สั่งห้ามชุมนุมทั่วประเทศ จับตาม็อบใหญ่ 7 ส.ค.

คาร์ม็อบ
แฟ้มภาพ

ราชกิจจาฯ ประกาศห้ามชุมนุมทั่วประเทศ หากฝ่าฝืนโดนโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท ขณะที่ม็อบนัดชุมนุม 7 ส.ค.

วันที่ 5 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด จัด “คาร์ม็อบ” บนถนนวิภาวดี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมี กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน และกลุ่มทะลุฟ้านำโดยนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่-ดาวดิน มาร่วมสมทบ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจควบคุมฝูงชน

ในวันเดียวกัน หลังสิ้นสุดชุมนุมคาร์ม็อบ ที่เฟซบุ๊กเพจ เยาวชนปลดแอก-Free YOUTH ได้นัดชุมนุมอีกครั้งในวันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม 2564

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) (ฉบับที่ 9)

ประกาศดังกล่าวมีใจความว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทวีความรุนแรง โดยเฉพาะมีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่กระจายและติดต่อกันได้ง่าย ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและได้ขยายออกไปเป็นวงกว้าง

รัฐบาลจึงได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2564 มีมาตรการควบคุมเพิ่มเติม รวมทั้งได้ปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อ 3 (6) และข้อกำหนด คำสั่ง ประกาศ ที่เกี่ยวข้อง จึงให้ปฏิบัติดังนี้

1. ให้ยกเลิกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

2. ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่โรค ณ ที่ใด ๆ ทั่วราชอาณาจักร

3. ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่เฝ้าระวัง เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้น ดังต่อไปนี้

  • กิจกรรมเกี่ยวกับการขนส่งหรือขนย้ายประชาชน ได้แก่ การขนส่งประชาชนเพื่อเดินทางไปหรือออกจากที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือ สถานที่เพื่อการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชั้นแรก
  • กิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุข
  • กิจกรรมเกี่ยวกับการให้บริการ การให้ความช่วยเหลือหรืออำนวยประโยชน์ หรือความสะดวกแก่ประชาชน
  • การรวมกลุ่มของบุคคลตามปกติในที่พักอาศัย สถานที่ทำงาน การประชุม โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการออกกำลังกายในสถานที่ตามที่ทางราชการกำหนด
  • กิจกรรมที่ดำเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่จัดโดยองค์กร หรือหน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของหัวหน้าหน่วยงานดังกล่าว หรือกิจกรรมอื่นตามที่ ศปม. กำหนด

ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน สี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

7 สิงหา 2559

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การนัดชุมนุมในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ เป็นวันครบรอบ 5 ปี ของการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 โดยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิ 59.40% หรือ 29,740,677 คน โดยมีการถามคำถาม 2 ข้อ สรุปผลได้ว่า

  • ประเด็นที่ 1 ร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบ 16,820,402 = 61.35% ไม่เห็นชอบ 10,598,037 = 38.65%
  • ประเด็นที่ 2 ประเด็นคำถามพ่วง กรณีที่เปิดโอกาสให้ ส.ว.ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และมีอำนาจในการโหวตนายกรัฐมนตรี เห็นชอบ 15,132,050 = 58.07% ไม่เห็นชอบ 10,926,648 = 41.93%