปได้ ไม่อยากมีภาพลบ ไม่อยากให้ชื่อเสียงเสียหายหรือมีคนเกลียดเรา”

“การเมืองเป็นหัวโขน เหมือนการเลือกตั้ง ครั้งนี้ได้ ครั้งหน้าอาจจะตก รัฐมนตรีวันนี้เป็น พรุ่งนี้อาจจะไม่ได้เป็น ทุกอย่างเป็นตำแหน่งที่ได้มาในช่วงเวลาหนึ่ง ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เมื่อออกจากตำแหน่งไปแล้ว ผมก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตปกติ”

สัมพันธ์ “เสี่ยกลาง”

“เสี่ยโอ๋” ผู้ที่มีทรัพย์สินระดับร้อยล้าน ขอลบภาพลักษณ์ “นายทุนพรรค” ว่า ผมเป็นคนปกติ จบวิศวะ จุฬาฯ ก็ไปทำงานบริษัทหลายที่ เคยอยู่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ กสิกรไทย เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต

“ผมเคยทำงานบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ ทำโรงไฟฟ้า ในฐานะคนทำงานนะ บางคนเคยทำงานอยู่ ปตท. ซี.พี. เราทำงานบริษัทใหญ่ ไม่ได้หมายความว่า เราจะเป็นรัฐมนตรีที่เป็นโควตานายทุนพรรค”

“ผมเป็นนักการเมืองก่อนมาทำงานบริษัท กัลฟ์ฯ เมื่อผมไม่ได้เป็น ส.ส. ก็ไปทำงานบริษัท เป็นเรื่องปกติ เป็นคนเหมือนพวกคุณ”

“ผมรู้จักเสี่ยกลางตั้งแต่ก่อนจะมาเป็น ส.ส. พอผมไม่ได้เป็น ส.ส. ผมก็ไปช่วยงานเขา ไปทำงานให้เขา เสร็จภารกิจ มีเลือกตั้ง ผมก็กลับมาเป็น ส.ส.”

“ไม่ใช่เสี่ยกลางส่งผมมาเป็น ส.ส. ไม่ใช่ผมเป็นลูกน้องเสี่ยกลางแล้วถูกส่งมาเล่นการเมือง ผมเป็นนักการเมืองอยู่แล้ว ตอนนี้ออกมาก็ไม่ได้เป็นลูกน้องเขาแล้ว”

ทิ้งผลงาน อัพเกรดเน็ตประชารัฐ

ก่อนครบวาระรัฐบาล 1 ปีครึ่ง หากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย-ไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองเสียก่อน ความฝันของ “ชัยวุฒิ” ตั้งใจทิ้งไว้เป็นผลงานในกระทรวงดีอีเอสในยุคเขา “กุมบังเหียน”

เป้าหมายแรก ทำให้อินเทอร์เน็ตให้เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงในราคาที่เป็นธรรม และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิต

“ทุกคนต้องเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในราคาถูก ต้องมี free WiFi เป็น hotspot เน็ตประชารัฐ ใช้ได้ แต่ไม่ดี เก่าแล้ว เป็นระบบ 3G ต้องอัพเกรด สาธารณูปโภคพื้นฐานต้องส่งให้ท้องถิ่นเข้ามาช่วยดูแลเพื่อให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง”

สอง ให้การใช้อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียปลอดภัยสำหรับประชาชน เป็น “โซเชียลมีเดียสีขาว” เป็นพื้นที่ที่ทุกคนเข้าไปแล้วปลอดภัย ไม่ใช่เข้าไปแล้วมีแต่เฟกนิวส์ ขายของผิดกฎหมาย บ่อนพนันออนไลน์ ลามกอนาจาร

พรรคร่วมเหมือนผัว-เมีย

“ชัยวุฒิ” วิเคราะห์สถานการณ์พรรคร่วมรัฐบาล-พลังประชารัฐ “ใต้ชายคา” รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทิ้งท้ายว่า พรรคร่วมรัฐบาลเป็นอย่างนี้ทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีประเด็นโน่น นี่ นั่น บางเรื่องเห็นด้วย บางเรื่องเห็นต่าง แต่ทุกคนทำงานร่วมกันได้ แต่จะให้ 100% ไม่ได้

“เพื่อนกันนั่งคุยกันยังทะเลาะกันเลย ยังชกกันเลย วันรุ่งขึ้นมานั่งกินเหล้ากันต่อก็มี ผัวเมียอยู่ด้วยกันยังทะเลาะกัน ด่ากัน กระทบกระทั่งกัน แหย่กัน แต่ก็รักกัน สุดท้ายต้องคุยกันด้วยเหตุผลที่ดีที่สุดต่อบ้านเมือง”

ส่วนหลังเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคร่วมรัฐบาลจะกลับมาร่วมหอลงโรงกันอีกหรือไม่ เขายังดูไม่ออก “ต้องรอดูเลือกตั้งรอบหน้าว่าใครมี ส.ส.เท่าไหร่ สมการการเมืองตอนนั้นเป็นอย่างไร ไม่มีอะไรแน่นอน”


เขาเชื่อว่า สำนวนการเมือง “ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร” ใช้ได้กับทุกคนที่ “เป็นมนุษย์” ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองเท่านั้น