โฆษกศาลแจง4ข้อ โต้”ศิริชัย”อดีตปธ.ศาลอุทธรณ์ ลั่นตั้งปธ.ศาลฎีกา”ตามระเบียบ-หลักประกันจ่ายสำนวน”

นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 19 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศาลอาญา นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม แถลงข่าวจากกรณีนายศิริชัย วัฒนโยธิน อดีตประธานศาลอุทธรณ์ แถลงข่าวการลาออกจากราชการศาลยุติธรรม เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรมและองค์กรภายในของศาลยุติธรรม โดยสาธารณชนสมควรที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้

1.ประเด็นการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการกลั่นกรองเสนอความเห็นของคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) นั้น อ.ก.ต.ประจำชั้นศาลจะประกอบด้วยข้าราชการตุลาการในแต่ละชั้นศาล จำนวน 7 คน รวม 21 คน ล้วนแต่เป็นผู้มีตำแหน่งสำคัญในแต่ละชั้นศาล การดำเนินการกลั่นกรองเสนอความเห็นของ อ.ก.ต. จะต้องดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมและระเบียบคณะกรรมการศาลยุติธรรม ว่าด้วยองค์ประกอบ หลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง และวิธีดำเนินงานของคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2554 ในการปฏิบัติหน้าที่ของ อ.ก.ต. เป็นการประชุมโดยอิสระ เช่น การอภิปราย แสดงความคิดเห็นการออกเสียงลงคะแนน และตีความ ทั้งนี้ อ.ก.ต. ได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความเหมาะสมของนายศิริชัยในการดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาในด้านการบริหารจัดการสำนวนคดี และได้ให้โอกาสนายศิริชัยชี้แจงถ้อยคำถึง 2 ครั้ง ตลอดจนยังได้ให้โอกาสนายศิริชัย เสนอพยานบุคคลและพยานหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องจนสิ้นกระแสความ มิได้เป็นการรวบรัดแต่อย่างใด ที่ประชุมออกเสียงลงคะแนนด้วยมติเสียงข้างมากถึง 19 ต่อ 1 ของจำนวนอนุกรรมการที่มาประชุม เห็นว่านายศิริชัยไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา

2.ประเด็นการพิจารณาลงมติของ ก.ต.ที่ไม่สามารถทบทวนมติได้นั้น ก.ต. ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการ กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 12 คน เป็นข้าราชการตุลาการในชั้นศาลฎีกา 6 คน ชั้นศาลอุทธรณ์4 คน และชั้นศาลชั้นต้น 2 คน และยังมี ก.ต. อีก 2 คน ซึ่งวุฒิสภาเลือกจากบุคคลที่มิได้เป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม บุคคลดังกล่าวล้วนเป็นผู้ทรงเกียรติและดำรงตำแหน่งสำคัญ ไม่มีบุคคลใดที่จะมาแทรกแซงได้ ในการพิจารณาลงมติของ ก.ต. กระทำโดยเปิดเผยและสามารถตรวจสอบรายงานการประชุมของ ก.ต. เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้ อันเป็นหลักประกันแก่ข้าราชการตุลาการทุกคนที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม แม้การดำเนินงานตามมติของ ก.ต. ในเรื่องการเลื่อนตำแหน่งจะไม่สามารถทบทวนได้ แต่ได้มีการกลั่นกรองข้อเท็จจริงจาก อ.ก.ต. จำนวนถึง 21 คน มาแล้ว หลักการดังกล่าวนี้ศาลยุติธรรมใช้มาอย่างยาวนาน และได้รับการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ไม่อาจทบทวนความเป็นอิสระโดยองค์กรอื่นได้ ในการออกเสียงลงคะแนนยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ 14 ต่อ 0 ของจำนวน ก.ต. ที่เข้าประชุม ไม่เห็นชอบให้นายศิริชัยดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา อีกเช่นกัน (เนื่องจากนายชีพ จุลมนต์ ก.ต. ชั้นศาลฎีกา ออกจากห้องประชุม) และเมื่อ ก.ต.ไม่ให้ความเห็นชอบแล้ว เลขานุการ ก.ต. ต้องเสนอผู้ที่มีอาวุโสลำดับถัดไป ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ 2543 ต่อไป จึงมิได้เป็นการเสนอชื่อที่มิได้เป็นไปตามลำดับอาวุโสแต่อย่างใด

3.ประเด็นการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในชั้นต้น เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาในชั้น อ.ก.ต. และในชั้น ก.ต. ในเรื่องความไม่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาของนายศิริชัย มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าเป็นการกระทำผิดวินัย จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของ ก.ต. ที่จะต้องดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้เช่นเดียวกับข้าราชการตุลาการรายอื่น มิฉะนั้นอาจถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการสอบข้อเท็จจริงในชั้นต้น นายศิริชัย มีสิทธิที่จะเสนอข้อเท็จจริงได้อย่างเต็มที่และหากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่มีมูลเป็นความผิดวินัย คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงก็ต้องเสนอยุติเรื่อง แต่หากมีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แม้ภายหลังนายศิริชัยจะพ้นจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการไปแล้ว คณะกรรมการก็ยังสามารถดำเนินการทางวินัยสอบสวนหรือพิจารณาลงโทษได้เสมือนผู้นั้นยังมิได้พ้นจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการ ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543

และ 4.ประเด็นไม่มีกฎหมายรับรองตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกานั้น ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. 2543 นอกจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการตามที่ระบุไว้ในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง เช่น ตำแหน่งประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ฯลฯ ตามวรรคสองของมาตราดังกล่าว คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ยังมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้มีตำแหน่งข้าราชการตุลาการที่เรียกชื่ออย่างอื่นอีกได้ และจะเทียบตำแหน่งใดก็ให้กำหนดไว้ในประกาศนั้นด้วย การกำหนดตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา เทียบเท่ากับตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายทุกประการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการแถลงข่าว นายศิริชัย มองว่าเหมือนถูกกลั่นแกล้ง นายสืบพงษ์ กล่าวว่า การแสวงหาข้อเท็จจริง อนุก.ต.ในการพิจารณา จะมีทั้งฝ่ายที่เสนอข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ที่อ้างว่านายศิริชัยไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ขณะเดียวกันต้องสอบถามนายศิริชัยว่ามีพยานปากใดบ้าง อ.ก.ต.อนุญาตให้มาให้ถ้อยคำทุกคน มีบางปากไม่มาตามกำหนด และนายศิริชัยมีโอกาสให้ถ้อยคำ2ครั้ง การแสวงหาข้อเท็จจริงชั้นอนุก.ต.ถือว่ามากกว่ารายอื่นๆ

เมื่อถามว่าในการแถลงมีบางช่วงบางตอนพาดพิง อ.ก.ต.และก.ต. จะพิจารณาฟ้องร้องดำเนินคดีได้หรือไม่ นายสืบพงษ์ กล่าวว่า คงไม่มี

เมื่อถามว่า สามารถเปิดเผยรายละเอียดพยานหลักฐานได้หรือไม่ นายสืบพงษ์ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งนายศิริชัย อ้างถึงหนังสือสนเท่ห์ ยุติเรื่องแล้ว อีกประเด็นที่อ.ก.ต.พิจารณา ไม่ใช่หนังสือสนเท่ห์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้ง ที่มาถึงอ.ก.ต.คือหลักฐานในสำนวน พยานหลักฐานได้มาจากอ.ก.ต.ทั้ง 3 ชั้นศาลมีหนังสือเรียกไปที่ศาลอทุธรณ์ มีทั้งพยานเอกสารที่รับกันทั้งสองฝ่าย คือสำนวนความ การเพิกถอนสำนวนและโอนสำนวน ประกอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องโอนสำนวน เป็นการแสวงหาข้อเท้จจริงของ อ.ก.ต.

เมื่อถามว่า ในการโอนสำนวน การเพิกถอนสำนวน มีระเบียบชัดเจนไหม นายสืบพงษ์ กล่าวว่า มีพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 33 ประกอบระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ หลักการเรียกคืนสำนวนทำได้ต่อเมื่อองค์คณะพิจารณาคดีล่าช้า ขัดกฎหมาย กระทบกระเทือนความยุติธรรม และอื่นๆ เมื่อผู้ที่มีลำดับรองทำความเห็นว่ากระทบกระเทือนจะสั่งให้คืนสำนวน และจ่ายสำนวนอีกครั้ง เมื่อจ่ายสำนวนให้องค์คณะใหม่ทำได้เพียงครั้งเดียว เว้นแต่มีเหตุจำเป็นไม่อาจก้าวล่วงได้ ส่วนการที่ผลคำวินิจฉัยที่ไม่ตรงกันนั้น สามารถโอนสำนวนไปได้หรือไม่ เป็นประเด็นที่มีการพิจารณาในชั้นอ.ก.ต.และก.ต. จริงๆแล้วในการพิจารณาจะทำได้ในเรื่องการตาย หรือผู้พิพากษารายใหม่พิจารณาคดีล่าช้า ไม่ได้หมายถึงผู้พิพากษาพิจารณาไม่ตรงกันและโอน หรือส่งต่อได้เรื่อยๆ มีระเบียบชัดเจน ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อถามว่า นายศิริชัยบอกว่ามีผู้พิพากษาไม่สะดวกใจรับสำนวน จึงโอนต่อ นายสืบพงษ์ กล่าวว่า เป็นการตีความกรณีนี้ จะสอดคล้องกับระเบียบห้ามหรือไม่ เมื่อถามถึงผลเสียของการโอนสำนวน นายสืบพงษ์ กล่าวว่า ภาษาคือการช็อบปี้งองค์คณะ เป็นการก้าวล่วง เป็นหลักการสำคัญที่ต้องไม่สามารถแทรกแซงได้

เมื่อถามว่า หากผลสอบข้อเท็จจริงพบว่านายศิริชัย ไม่ผิด ต้องเยียวยาหรือไม่ นายสืบพงษ์ กล่าวว่า ต้องพิจารณากันต่อไป เบื้องต้นยุติว่าไม่เหมาะนั่งประธานศาลฎีกา เมื่อถามว่า มีการเมืองภายในเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ นายสืบพงษ์ กล่าวว่า ในก.ต. มีผู้พิพากษา15ท่าน มีประะานศาลฎีกา และตุลาการ แต่ละคนมีเกียรติ ศักดิ์ศรี คงไม่สามารถให้ใครแทรกแซงวิ่งเต้นได้ เป็นไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน ผลลัพธ์จึงเป็นคำวินิจฉัยตามข้อกฎหมาย

เมื่อถามว่า การสั่งสอบข้อเท็จจริง นายศิริชัย ระบุว่ามีผู้พิพากษามาเสนอให้เลือกว่าจะย้ายไปตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส หรือที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา กระทบกับศาลหรือไม่ นายสืบพงษ์ กล่าวว่า ไม่มีผลอะไร ต้องเห็นใจในระดับหนึ่ง เมื่อ ก.ต.พิจารณาเห็นว่าไม่เหมาะสมดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา และมีเหตุอันสงสัยว่าจะทำผิดวินัย หากอยู่ในศาลอุทธรณ์ต่อไป อาจทำให้เกิดข้อเสียหาย กับศาลอุทธรณ์ รวมถึงศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุดของประเทศ หากมีเรื่องการโอนสำนวน จะเสียหาย

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ไม่ให้นายศิริชัยดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ต่อไป นายสืบพงษ์กล่าวว่า เราต้องการหลักประกันในอนาคตเรื่องการจ่ายและโอนสำนวน

เมื่อถามว่า นายศิริชัยอ้างว่าสามารถใช้มาตรา 44 ตรวจสอบได้ นายสืบพงษ์กล่าวว่า เป็นความเห็นของท่าน ทางฝ่ายตุลาการยืนยันหลักการ เราเคารพองค์กรของเรา ทำหน้าที่หลักประกันอิสรภาพ

ถามตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา เหมือนตำแหน่งแขวน ในอนาคตจะมีหรือไม่ นายสืบพงษ์กล่าวว่า เป็นอำนาจ ก.ต.ตามมาตรา 11 กำหนดตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา เทียบเท่าประธานศาลอุทธรณ์ เมื่อประกาศราชกิจจานุเบกษา จะมีผลใช้เป็นการทั่วไป ส่วนกี่ตำแหน่ง ก.บ.ศ. ลงมติ 1 ตำแหน่ง ส่วนการจะบรรจุใครในอนาคตก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง

 


ที่มา : มติชนออนไลน์