เพื่อไทย-ก้าวไกล พักรบศึกใน ฝ่ายค้านแท็กทีมอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประยุทธ์

รายงานพิเศษ

พรรคฝ่ายค้านล็อกเป้า 16 สิงหาคม 2564 ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม บวกรัฐมนตรีอีก 4-5 คน

คาดการณ์ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม-ต้นกันยายน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของรัฐบาล แต่รอบนี้ฝ่ายค้านหมายมั่นปั้นมือว่าศึกซักฟอกจะสร้างแผ่นดินไหวสะเทือนบัลลังก์อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ และเครือข่ายในสภา อาจไม่หวังเสียงโหวตพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นกำลังค้ำยัน แต่หวังเป็น “แรงส่ง” ให้มวลชนนอกสภาช่วยขย่ม

หากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ “ชกไม่เต็มหมัด” ทำอะไรรัฐบาลไม่ได้ พรรคฝ่ายค้านต้องไปถึงปีสมัยประชุมหน้า หลัง 22 พฤษภาคม 2565

“ประชาชาติธุรกิจ” เช็กความพร้อมศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ จาก 2 หัวหอกฝ่ายค้านเพื่อไทย-ก้าวไกล

เพื่อไทย พร้อมมาก

เริ่มต้นจาก “สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน ในฐานะหัวหน้าทีมรวบรวมข้อมูลซักฟอก เผยถึงความพร้อมฝ่ายค้านที่จะออกรบว่า

พร้อมกว่าทุกครั้ง เราเตรียมตัวกันมานาน ประเด็นที่พูดสอดคล้องกับสังคม และพูดไม่ยาก สังคมเชื่ออยู่แล้ว ณ วันนี้คือจบแล้ว ประเด็นที่จะอภิปรายและบุคคลที่อภิปราย เหลือแต่เพียงจัดระบบข้อมูลและซ้อมให้แม่นยำมากขึ้น คาดว่าเหลือเวลาอีก 10 กว่าวัน สบายมาก

การอภิปรายครั้งนี้ เป็นการอภิปรายที่สังคมมีอารมณ์ร่วม เป็นการอภิปรายคู่ขนานระหว่างในสภากับนอกสภาก็ได้ หมายความว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมในการอภิปรายมากที่สุด

1.ขั้นตอนการเสนอข้อมูล เปิดให้ประชาชนส่งข้อมูลเข้ามาและรับฟังข้อเสนอแนะตลอด

2.ขณะที่สภาอภิปราย สังคมจะติดตามมากเป็นพิเศษ ดีไม่ดีอาจมีการอภิปรายนอกสภาควบคู่ จึงอยู่ในความสนใจมาก

3.การลงมติในสภา ก็ทำไป แต่เราเชื่อว่ากระบวนการนอกสภาน่าจะมีกระบวนการที่จะหาข้อสรุปที่เป็นมติมหาชนด้วย ว่าไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจ เห็นควรให้รัฐบาลอยู่ต่อ ไม่อยู่ต่อ

“คิดว่าประเด็นทางสังคมน่าจะเข้มข้นกว่าในสภาด้วย ดังนั้น การลงคะแนนในสภาความหมายแทบจะน้อยกว่าข้างนอกด้วย ฝ่ายค้านหวังผลได้เลย ครั้งนี้นอกสภาอภิปรายก่อนฝ่ายค้านด้วย เขาเคลื่อนก่อนเราอีก”

ประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลัก ๆ จะเป็นเรื่องบริหารจัดการโควิด-19 เรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งเรื่องนี้จะแยกย่อยเป็น item

ข้อมูลมากกว่าโค่นประยุทธ์ได้

คิดว่าจะโค่น พล.อ.ประยุทธ์ได้หรือไม่ “สุทิน” กล่าวว่า โดยเนื้อหาสาระอย่าว่าแต่อภิปรายไม่ไว้วางใจเลย แม้แต่ยังไม่อภิปรายถือว่า พล.อ.ประยุทธ์เสื่อมสุด ๆ เขาไม่มีความชอบธรรมที่จะอยู่แล้ว ถ้าเป็นรัฐบาลอื่นก็ถือว่าอยู่ไม่ได้แล้ว ยิ่งอภิปรายอีก ถามว่าโค่นได้ไหม…มากกว่าโค่นได้ แต่อย่างว่าล่ะเขาอาจจะอยู่ได้ด้วยอะไรของเขา เป็นกรณีพิเศษมากกว่ากรณีอื่น ๆ แต่อย่างไรเสีย ทานต่อแรงกดดันยาก

“คาร์ม็อบ คาร์ปาร์ก จะเข้มข้นขึ้น พอเราอภิปรายปั๊บก็จะเป็นแรงกระตุ้นแบบคลื่นสูง คลื่นแรงแน่นอน”

“สุทิน” ประเมินปัจจัยการ “อยู่หรือไป” ของรัฐบาลประยุทธ์ว่า 1.คุณภาพในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2.พรรคร่วมรัฐบาลยังจะอุ้มรัฐบาลต่อไหม 3.กระแสสังคมรอบนอก

3 กระแส แม้ว่าพรรคร่วมดูแล้วจะอุ้มต่อ แต่ก็ไม่แน่ พรรคร่วมเขาก็คิดได้ว่าจะยอมตายด้วยกันหรือว่าจะหนีตาย เพราะสถานการณ์ขณะนี้คือ ตาย แต่จะร่วมตาย หรือจะหนีตาย ซึ่งผมเชื่อว่าโอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาลจะถอนตัวมีอยู่สูงเหมือนกัน

ฝ่ายค้านเป็นเอกภาพ

ก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกล-พรรคเพื่อไทย มักเดินคนละคีย์กับพรรคเพื่อไทยในหลายประเด็น การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะ “แยกกันเดิน” หรือไม่

“สุทิน” ตอบทันทีว่า ไม่หรอก…ต้องแยกแยะบางประเด็น เราอาจเห็นไม่ตรงกัน จึงทำให้ดูเหมือนคนละคีย์ เช่น การคืนงบฯกลาง 1.6 หมื่นล้าน แต่เรื่องที่เห็นตรงกัน เช่น ดำเนินคดีและถอดถอน พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจเห็นตรงกันอยู่แล้ว ดังนั้น สนธิกำลังร่วมมือกันอยู่แล้ว

แต่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกในปี 2563 เกิดประเด็นที่พรรคอนาคตใหม่ก่อนที่จะมาเป็นพรรคก้าวไกล ไม่พอใจที่การอภิปรายของพรรคเพื่อไทยกินเวลาจนหมดไม่เหลือให้พรรคอนาคตใหม่ได้อภิปราย “สุทิน” บอกว่าเคยมีประวัติครั้งแรกก็ผ่านไปแต่ครั้งที่ 2 ร่วมมือกันดีมาก เพราะครั้งแรกก็ใหม่ แต่ละคนไม่มีประสบการณ์ ส.ส.ป้ายแดงกันทั้งนั้น แต่ครั้งหลังมาก็ดี เป็นเอกภาพ

“ส่วนใหญ่เราทำงานไปด้วยกัน มีส่วนน้อยบางเคสที่เห็นต่าง การเห็นต่างทุกคนก็ตรวจสอบกันเต็มที่ ก็ธรรมดา ไม่มีปัญหา”

ก้าวไกล ขอทำเต็มที่

ด้าน “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ก็ยืนยันสอดคล้องกับ “สุทิน” เรื่องความขัดแย้งระหว่างเพื่อไทย-ก้าวไกล ไม่ใช่อุปสรรคต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

“อภิปรายไม่ไว้วางใจก็คงต้องเป็นเอกภาพ ยังไงพรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มที่เหมือนเดิม เรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้คงไม่กระทบกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ”

“บิ๊กตู่” เอาชีวิตคนเป็นเดิมพัน

ส่วนความพร้อมของพรรคก้าวไกล อยู่ในขั้นตอนการสรุปรายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย เพราะเราตั้งใจไม่อภิปรายสะเปะสะปะ จึงเน้นรัฐมนตรีไม่ต้องมาก

แน่นอนว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด พรรคก้าวไกลเน้นการอภิปรายเพื่อเปิดโปงให้เห็นถึงความผิดพลาดร้ายแรงของรัฐบาล ภายใต้การนำของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ไม่ใช่แค่ว่าประมาทเลินเล่อ หรือไม่มีวิสัยทัศน์ แต่เป็นการใช้อำนาจในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองและประโยชน์ส่วนตนโดยเอาชีวิตของคนทั้งประเทศมาเป็นเดิมพัน คิดว่าเรื่องนี้เป็นการจงใจใช้อำนาจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

นอกจากนั้น ชัดเจนมากว่ารัฐบาลชุดนี้มองประชาชนเป็นศัตรู ทั้งที่รัฐบาลโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ต่างหากที่ประชาชนทั้งประเทศมองว่าเป็นภัยต่อประชาชน “พยายามโฟกัส เอาเรื่องที่สำคัญจริง ๆ ในการอภิปราย”

การอภิปรายครั้งนี้ ให้เวลาผู้อภิปรายแต่ละคนเยอะหน่อย พยายามไม่ให้เกิน 6 คน แม้น้อยกว่าการอภิปรายทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะจะได้อภิปรายอย่างเต็มที่

ประชาชนไม่ยอมให้ “บิ๊กตู่” อยู่ต่อ

สำหรับแคมเปญของพรรคก้าวไกลที่ระบุว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายของ “พล.อ.ประยุทธ์” นั้น “ชัยธวัช” ให้เหตุผลแนวคิด
เบื้องหลังว่า ด้วยความรู้สึกของประชาชนในปัจจุบัน ประกอบกับสิ่งที่เราจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะอยู่ร่วมรัฐบาลต่อเพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป แต่ก้าวไกลเชื่อว่าประชาชนไม่น่าจะยอมให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกแล้ว คงจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังจากนั้น

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ก้าวไกลสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการการเมืองและวงการตำรวจ ด้วยการเปิดประเด็นเรื่อง “ตั๋วตำรวจ” มาครั้งนี้จะมีหมัดเด็ดทำนองเดียวกับตั๋วช้างอีกหรือไม่

“ชัยธวัช” ไม่ได้ตอบคำถามตรง ๆ แต่บอกว่า ขอให้รอฟังข้อมูลของพรรคก้าวไกลที่จะนำเสนอ

“ตอนนี้ในสภาก็ต้องหนักแน่น อารมณ์ของสังคมมาถึงจุดที่สูงสุดแล้วล่ะ อารมณ์ในสภากับนอกสภาเกี่ยวเนื่องกัน”

ดังนั้น สถานการณ์รัฐบาลหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ชัยธวัช” ทำนายว่าเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง คือ นายกฯลาออก หรือยุบสภาผมคิดว่าบรรยากาศในสังคมจะเป็นปัจจัยสำคัญ จริง ๆ ตอนนี้คนก็ไล่รัฐบาลทุกวันอยู่แล้ว

การอภิปรายไม่ไว้วางใจเตรียมระเบิดศึกในอีกไม่ช้า…