ชุลมุนปม สอดไส้แก้ รธน. จบที่ศาลรัฐธรรมนูญ (อีกครั้ง)

ศาลรัฐธรรมนูญ

ความไม่ลงตัวเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม จากบัตรเลือกตั้งใบเดียวตามกติการัฐธรรมนูญ 2560 มาสู่กติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมฉบับใหม่ แม้จบชั้นแปรญัตติขั้นกรรมาธิการไปแล้วก็ตาม

เพราะเกิดปัญหาตั้งแต่ขั้น “รับหลักการ” ที่ ส.ว.และ ส.ส.รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมของพรรคประชาธิปัตย์เรื่องระบบเลือกตั้ง 2 ใบ เพียงแค่ 2 มาตรา คือ 83, 91 ส่วน 12 ร่างที่เหลือที่ประชุมรัฐสภาตีตกทั้งหมด

แต่ระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 มีถ้อยคำผูกพัน-เชื่อมโยงมากกว่า 8 มาตรา เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของกรรมาธิการ จึงมีการตั้งคำถามคำใหญ่ว่า กรรมาธิการจะพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมได้มากกว่ามาตรา 83, 91 หรือไม่

ที่สุดแล้ว “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย และ ส.ว.นักเดินเกมในฝ่ายนิติบัญญัติ หยิบข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 124 ระบุว่า

“การแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิม ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นแต่การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการนั้น”

กรรมาธิการจึงตีความว่า แก้ไข-เพิ่มเติมมาตราได้ตามที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการ

ทว่า พรรคใหญ่-กลาง พรรคเพื่อไทย-พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ ต่างจับมือ-จูบปากกันลงตัว แต่ก็มีฝ่ายที่ไม่ยอมเห็นพ้อง ทั้ง พรรคก้าวไกล-ภูมิใจไทย-เสรีรวมไทย โดยเห็นว่ากรรมาธิการหยิบสาระของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมที่ตกไปตั้งแต่วาระที่ 1 มาสอดไส้ใส่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมฉบับใหม่

ก้าวไกลงัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 151 ขอให้รัฐสภาวินิจฉัยความถูกต้องในกระบวนการพิจารณาตามข้อบังคับหรือไม่ ส่วนท่าที “ภูมิใจไทย” ขอสงวนความเห็นในชั้นกรรมาธิการ

อย่างไรก็ตาม “ไพบูลย์ นิติตะวัน” แห่งพรรคพลังประชารัฐ เชื่อว่าการใช้ข้อบังคับ 124 ไม่มีปัญหา เขาบอกตั้งแต่ยังไม่เริ่มประชุมกรรมาธิการนัดแรก ว่าอาจมีพรรคการเมืองที่ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ

“ความเป็นไปได้เกิดจาก ส.ส.ที่ไม่ต้องการให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบมากกว่า แต่การเพิ่มมาตราตามข้อบังคับ 124 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญแน่”

ช่องทางที่จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้นั้น ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 (7) ระบุว่า เมื่อมีการลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 แล้ว ให้รอไว้ 15 วัน ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 145 และมาตรา 148 ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องรอไว้ 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากรัฐสภา

ระหว่างนั้นหาก ส.ส.-ส.ว. หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของทั้งหมดเท่าที่มี เห็นว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้ส่งเรื่องผ่านประธานรัฐสภาไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้

เกมแก้รัฐธรรมนูญอาจลากยาวถึงศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง