วาระขัดแย้ง สนิมในรัฐบาล ศึกในฝ่ายค้าน ในกระแสอภิปรายไม่ไว้วางใจ-แก้ รธน.

ในพายุการเมือง-ศึกใหญ่ที่กำลังมาถึง คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ่วงรัฐมนตรีในองคาพยพอีก 5 คน

กับเกมแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปรับระบบสูตรเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวใน “กติกา” การเลือกตั้ง 2560 มาใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ตามสูตรรัฐธรรมนูญ 2540+2550

เป็น 2 วาระใหญ่ทางการเมืองที่นักการเมืองเตรียมตัวประดาบกันในสภาผู้แทนราษฎร ไม่เพียงแค่พรรคขั้วรัฐบาลปะทะซีกฝ่ายค้าน ชิงแต้มผลประโยชน์-จำนวนมือในสภากันแค่ 2 ขั้วข้าง

หากแต่ในกลุ่มก้อน พรรครัฐบาลกับพรรครัฐบาลก็ยังเปิดชามเกาเหลา สร้างรอยแค้นระดับเล็ก ๆ ไปถึงระดับแตกเป็นเสี่ยง ๆ เช่นเดียวกับศึกในฝ่ายค้านที่ “เปิดหน้าชก” กันให้สังคมเห็นเป็นประจักษ์ น่าจับตาพอ ๆ กับเนื้อหาสาระการอภิปราย

เกาเหลาประยุทธ์-ภูมิใจไทย

ส่องเกาเหลาชามโต ชามแรกที่สะท้อนภาพความขัดแย้งภายในซีกรัฐบาลหนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์กับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มี “อนุทิน ชาญวีรกูล” เป็นหัวหน้าพรรค ที่สถาปนาเป็น “พรรคใหญ่” เบอร์ 2 ในซีกรัฐบาล

เพราะในฐานะที่ “พล.อ.ประยุทธ์” สวมหัวโขนผู้อำนวยการ ศบค. ซึ่งมีทีมที่ปรึกษาเป็นปรมาจารย์ทางการแพทย์ กับ “อนุทิน” สวมบท รมว.สาธารณสุข กระทรวงหมอเป็นขุมกำลัง ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำงานของทั้ง 2 หัวโขน 2 บทบาท อยู่บนภาพแห่งความไม่บูรณาการ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการโควิด-19 การจัดการวัคซีน

โควิด-19 ผ่านมา 1 ปีกว่า ๆ ความไม่ลงตัวยังมีให้เห็น เช่น ปมจัดซื้อ Antigen Test Kit (ATK) 8.5 ล้านชุด ขององค์การเภสัชกรรม ที่จัดการประมูลจนได้บริษัทที่ชนะการประมูลชุดตรวจ ATK ซึ่งเป็นยี่ห้อที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

แต่กลับปรากฏ “ข้อสั่งการ” ของนายกรัฐมนตรีออกมาภายหลังการประมูล กลายเป็น “กับดัก” ให้การจัดหา ATK ที่ WHO รับรอง อยู่ในจุดที่ลงตัวลำบาก

กระนั้นแม้ “อนุทิน” ยืนยันไม่ถอดใจลาออกจากรัฐบาล แต่อากัปกิริยาลูกพรรคภูมิใจไทย ที่อภิปรายในสภา เชิง “น้อยใจ” พล.อ.ประยุทธ์ในหลาย ๆ ครั้ง แม้ไม่ใช่ “อนุทิน” พูด ก็เหมือนพูดเอง

แหล่งข่าวจากภูมิใจไทยบอกว่า ที่คนในพรรคภูมิใจไทยออกมาแสดงความรู้สึกต่าง ๆ เพราะหัวหน้าพรรคโดนเยอะแล้ว ข้อเท็จจริงนายอนุทินไม่ได้มีหน้าที่อะไรเลย เพราะความรับผิดชอบแก้ปัญหาโควิด-19 ใน กทม.ก็เป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. ส่วนจังหวัดก็ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด และ ศบค.

“นายกฯก็รู้ เพราะขุนพลตัวหลัก ๆ ในสภาของภูมิใจไทยพูด ก็เหมือนนายอนุทินพูดเอง ท่าทีของนายกฯในบางเรื่องก็ดูอ่อนลง”

ศึกพรรคร่วมในเกม แก้ รธน.

ไม่ใช่เพียงศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่น่าจับตา “เกาเหลาชามโต”

แต่ศึกการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็เกิดคลื่นใต้น้ำหลายระลอก ระหว่างพรรครัฐบาล และแยกย่อยในพรรคพลังประชารัฐด้วยกันเอง จากกรณีเปลี่ยนกติกาจากบัตรเลือกตั้งใบเดียวตามกติการัฐธรรมนูญ 2560 มาสู่กติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540+2550 เลือกคนที่ใช่-พรรคที่ชอบ

พรรคภูมิใจไทยซึ่งได้เปรียบจากกติกาเลือกตั้งบัตรใบเดียว เพราะสามารถอัพเกรดพรรคกลาง 30 เสียงเศษในกติกาเลือกตั้งปี 2550 ขยับมาเป็น 52 เสียง หลังการเลือกตั้ง 2562 ไม่แฮปปี้หากเปลี่ยนกติกามาเป็นเลือกตั้งบัตรใบเดียว

และยังเชื่อว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในชั้นกรรมาธิการที่มี “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพรรคพลังประชารัฐ แท็กทีมแก้เนื้อหาร่วมกับกรรมาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และกรรมาธิการพรรคเพื่อไทย ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

เพราะมีการหยิบหลักการของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ ที่สภาตีตกไปแล้ว มา “สอดไส้” ใส่ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่พิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ก่อนนำเข้าสู่วาระ 2 และ 3

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐเอง ใช่ว่าเป็น “คีย์เดียวกัน” ในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะเริ่มมี ส.ส.ขาใหญ่ในพลังประชารัฐหลายราย ส่งสัญญาณถึงระดับแกนนำฝ่ายนิติบัญญัติขั้วต่าง ๆ ปล่อยข่าวทั้งใน-นอกสภา ต้องการให้ “ล้ม” กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแบบรัฐธรรมนูญ 2540+2550

โดยต้องการให้กลับมาใช้ระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว ที่เป็นกติกาเลือกตั้งในปัจจุบัน หรือเปลี่ยนระบบเป็นเลือกตั้งบัตรสองใบแบบ MMP ของเยอรมนี ตามสูตรที่พรรคก้าวไกล พร้อมกับดึง ส.ว.แห่งสภาลากตั้ง มาเป็น “กองหนุน” จึงไม่แปลกที่มีการโยนหินจาก ส.ว.บางรายที่เสนอไปใช้ระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบแบบ MMP

แหล่งข่าววงในเกมแก้รัฐธรรมนูญของ “พลังประชารัฐ” ยืนยันคำสั่ง “เบื้องบน” ว่า กติกาเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมต้องเป็นระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ แบบ 2540+2550 เท่านั้น ส่วน “คลื่นใต้น้ำ” ที่ต้องการระบบเลือกตั้งนอกเหนือจากนี้ เป็นเสียงส่วนน้อย ไม่เกิน 5 ราย ที่พยายามเคลื่อนไหวอยู่

เพื่อไทยเปิดศึกก้าวไกล

แต่ที่ไม่ “อึมครึม” แต่ “ชัดเจน” คือพรรคฝ่ายค้าน เปิดชามเกาเหลากันแบบไม่ไว้หน้า หลายครั้ง-หลายยก

ตั้งแต่ยกแรก ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งที่ 1 เมื่อกุมภาพันธ์ 2563 ครั้งนั้น พรรคอนาคตใหม่ที่กลายเป็น “อดีต” ไปหยก ๆ เพราะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ออกมา “ตำหนิ” พรรคเพื่อไทย ที่ขุนพลพรรคเพื่อไทยลุกขึ้นอภิปรายจนหมดเวลา ไม่เหลือให้ ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ ได้อภิปราย

ทั้งที่รัฐมนตรีที่อยู่ในบัญชีผู้ถูกอภิปราย เช่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็รอดตัวไปอย่างหวุดหวิด

พรรคเพื่อไทย-ก้าวไกลก็เป็นมวยคู่เอกในยกที่สอง เรื่องการที่คณะกรรมาธิการงบประมาณ 2565 ของพรรคเพื่อไทย ร่วมลงมติเป็น “เสียงข้างมาก” แปรญัตติงบประมาณที่ถูก “รีดไขมัน” จากกระทรวงต่าง ๆ วงเงิน 16,362,010,100 บาท โอนกลับไปให้ในงบฯกลาง ในหมวด “ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019”

ก้าวไกลลากพรรคเพื่อไทยขึ้นไปวิจารณ์ในฟลอร์แถลงข่าว รวมถึงคลับเฮาส์ ว่ากำลัง “ตีเช็คเปล่า” ให้รัฐบาลเอางบฯไปใช้โดยไม่มีการตรวจสอบ ร้อนถึงพรรคเพื่อไทยต้องออกมาปฏิเสธกันฝุ่นตลบ

เรื่องผ่านไปไม่ถึง 2 สัปดาห์ พรรคเพื่อไทย-ก้าวไกลก็เปิดศึกกันอีกรอบ คราวนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ตีตกชื่อ “พล.อ.ประวิตร”

“ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ยืนยันว่าพรรคเสนอชื่อ “บิ๊กป้อม” จนนาทีสุดท้าย แต่ถูก “ตีตก” โดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ด้าน “ภูมิธรรม เวชยชัย” ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน ได้ทวีตข้อความตอบโต้ “อย่าใช้วิธีเล่าคลาดเคลื่อนข้อเท็จจริงฝ่ายเดียว คงทำงานกันยาก” ที่สุดถึงขั้นนัดเคลียร์ความหมางใจกันผ่านรายการโทรทัศน์

ทักษิณ กรรมการห้ามศึก

ต้องปล่อยให้ “โทนี่ วู้ดซัม” หรือทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาห้ามทัพปรามเด็ก ๆ ทั้ง 2 พรรคผ่าน CARE Talk x CARE Clubhouse

“พรรคก้าวไกลต้องใจเย็น ๆ ถ้าทำงานเพื่อหวังสร้างประชาธิปไตย อย่าใจร้อน จะทะเลาะทำไม เรามีภารกิจคือต้องทำงานร่วมกันเพื่อต่อสู้ให้ได้ประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่ด่าประวิตร ธรรมนัสแล้วจะได้ประชาธิปไตย อย่างว่าพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลมีวัฒนธรรมต่างกัน แต่ทั้งคู่ต้องทำงานร่วมกัน อย่าทะเลาะกัน เราโตกันแล้ว”

ชามเกาเหลามีกันทั้ง 2 ฟาก ทั้งที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ-การแก้ไขรัฐธรรมนูญคอยอยู่