ชาวสวนยางขอพบ “บิ๊กตู่” 5 นาที แจงปัญหายาง ลั่นยอมผิดกม. ดีกว่าให้ลูกอดตาย

ชาวสวนยางเตือน “บิ๊กตู่” อย่าปล่อยวิกฤตยางพาราเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ลั่นยอมผิดกม. ดีกว่าให้ลูกอดตาย ขอเวลานายกฯ 5 นาที จับเขาคุยชาวสวนยางระหว่างลงพื้นที่ ครม.สัญจร

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ก.พ.) นำโดยนายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายประมาณ 50 คน ได้เดินทางมาที่บริเวณ ประตู 4 เพื่อขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แค่ 5 นาที จากนั้นได้ยื่นหนังสือขอเสนอแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตยางพาราไทยอย่างยั่งยืน เนื่องจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างผิดปกติที่กับตัวแทนภาครัฐที่ ก.พ. ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจล บก.น.6 จำนวน 1 กองร้อย มาคอยดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

โดยนายสุนทรกล่าวว่า แม้ขณะนี้นายกฯ จะอ้างว่าราคายางตกต่ำ สาเหตุที่สำคัญมาจากราคาน้ำมันดิบของโลกถูกลง ทำให้มีการใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น ผลผลิตยางของไทยมีเพิ่มขึ้น แต่การใช้ยางในประเทศกลับน้อยลง เมื่อเทียบกับผลผลิต หรือความไม่เหมาะสมของพื้นที่ปลูกยางนั้น นายกฯจะต้องไม่ฟังข้อมูลวิชาการ ข้าราชการที่ให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนข้างเดียว ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคายางพาราตกต่ำเกิดจากการบริหารงานที่ล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รวมทั้งรมว.ที่เกี่ยวข้องจนนำไปสู่การทุบราคายางโดยพ่อค้า ทำให้เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ผู้ว่าและบอร์ดการยางแห่งประเทศไทยทบทวนการทำงานและแสดงความรับผิดชอบ นอกจากนี้ความเห็นขอนายกฯ ที่จะให้ลดพื้นที่ปลูกยางในภาคเหนือ ด้วยเหตุผลทางวิชาการที่ระบุว่าได้ผลผลิตน้อยก็เป็นการมองมิติเดียว เพราะการทำสวนยางในภาคเหนือช่วยลดปัญหาไฟป่า หากปลูกต้นไม้เพิ่มเพื่อให้เป็นป่ายางในรูปแบบวนเกษตร ก็จะช่วยลดการพังทลายของดิน เพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าการทำไร่ข้าวโพด ซึ่งอาจถูกกล่าวหาว่าเอื้อนายทุน

“ดังนั้นกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพารา เรียกร้องให้ กยท. แก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ แก้ไขประกาศคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อให้คนที่ไม่มีเอกสารสิทธิสามารถจดทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยางได้ รวมถึงให้จัดสวัสดิการให้เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยางในรูปแบบสังคมสวัสดิการระยะเร่งด่วนให้จ่ายเงินคนกรีดยาง รายละ 3,000 บาท เพื่อเยียวยาและช่วยเหลือในช่วงที่ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ขณะเดียวกันขอให้ กยท. ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุญาตให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิรวมกลุ่มกันเป็นชุมชน ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามกฎหมาย โดยมีเงื่อนไขให้ลดต้นยางให้เหลือ 40 ต้นต่อไร่และปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 40 ต้นต่อไร่ หากจะให้การแก้ไขวิกฤตยางพาราไทยอย่างยั่งยืน ภายใต้ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย 2558 ต้องให้เกษตรกรมีส่วน พร้อมทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีนำปัญหานี้ไปคุยกับเกษตรกรชาวสวนยางพารา ในระหว่างการลงพื้นที่ประชุม ครม.สัญจรนอกสถานที่ในวันที่ 27-28 พ.ย.นี้

“ระหว่างที่กำลังเดินทางมา กทม. ได้มีทหารเข้ามาขอกินน้ำชาด้วยถึง 2 ครั้ง ซึ่งทางผมก็ได้แจ้งความประสงค์อย่างชัดเจนแล้วว่า ต้องการมาพบนายกฯ เพียงแค่ 5 นาที ขณะเดียวกันไม่ได้ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ใดๆ แต่อยากให้นายกฯ ทราบว่าชาวสวนยางภาคใต้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทหารได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งระวังอย่าให้วิกฤตยางพารากลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว เมื่อถึงวันนั้น แม้แต่ทำเนียบรัฐบาล ก็ไม่มีกฎหมายใดมากั้นได้ เพราะชาวสวนยางพารายอมที่จะฝ่าฝืนกฎหมายแต่ไม่ยอมให้ลูกอดตาย” นายสุนทร กล่าว

 


ที่มา : มติชนออนไลน์