อภิสิทธิ์ 57 ปี บทบาทและสถานะ “ตัวเลือก” ในวิกฤต “ประยุทธ์”

อภิสิทธิ์-ประยุทธ์

3 สิงหาคม 2564 “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี มีอายุครบรอบ 57 ปี เป็นการฉลองครบรอบวันเกิดที่ไม่มีช่อดอกไม้-ไม่มีคำอวยพรจากผู้มีอำนาจในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ตลอดเส้นทางการเมือง 27 ปี “อภิสิทธิ์” แจ้งเกิดทางการเมือง ในค่ายพรรคประชาธิปัตย์ – เป็น “ผู้แทน กทม.” สมัยแรก เมื่อปี 2535 ด้วยวัยเพียง 27 ปี เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 7 ครองตำแหน่งยาวนาน 14 ปี

“อภิสิทธิ์” นำพรรคประชาธิปัตย์ ควง “ผู้นำฝ่ายค้าน” 2 ครั้ง บอยคอตการเลือกตั้ง 2 หน (ปี 2549 และ ปี 2557) ทั้งสองหนจบด้วยการเลือกตั้งเป็นโมฆะ-รัฐประหาร

“อภิสิทธิ์” ก้าวขึ้นจุดสูงสุดของชีวิตการเป็นนักการเมืองอาชีพ-นายกรัฐมนตรี คนที่ 27 จากการ “พลิกขั้ว” ทางการเมือง

ทว่าตลอดวาระ “รัฐบาลอภิสิทธิ์” 2 ปี 231 วัน ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ประสบปัญหาวิกฤต เศรษฐกิจ-แฮมเบอร์เกอร์ไครซิส และวิกฤตการเมือง-การชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดง

24 มีนาคม 2562 “อภิสิทธิ์” ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค แสดงความรับผิดชอบหลังแพ้เลือกตั้ง-ได้จำนวน ส.ส.ต่ำกว่า 100 คน

5 มิถุนายน 2562 “อภิสิทธิ์” ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับที่ 1 เพื่อแสดง “จุดยืน” หลังประกาศ “ไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์” และไม่สังฆกรรมกับระบอบสืบทอดอำนาจ คสช.

“เปิดทาง” ให้พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ-พรรคแกนนำรัฐบาลที่เสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

“อภิสิทธิ์” ยังคงมีสถานะเป็นสมาชิกพรรค เข้า-ออกค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม แม้ไม่มีสถานะ-ตำแหน่งแห่งที่วงโคจรอำนาจ แต่คงแสดงทัศนะ-ทางออกจากปัญหาสุขภาพ-เศรษฐกิจ-การเมืองในที่สาธารณะ

ที่สำคัญ “อภิสิทธิ์” ยังเป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ในบัญชีพรรคประชาธิปัตย์

“ผมยังอยู่ในสถานะผู้สมัครนายกรัฐมนตรีอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ เสนอแล้วเขาไม่อนุญาตให้ลาออก ผมก็ดูช่องอยู่ มันมีหมวดวิกลจริต ล้มละลาย ติดยาเสพติด หรือ อะไรทำนองนั้น ถึงจะหลุดพ้นจากสถานะนี้ ก็ยังไม่ประสงค์จะไปช่องทางใดช่องทางหนึ่งที่เอ่ยมาทั้งหมด” อภิสิทธิ์พูดทีเล่น-ทีจริงในวงเสวนา “บทบาทรัฐสภาในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ กับจุดเปลี่ยนประเทศไทย” เมื่อปลายปี 63

“แกนนำพรรคเก่าแก่” วิเคราะห์ “เงื่อนไข” และ “ปัจจัย” ที่ “อภิสิทธิ์” จะ “Comeback”

เงื่อนไข-ปัจจัยภายในพรรค

1. พรรคประชาธิปัตย์ “ถอนตัว” จากการร่วมรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

2. พรรคประชาธิปัตย์ “เปลี่ยนตัว” หัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรค

เงื่อนไข-ปัจจัยภายนอกพรรค

1. พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศลาออก-พรรคพลังประชารัฐไม่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นรอบที่สอง

2. พล.อ.ประยุทธ์ “ยุบสภา” เซตซีโร่การเมืองใหม่

“แกนนำ ปชป.อีกราย” ระบุว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจลาออก พรรคประชาธิปัตย์อาจจะ “ไม่เสนอชื่อ” นายอภิสิทธิ์ลงแข่งกับ “พล.อ.ประยุทธ์”

สุดท้ายขึ้นอยู่กับว่า “อภิสิทธิ์” ยังเป็นตัวเลือก-มีเสน่ห์กับ “ชนชั้นนำ” และ “อำมาตย์” อยู่หรือไม่