ธนาธร ดีเดย์ เปิดตัว “O2P” เตรียมผลิตกว่า 100 เครื่อง ช่วยผู้ป่วยโควิด 

ประธานคณะก้าวหน้า เปิดตัวเครื่อง O2P เพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจนในอากาศ เตรียมเข้าไลน์การผลิตกว่าร้อยเครื่อง เปิดข้อมูลให้ผู้ผลิตรายอื่นไปต่อยอดช่วยชีวิตคน 

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จัดเฟซบุ๊กไลฟ์รายการ “คิดไปข้างหน้ากับธนาธร” เปิดตัวเครื่อง O2P (Oxygen to People) หรือเครื่องเพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจนในอากาศ ที่บัดนี้ทดสอบการใช้งานได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ พร้อมเข้าสู่กระบวนการผลิตแล้ว 

ทั้งนี้ โครงการ O2P ของเราเริ่มต้นเมื่อประมาณ 3 สัปดาห์ที่แล้ว ที่ตนได้ไปเห็นเฟซบุ๊กโพสต์ของ พ.ต.ต.ชวลิต เลาหะอุดมพันธ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งได้โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตเครื่องออกซิเจน ที่สามารถช่วยชีวิตคนได้ เนื่องจากปัจจุบัน ออกซิเจนถังที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ไม่สามารถผลิตออกซิเจนเองได้

และเมื่อใช้หมดก็ต้องนำกลับไปเติมใหม่ ทำให้เกิดปัญหาการขนส่งออกซิเจนให้ถึงตัวผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าเรามีเครื่องมือที่สามารถเพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจนในอากาศได้ทันที ก็จะทำให้สามารถลดภาระการขนส่งนี้ลงไปได้

ตนจึงได้ปรึกษากับ พ.ต.ต.ชวลิต ว่าตนและคณะก้าวหน้าน่าจะมีศักยภาพพอที่จะทำได้ จากนั้นจึงได้นำองค์ความรู้ที่มีการเปิดไว้ในลักษณะ open source โดยสมาคมเมกเกอร์แห่งประเทศไทย มาต่อยอดกับสิ่งที่ พ.ต.ต.ชวลิตคิดไว้แล้วเริ่มทำการทดลอง

เราเริ่มสั่งซื้ออุปกรณ์ประกอบขึ้นมาเป็นต้นแบบ ใช้เวลาประมาณ 3-4 วันแล้วจึงทำการทดสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อหาผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โดยลักษณะการทำงานของเครื่อง O2P จะมีตัวปั๊มลมอัดอากาศเข้าสู่ระบบ ไปผ่านกระบอกซึ่งอัดไว้ด้วยสารเคมีที่ชื่อซีโอไลต์ 

ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับไนโตรเจน อากาศที่ปกติมีไนโตรเจน 70% และออกซิเจนประมาณ 20% เมื่อผ่านกระบอกซีโอไลต์ก็จะถูกดูดไนโตรเจนออก กลายเป็นอากาศที่มีค่าออกซิเจนเข้มข้นเกิน 90% พร้อมใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดที่มีภาวะปอดอักเสบรุนแรงจนเนื้อปอดไม่สามารถดูดซับออกซิเจนได้เต็มที่หากหายใจโดยใช้อากาศปกติ

สิ่งที่เราได้ทำก็คือการหาปริมาตรกระบอกสูบที่เหมาะสมกับแรงดันและจำนวนซีโอไลต์ เพื่อให้สามารถกักเก็บไนโตรเจนได้ในสัดส่วนที่เหมาะสม ที่ผ่านมาเราพยายามหาปัจจัยที่เหมาะสมที่สุด ให้สอดรับกับการเปิด-ปิดของวาล์วแต่ละตัวและอากาศที่อัดเข้าไปในกระบอกสูบลม ให้กระบอกสูบลมทำงานอย่างสัมพันธ์กัน เพื่อให้ค่าออกซิเจนออกมาดีที่สุด 

“เราใช้เวลาตรงนี้ประมาณสองอาทิตย์ จนเมื่อ 3-4 วันที่แล้ว เราสามารถผลักดันค่าออกซิเจนให้อยู่ในระดับที่มากกว่า 90% ที่เป็นมาตรฐานของเครื่องเพิ่มความเข้มข้นออกซิเจนในอากาศ ซึ่งเราทำสำเร็จแล้ว ณ วันนี้” นายธนาธรกล่าว

นายธนาธรกล่าวว่า เมื่อทดสอบอุปกรณ์สำเร็จแล้ว จึงได้เริ่มพยายามติดต่อหาซื้อซีโอไลต์เพื่อเตรียมทำการผลิตในปริมาณมาก พบว่าซีโอไลต์ชนิดที่ต้องใช้นี้มีบริษัทต้นทางผลิตอยู่ที่ประเทศจีน ภายในปลายสัปดาห์หน้าน่าจะสามารถนำเข้าซีโอไลต์ชนิดนี้จากประเทศจีนได้ 

โดยขณะนี้ เครื่อง O2P ผ่านการรับประกันคุณภาพว่าสามารถผลิตอากาศที่มีออกซิเจนเข้มข้นไปถึงระดับที่  90% ขึ้นไป มีความเสถียรแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการหาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีคุณภาพและมีราคาที่สมเหตุผล เพื่อเอามาประกอบเป็นจำนวนมาก เตรียมแจกจ่ายให้กับประชาชนต่อไป ซึ่งน่าจะใช้เวลาในระยะนี้อีกสักหนึ่งสัปดาห์

หลังจากนั้น สิ่งที่ตนอยากจะทำต่อก็คือการเปิดข้อมูลชุดนี้ให้เป็นสาธารณะ เนื่องจากว่าเราไม่ได้คิดค้นเครื่อง O2P นี้ขึ้นมาเองตามลำพัง แต่ตั้งต้นมาจากข้อมูลสาธารณะ เมื่อทำสำเร็จเราก็จะไม่เก็บความรู้นี้ไว้ แต่จะเปิดเผยความรู้และการทดสอบที่เราทำมาทั้งหมดให้กับสาธารณชนเข้าถึงได้

“หลังจากนั้น ใครที่มีทรัพยากรพอ อยากจะเอาเครื่อง O2P ไปผลิตต่อ ก็สามารถทำได้เต็มที่ ช่วยกันผลิตคนละไม้คนละมือ ก็จะสามารถทำให้เครื่อง O2P นี้ออกสู่ตลาดได้ในปริมาณที่มากขึ้น สามารถช่วยชีวิตผู้คนได้มากขึ้น ต้องขอบคุณทางสมาคมเมกเกอร์แห่งประเทศไทยที่เปิดข้อมูลชุดนี้ออกมาเป็น open source เราไม่ได้คิดค้นเองเพียงลำพัง แต่เริ่มต้นเราหยิบ open source มาพัฒนาต่อ เมื่อเราพัฒนาสำเร็จเราก็ open source ต่อเพื่อให้สังคมนำไปต่อยอดได้อีก” นายธนาธรกล่าว

นายธนาธรกล่าวอีกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในรอบปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นจุดอ่อนที่สำคัญของระบบสาธารณสุขไทย นั่นก็คือเครื่องมือ ยา วัคซีน อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ประเทศไทยล้วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศแทบจะทั้งหมด เป็นจุดอ่อนในด้านความมั่นคงทางการแพทย์ของประเทศเรา

ตนวังว่าจะมีคนเอาความรู้ตรงนี้ไปสร้างเครื่องมือทางการแพทย์ต่อยอด ทำให้เกิดการพัฒนาทั้งซัพพลายเชน ทำให้เกิดเทคโนโลยีที่เป็นของคนไทย ทำให้เกิดการจ้างงาน เครื่องมือทางการแพทย์เป็นอุปกรณ์ที่มีมูลค่าสูง หมายความว่าเราจะสามารถจ้างงานที่มีคุณภาพ 

งานที่สามารถจ่ายผลตอบแทนให้กับพนักงานในอัตราที่สูงได้ ถ้าเราทำเช่นนี้ได้ เราก็จะเกิดซัพพลายเชนใหม่ จะเกิดองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นของคนไทยเอง และจะทำให้คนมีงานทำมากขึ้น ทำให้ระบบสาธารณสุขของเรามั่นคงพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น นั่นก็คือเป้าหมายระยะไกลที่ผมอยากจะเห็น