อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย : ความหมาย สัญลักษณ์ สถาปัตยกรรมมรดกคณะราษฎร

ความหมายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

การเคลื่อนไหวของม็อบทำให้ภาพ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” ปรากฏในสื่ออีกครั้ง ในฐานะฉากหลังการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ แต่แท้จริงแล้วสถาปัตยกรรมอันเป็นมรดกจากคณะราษฎรแห่งนี้แฝงความหมายและสัญลักษณ์ที่ลึกซึ้งกว่านั้น

วันที่ 19 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วง 1-2 วันมานี้ กลุ่มทะลุฟ้า นัดรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่งโดยไม่มีเงื่อนไข หลังจากบริหารประเทศและแก้ปัญหาโควิด-19 ล้มเหลว

สำหรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวานนี้ (18 ส.ค.) มีทั้งการนำหุ่นจำลองห่อด้วยผ้าสีขาว ติดภาพหน้าพลเอกประยุทธ์, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมรัฐมนตรีบางส่วน ไปวางไว้บริเวณข้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

รวมถึงการเขียนข้อความลงบนผ้าสีขาวระบุว่า “รัฐล้มเหลวประชาชนล้มตาย” ก่อนนำไปขึงไว้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมกับนำธงสีแดงที่มีเครื่องหมายกากบาทขอความช่วยเหลือจากประชาคมโลก ปักไว้บนยอดของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ขณะที่วันนี้ มีการนำผ้าสีดำขึ้นไปคลุมบนพานแว่นฟ้า เพื่อตอกย้ำความมืดมนของประชาธิปไตยในประเทศ

การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่วนใหญ่สะท้อนถึงความสิ้นหวัง ที่แม้จะมีความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยมานานกว่า 80 ปี แต่ท้ายที่สุดประเทศไทยก็ไม่เคยมีประชาธิปไตยที่แท้จริงเสียที

อนุสาวรีย์ที่ตั้งตระหง่านกลางถนนราชดำเนินกลาง ตัดกับถนนดินสอ ปัจจุบันจึงกลายเป็นเพียงฉากหลังที่นักกิจกรรมแวะเวียนมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ กลบความหมายและสัญลักษณ์ ที่แฝงตัวอย่างเงียบเชียบตั้งแต่ปี 2483

การออกแบบอนุสาวรีย์

เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์รัฐสภา เผยว่า ปี 2482 สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักในการปกครองประเทศ มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483

ขณะที่รังสิตซิตี้บอกเล่าความเป็นมาของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยว่า เป็นผลงานการออกแบบของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล อันเป็นแบบที่ชนะการประกวดการออกแบบอนุสาวรีย์แห่งนี้ การออกแบบได้นำสถาปัตยกรรมแบบไทยมาผสมผสาน ตรงกลางเป็นสมุดไทยที่สื่อถึงรัฐธรรมนูญประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า นอกจากการเป็นสัญลักษณ์เพื่อระลึกถึงประชาธิปไตยนั้น อนุสาวรีย์แห่งนี้ยังเป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของกรุงเทพมหานครและประเทศไทยอีกด้วย

พิธีก่อฤกษ์อนุสาวรีย์ได้ถือฤกษ์วันชาติไทยในขณะนั้นคือ 24 มิถุนายน 2482 โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธานในพิธีมณฑล ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในเวลา 9 นาฬิกา 16 นาที เสร็จสิ้นเมื่อเวลา 9 นาฬิกา 57 นาที

ความหมายและส่วนประกอบของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

สถาปัตยกรรมอันเป็นมรดกจากคณะราษฎร์แห่งนี้ มีรายละเอียดการออกแบบที่ถอดมาจากตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งตามข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์รัฐสภา ระบุไว้ 5 สิ่ง ดังนี้

  1. ปีกทั้ง 4 ด้านของอนุสาวรีย์ สูงจากแท่นพื้น 24 เมตร รัศมียาว 24 เมตร หมายถึงวันที่ 24 มิถุนายน วันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
  2. ปืนใหญ่ 75 กระบอกโดยรอบหมายถึง พ.ศ. 2475 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
  3. ภาพดุนที่ฐานปีกหมายถึง ประวัติการดำเนินงานของ “คณะราษฎร” ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
  4. พานรัฐธรรมนูญตั้งบนป้อมกลางสูง 3 เมตรหมายถึงเดือนที่ 3 คือเดือนมิถุนายน เดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (เดิมการนับปีใหม่ เริ่มจากเดือนเมษายน เป็นเดือนที่ 1)
  5. พระขรรค์ 6 เล่ม ประกอบบานประตูรอบป้อมกลางหมายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร อันเป็นนโยบายของคณะราษฎร ได้แก่ หลักเอกราช หลักความปลอดภัย หลักเศรษฐกิจ หลักเสมอภาค หลักเสรีภาพ และหลักการศึกษา
ภาพจากเว็บไซต์ https://parliamentmuseum.go.th/

ประชาธิปไตยแบบคณะราษฎร

เว็บไซต์ศูนย์สารนิเทศกรุงเทพมหานครเผยแพร่บทความเรื่อง ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยจาก 4 อนุสาวรีย์ เรียบเรียง โดย กุลธิดา สามะพุทธิ มีเนื้อหาที่กล่าวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยว่า เพื่อความเข้าใจถึงที่มาของอนุสาวรีย์แห่งนี้ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อดีตหนึ่งในผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เล่าว่า การปฏิวัติ 2475 ไม่ใช่การปฏิวัติที่เกิดขึ้นแล้วสิ้นสุดเลย แต่ยังคงมีการต่อสู้ ยื้อแย่ง มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ในระบบการเมืองไทยอยู่นานพอสมควร

กบฏบวรเดชที่เกิดขึ้นในปี 2476 ก็เป็นปรากฏการณ์สำคัญปรากฏการณ์หนึ่งของการต่อสู้ระหว่างอำนาจหลายฝ่ายนี้ โดยเฉพาะระหว่างฝ่ายที่คัดค้านคณะราษฎร และไม่เห็นด้วยกับระบบหลัง 2475 กับฝ่ายที่สนับสนุนการปฏิวัติ 2475 แม้แต่การที่รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติเมื่อปี 2478 ก็ยังอยู่ในบริบทของการที่อำนาจอย่างน้อย ๆ สองฝ่ายหลัก คือฝ่ายที่สนับสนุนกับคัดค้านการปฏิวัติ 2475 ต่อสู้กัน

แต่เหตุการณ์ที่ ดร.ธงชัยเห็นว่าเป็นจุดสุดท้ายหรือจุดสิ้นสุดของการเผชิญหน้ากันระหว่างสองฝ่าย ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงปี 2475-2781 คือ การประหารนักโทษการเมือง 18 คน โดยคำสั่งของรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม ในช่วงวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2482 และหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่นาน คณะรัฐบาลก็ได้มีมติให้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้น

“การที่จอมพล ป. เถลิงอำนาจเป็นจอมเผด็จการ ได้ชัยชนะเหนือฝ่ายคัดค้านการปฏิวัติ 2475 ค่อนข้างเด็ดขาด อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงเกิดขึ้นภายใต้บริบทที่รัฐบาลกำราบอำนาจเก่าได้อย่างสิ้นซาก อย่างน้อยในสายตาของจอมพล ป. และฝ่ายสนับสนุนการปฏิวัติก็เห็นว่า เมื่อถึงช่วงต้น ๆ ของปี 2480 นั้น ความตึงเครียดที่เกิดจากการปะทะกับฝ่ายอำนาจเก่าถึงจุดที่ค่อนข้างเด็ดขาด ไม่มีทางที่จะรื้อฟื้นกลับมาเป็นแบบเดิมได้อีกแล้ว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่จอมพล ป. สร้างขึ้น จึงเป็นสัญลักษณ์ของการสถาปนาประชาธิปไตยแบบคณะราษฎรที่มีทหารเป็นแกนนำ”