
หมอชลน่าน ชี้ร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ ส่อขัดรัฐธรรมนูญ ไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินเร่งด่วน เชื่อ ประยุทธ์ ใช้บุคลากรด่านหน้าเป็นเครื่องมือล้างผิด รับผิดแทนฝ่ายบริหาร
วันที่ 13 สิงหาคม 2564 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวในฐานะอดีต รมช.สาธารณสุข ว่า กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เตรียมออกร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
การออก พ.ร.ก.ดังกล่าว เหมือนการสารภาพผิด และยอมรับว่าการแก้ไขสถานการณ์ไวรัสโควิดผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นเจตนาของ พล.อ.ประยุทธ์ มีวัตถุประสงค์ในการใช้บุคลากรทางสาธารณสุข และบุคลากรด่านหน้า ที่ทำงานหนักในการดูแลรักษาผู้ป่วยมาเป็นเครื่องมือในการล้างผิดให้กับตัวเอง
ทั้งนี้ เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น รัฐบาลกำลังโยนความผิดไปให้ฝ่ายข้าราชการประจำ รับผิดชอบความผิดแทนฝ่ายนโยบายที่บริหารผิดพลาด โดยเฉพาะการบริหารวัคซีน ส่งผลให้แพทย์และพยาบาลต้องทำงานหนัก บางคนเจ็บป่วยและเสียชีวิต
แม้จะได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 โดสแล้วก็ตาม ซึ่งการทำงานในภาวะไม่มีความพร้อม อาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับผู้มารับบริการ อาจจะถึงขั้นมีการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ ซึ่งเรื่องนี้ควรออกพระราชบัญญัติคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ควรออกเป็นพระราชกำหนด
นพ.ชลน่านกล่าวว่า การออก พ.ร.ก.ดังกล่าว อาจสุ่มเสี่ยงต่อการขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรค 2 เพราะการให้ความคุ้มครองเรื่องการจำกัดความรับผิด ไม่เข้าข่ายเป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน และไม่เกี่ยวเนื่องกับประชาชน ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบริการทางการแพทย์เกิดขึ้นได้
ทั้งจากกรณีที่มีผู้รับผิดและไม่มีผู้รับผิด เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเยียวยา กรณีมีการฟ้องร้องความผิดฐานละเมิด ถ้าเป็นการกระทำโดยสุจริตไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายและไม่เลือกปฏิบัติเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว ที่สำคัญอาศัยพระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผอ.ศบค. สามารถแต่งตั้งแพทย์พยาบาล บุคลากรด่านหน้า
เจ้าหน้าที่อาสาสมัครทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติทางการแพทย์ ซึ่งได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญาและวินัย อาจเป็นเพราะไม่สามารถแต่งตั้งผู้บริหารวัคซีนโดยเฉพาะระดับนโยบาย เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติด้านการรักษาพยาบาลได้ จึงเลือกที่จะออกพระราชกำหนดเพื่อคุ้มครอง โดยอาศัยบุคลากรด่านหน้ามาเป็นข้ออ้าง
“พลเอกประยุทธ์ ต้องไม่โยนบาปให้กับฝ่ายข้าราชการประจำมารับผิดแทน โดยเฉพาะการยกร่างพระราชกำหนดโดยอ้างว่าฝ่ายการเมืองไม่รู้เรื่อง เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล” นพ.ชลน่านกล่าว