กรณ์ ทวงเงินเยียวยา ม.33-ม.39-ม.40 ตกหล่น

กรณ์-หัวหน้าพรรคกล้า ทวงเงินเยียวยาผู้ประกันตน ม.33-ม.39-ม.40 ตกหล่น เร่งจ่ายเงินอย่าให้ล่าช้า 

วันที่ 5 สิงหาคม 2564 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรรกล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความลง Facebook ว่า วันนี้มา “ทวงเงิน” ให้ “คนทำงาน” โดยได้รับการร้องเรียนมากมายจากหรือผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมว่า เงินเยียวยาล่าช้า ตกหล่น ไม่ครอบคลุมจากระบบราชการที่เป็นปัญหา 

รวมไปถึงนโยบายที่ให้ขึ้นทะเบียน ทั้ง ๆ ที่ราชการมีข้อมูลอยู่แล้วเพียงพอแต่แรก ซึ่งมติ ครม.ออกมาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม และเมื่อวานนี้ผู้ประกันตน ม.33 บางคนได้เงินแล้ว แต่ยังมีคนที่รอรับเงินอยู่อีกคือ ผู้ประกันตนมาตรา 39, 40 และ ม.33 ที่ตกหล่น อย่างเร็วสุดได้รับเงินวันที่ 24 สิงหาคม เนื่องจากปัญหาความวุ่นวายของระบบประกันสังคมของกระทรวงแรงงาน และฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าของกระทรวงพาณิชย์ 

“มติ ครม. กลางเดือนกรกฎาคม 2 รอบบอกว่า จะเยียวยาคนใน ม.33 ตามระบบประกันสังคม ใน 13 จังหวัด มีชื่อและนายจ้างชัดเจน แต่ยังพบปัญหาตกหล่นหลายแห่ง”

นายกรณ์กล่าวว่า ปัญหาที่ 1 พนักงาน ม.33 ของโรงแรมหลายแห่งยังตกหล่น เพราะข้อมูลกรมพัฒนาฯ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นกิจการที่ทำธุรกิจหลายประเภท เสี่ยงไม่เข้าเกณฑ์ พนักงานต้องอุทธรณ์กันเอง กว่าจะได้เงินก็ช้าเป็นเกือบเดือน 

“จึงเสนอให้ใช้ระบบข้อมูลจัดส่งรายได้ของกรมสรรพากร แทนระบบขึ้นทะเบียนของกรมพัฒนาฯ ว่าหากใครขาดรายได้จากการถูกรัฐบาลสั่งปิดกิจการ ต้องได้รับเยียวยาทุกราย” 

ปัญหาที่ 2 เกิดจากภาครัฐรอให้คนลงทะเบียน ม.40 ใหม่อีกรอบ มานับรวมกันกับคนที่ลงทะเบียนไว้อยู่แล้ว ทำให้คนกว่า 3 ล้านคนได้เงินเยียวยาช้ากันไปหมด 

“จึงเสนอให้ตัดรอบสำหรับคนใน 13 จังหวัดสีแดงเข้ม ที่เข้าระบบ ม.39/40 อยู่แล้ว ก่อนมติ ครม. 17 กรกฎาคม ต้องได้รับเงินทันที ไม่ต้องรอคนที่มาลงทะเบียนใหม่”

นายกรณ์กล่าวว่า ต่อมา มติ ครม. ต้นสิงหาคม ขยายความช่วยเหลืออีก 16 จังหวัดเป็น 29 จังหวัด เกิดปัญหาที่ 3 คือใช้ระบบเดิม ล่าช้าตามเดิม จึงเสนอให้ตัดรอบสำหรับคนใน 16 จังหวัดสีแดงเข้ม ที่เข้าระบบ ม.39/40 อยู่แล้ว ก่อนมติ ครม. 3 สิงหาคม ต้องได้รับเงินทันที ไม่ต้องรอคนที่มาลงทะเบียนใหม่ 

นายกรณ์กล่าวว่า วันนี้ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย เป็นนักรบทางเศรษฐกิจของไทยมาตลอดกำลังจะตาย นี่คือภารกิจที่ต้องทำให้ได้โดยเร็วที่สุด ในการพยุงชีวิตของพวกเขา ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการอัดฉีดให้เร็วและตรงเป้า ยังไม่นับว่านี่เป็นจำนวนเงินที่ผมมองว่า “น้อยเกินไป” และ “สั้นเกินไป” วิกฤตไม่จบภายในเดือนเดียว ควรมีการประเมินผลกระทบอย่างตรงไปตรงมา และวางแผนเยียวยาให้แก่ “คนทำงาน” เลยอย่างน้อย 3-6 เดือน 

“เพราะลูกจ้างธุรกิจบริการ SMEs รายย่อย พ่อค้าแม่ขายรายเล็ก กลุ่ม Freelance-อาชีพอิสระ นักร้อง-นักดนตรี ธุรกิจฟิตเนส นวดสปา คนกลุ่มนี้สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยในภาคบริการมาโดยตลอด รอไม่ได้แล้วครับ” นายกรณ์กล่าว