รัฐสภา คว่ำญัตติก้าวไกล ประทับตรา กรรมาธิการแก้ รธน.ไม่เกินหลักการ 

รัฐสภา คว่ำญัตติก้าวไกล 374 ต่อ 60 เสียง การแก้ไขรัฐธรรมนูญในชั้นกรรมาธิการ ไม่เกินหลักการ

เมื่อเวลา 14.05 น. วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ 2563 ข้อ 124 

ซึ่งเป็นญัตติที่พรรคก้าวไกลเสนอ โดยเห็นว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  มีการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 83 และ 91 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกินข้อบังคับข้อ 124 ซึ่งชอบด้วยข้อบังคับหรือไม่ 

ทั้งนี้ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอญัตติอภิปรายว่า ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 83 และ 91 ซึ่งการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ มีการแปรญัตติ ตัดทอน แก้ไขเพิ่มเติมเกินเลยไปจากที่รับหลักการเอาไว้ และมีมติเพิ่มบทบัญญัติใหม่ด้วย

ซึ่งหลักการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้เพียง 2 มาตราเท่านั้น ไม่อาจแก้ไขมาตราอื่นที่เกินเลยไปกว่านั้นได้ และรัฐธรรมนูญมาตรา 3 บัญญัติว่ารัฐสภาต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่อาจตีความรัฐธรรมนูญตามอำเภอใจได้  

ดังนั้นจึง ขอเสนอญัตติให้สภาฯ วินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 114 วรรคสองและข้อ 124 เพื่อให้เกิดแนวทางที่ชัดเจนในการใช้ข้อบังคับต่อไป และเนื่องจากปล่อยให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการวินิจฉัยตีความข้อบังคับดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม โดยเฉพาะระบบเลือกตั้ง ส.ส.โดยกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง และอาจส่งผลกระทบภายหลังได้ จึงถือเป็นกรณีสำคัญของแผ่นดิน จำเป็นเร่งด่วนที่ต้องพิจารณา

ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนมีความเห็นว่า การดำเนินการของกมธ.ที่ได้รับมอบอำนาจในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่ชอบด้วยข้อบังคับข้อ 124 เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการนั้นคือร่างที่ถูกเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการเลือกตั้งทั้งระบบจริง ทำไมหลักการที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่วางหลักการให้กว้างขวางกว่านี้

ด้วยเหตุนี้ตนจึงขอโต้แย้ง 2 ข้อ เพื่อให้เห็นว่าร่างนี้ไม่ชอบด้วยข้อบังคับของการประชุมรัฐสภา และไม่ชอบมาพากล คือ 1.ในการรับหลักการวาระที่ 1 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียง 2 มาตรา คือมาตรา 83 และมาตรา 91 ปัญหาที่เกิดขึ้นทันทีคือร่างของ กมธ.กลับมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถึง 9 มาตรา เป็นการแก้ไขที่ขัดต่อหลักการอย่างชัดเจน  

“การแก้ไขหลักการจะเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยที่เรามีการใช้รัฐสภาในปัจจุบัน หากมีการแก้ไขหลักการได้ ต่อไปนี้เราก็ไม่ต้องกำหนดให้มีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น 3 วาระอีกต่อไป เพราะจะมีประโยชน์อะไรที่เมื่อรับหลักการในวาระ 1 ไปแล้ว ในชั้นกมธ.สามารถแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ได้ แบบนี้อย่ามี 3 วาระเลย จะแก้รัฐธรรมนูญกันอย่างไรก็เชิญ ผมอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายได้รู้สึกละอายใจเสียบ้างว่า การทำเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับการสอดไส้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหากับรัฐธรรมนูญ และประเทศไทยต่อไปในอนาคต” นายรังสิมันต์ กล่าว

จวกญัตติก้าวไกล ใช้เปิดช่องโจมตี

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ. อภิปรายว่า ญัตติของนายธีรัจชัย ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 151 แต่เป็นญัตติที่เป็นความเห็นส่วนตัว เพื่อแสดงความเห็นคัดค้านเท่านั้น 

ซึ่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 124 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และมีการบัญญัติมานาน ไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมกมธ.เห็นว่าคำแปรญัตติของสมาชิกที่เสนอมานั้น นอกจากมาตรา 83 และ 91 ยังมีการแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติม ที่เกี่ยวกับหลักการของรัฐธรรมนูญย่อมทำได้ 

งัดความเห็นกฤษฎีกาสู้ 

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ การตีความเรื่องหลักการดังกล่าวมีวิวัฒนาการเป็นระยะ แต่สรุปแล้ว เราจะตีความตามตัวอักษรโดยลำพังก็ไม่ได้ แต่ต้องนำทางปฏิบัติที่ปฏิบัติกันมาอย่างปกติประเพณี ก็จะพบความจริงว่าในช่วงเวลาที่เราเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวกับข้อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 

มักจะมีการนำทางปฏิบัติที่ทำต่อเนื่องกันาเป็นปกติวิสัยมาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ จะพบความจริงว่า แก้ไขเพิ่มมาตราใหม่ขึ้นมาหลายครั้ง หลายหน อยู่ในวิสัยแปรญัตติเพิ่มเติมได้อย่างแน่นอน

ความเห็นของสำนักงานกฤษฎีกา เรื่องแนวทางการเขียนหลักการในร่างพระราชบัญญัติ ได้ยึดถือข้อบังคับการประชุมสภามาโดยตลอด มีแนวทางเดียวกัน คือจะถือหลักมุ่งคำนึงถึงความสมบูรณ์ของบทบัญญัติหลักกฎหมายที่จะบังคับใช้เป็นสำคัญ โดยให้เขียนหลักการโดยระบุเรื่องในสาระสำคัญที่ได้เสนอแก้ไขเป็น กรอบกว้างๆ แต่เพียงพอจะเข้าใจได้ อย่างชัดเจนว่าเป็นการแก้ไขในเรื่องใด อย่างไรเท่านั้นเอง 

“เพื่อจะได้บอกกล่าวอีกครั้งว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม 83 91 ของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นการเสนอหลักการไม่ครบถ้วน คงไม่ถึงขนาดนั้น เแต่เป็นการเสนอหลักการเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าจะแก้ไขเรื่องใด อย่างไร  และเมื่ออ่านเหตุผลประกอบหลักการจะเข้าใจดีว่าเป็นการมุ่งประสงคในการแก้ไขระบบเลือกตั้ง และการแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ทำนองเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550“นายบัญญัติ กล่าว

ส.ว. ห่วงตีความให้เกิดประเพณีใหม่

ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว. ) อภิปรายว่า การตีความข้อบังคับประชุมรัฐสภาข้อ 124 ถ้าจะตีความเป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาผู้ยื่นแปรญัตติเพียงอย่างเดียวก็ขัดกับนิติประเพณีที่ทำกันมา เพราะเป็นอำนาจ กมธ.ด้วย การแปรญัตติไม่ใช่เป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น ถ้ากมธ.ไม่มีอำนาจเสนอแก้ไขแล้ว กมธ.จะมีอำนาจสงวนความเห็นได้อย่างไร 

หลักการข้อบังคับข้อ 124 คือ การแปรญัตติเพิ่มใหม่ต้องไม่ขัดหลักการ เว้นแต่แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวเนื่องกับหลักการ แต่การจะเพิ่มเติมขัดหลักการได้ ต้องทำเฉพาะเท่าที่จำเป็น เฉพาะกรณีถ้าไม่แก้แล้วจะส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ

“ส่วนตัวมองว่า มีมาตราเดียวที่เข้ากับข้อบังคับที่ 124 คือการแก้ไขมาตรา 86 ที่ระบุมีส.ส.เขต 350 คน ถ้าไม่แก้ไขแล้วจะทำให้รัฐธรรมนูญมีปัญหาได้ การไปตีความมาตราที่เกี่ยวเนื่องอย่างกว้าง อาจกระเทือนหลายมาตรา เพราะทุกมาตราเกี่ยวเนื่องกัน ถ้าไปทำให้เกิดประเพณีใหม่ว่า ข้อบังคับที่124 แก้ไขได้กว้างขวาง ในอนาคตอาจเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2-3 มาตรา แต่มีกมธ.ไปแก้ไขเพิ่ม 10-20 มาตรา ข้ามหมวด ข้ามส่วนไป เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงรัฐธรรมนูญหลายมาตรา จึงไม่อยากให้เกิดเหตุเช่นนี้ในอนาคต ฉะนั้น เรื่องนี้ต้องตีความอย่างจำกัดและแคบเท่านั้น” นายคำนูณ กล่าว

หวั่นซ้ำรอย แก้ รธน.ที่มา ส.ว.  

ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. อภิปรายว่า ในปี 2556 มีการยื่นแก้ไขที่มา ส.ว. ให้เป็น ส.ว.เลือกตั้งทั้งหมด โดยส.ส.ก็ยื่นญัตติ ขอแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องวาระดำรงตำแหน่งที่ตอนยื่นแก้ไขไม่ได้ระบุไว้ โดยเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน การขอแก้ไขครั้งหลังจึงไม่ได้ให้เพื่อนที่เข้าชื่อยื่นครั้งแรกมา ร่วมครั้งหลังด้วย เหมือนเหตุการณ์ที่ประสบอยู่ในขณะนี้ คือการเพิ่มญัตติเรื่องคุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง ที่วาระ 1 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเกินหลักการ อีกฝ่ายบอกว่า ส.ว.ด้วยกัน เกี่ยวเนื่องกันหมด

“เป็นอุทธาหรณ์ของพวกเราในการระมัดระวังใช้สิทธิแก้กฎหมายหรือเพิ่มเติมกฎหมาย ไม่ว่ายื่นแปรญัตติหรือใช้สิทธิของกรรมาธิการ อยากเห็นมาตรฐานในการวินิจฉัยกฎหมายของรัฐสภา ยืนอยู่บนผลประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนตามรัฐธรรมนูญวาร 3” นายสุรชัย กล่าว

ท่วมท้น แก้ รธน.ไม่เกินหลักการ

ต่อมา นายชวนได้สรุปญัตติ ให้รัฐสภามีการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 83 และ 91 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกินข้อบังคับข้อ 124 ซึ่งชอบด้วยข้อบังคับหรือไม่ ทำให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย และ นายไพบูลย์ ลุกขึ้นทักท้วงว่าหากตั้งคำถามเช่นนี้ จะเป็นการชี้ว่าการกระทำของกรรมาธิการชอบด้วยข้อบังคับหรือไม่ 

นายชวน ชี้แจงว่า คำถามอาจจะกระทบใจกรรมาธิการ เพียงแต่ผู้เสนอญัตติเสนอมาอย่างนั้น เพราะเห็นว่า กมธ.แก้ไขกฎหมายเกินกว่าข้อบังคับการประชุม แต่ในอดีตไม่ค่อยมี ถ้าเราได้ฟังนายบัญญัติ ที่เป็น ส.ส.มา 15 สมัย ท่านเข้าใจว่า ยากนักที่จะมีกฎหมายฉบับใดแก้ไขกฎหมายมาตรานั้นแล้วก็จบ แต่จะโยงไปถึงมาตราอื่นๆ

ถ้าไปค้นของเก่าดูจะพบว่ามีลักษณะนี้น้อยมากเพราะ ส.ส.ที่ผ่านมาเข้าใจ ไม่ได้หมายถึงผู้เสนอญัตติไม่เข้าใจ แต่ก็มีสิทธิเสนอญัตติเข้ามา 

กระทั่งในเวลา 18.30 น ที่ประชุมรัฐสภา นายชวน กล่าวว่า สภาต้องรับผิดชอบต่อญัตติ จากนั้น นายชวน ขอเปลี่ยนคำถามว่า เห็นด้วยกับญัตติของธีรัจชัยหรือไม่ โดยที่ประชุมลงมติไม่เห็นด้วย 374 ต่อ 60 เสียง งดออกเสียง 193 เสียง ไม่ลงคะแนน 4 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติ 631 คน  เท่ากับเห็นว่าการดำเนินการของกรรมาธิการฯ ชอบด้วยข้อบังคับ