ยกเครื่องทีมประชาสัมพันธ์โควิด-19 “ประยุทธ์” แก้เกม สื่อสารในภาวะวิกฤต

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวบตึงอำนาจไว้ในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แต่ความ “เด็ดขาดแต่ไม่แน่นอน” ของคำสั่งที่ถูกชักเข้า-ชักออก คำพูดกลับไป-กลับมาทำให้ประชาชนสับสน

การสื่อสารในภาวะวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จึงตกอยู่บนที่นั่งลำบาก

การเปลี่ยนตัว “โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” จาก “อนุชา บูรพชัยศรี” มาเป็น “ธนกร วังบุญคงชนะ” เพื่อปฏิบัติภารกิจต่อสู้กับข่าวปลอมได้มากขึ้น ควบคู่ไปกับบทบาท “องครักษ์พิทักษ์ประยุทธ์”

ทว่า โจทย์ท้าทายที่รอ “โฆษกรัฐบาลคนใหม่” คือการสื่อสารในสภาวะวิกฤตโควิด และหลังจากนี้จะต้องเผชิญกับ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” คือ วิกฤตเศรษฐกิจ-วิกฤตการเมือง

สุดท้ายขึ้นอยู่กับ “โทรโข่งป้ายแดง” ว่าจะกำหนดแนวทางการสื่อสารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในสภาวะวิกฤตไปในทิศทางใด จะเป็นน้ำเย็นหรือน้ำมันรดลงบนกองไฟขัดแย้งให้ลุกโชน

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ “ภาคพลเรือน” เปลี่ยน “โฆษกรัฐบาล” มาแล้ว 3 คนคนแรก “อาจารย์แหม่ม” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็น “คนใน” พรรคแกนนำรัฐบาล เป็นข้อได้เปรียบสื่อสารงานของรัฐบาล-พลังประชารัฐได้อย่าง “ไร้รอยต่อ”

ทว่า ด้วยความ passion ทางการเมืองอย่างแรงกล้า ต้องประกบนายเป็นเงาตามตัว “นฤมล” จึงไม่ได้วางรากฐาน-วางระบบ “กระบอกเสียงรัฐบาล” ให้สามารถประกาศผลงานของรัฐบาลได้กึกก้องเพียงพอ

คนที่ 2 “โฆษกเจมส์” อนุชา บูรพชัยศรี เข้ามาในช่วงเกิดกระแสข่าว “สงครามนางฟ้า” จึงเข้ามาเติมเต็ม “ช่องว่าง” ของระบบคน-ระบบงานในทีมโฆษกรัฐบาล ยกระดับการทำงานของสำนักโฆษกทั้งในระบบออฟไลน์-ออนไลน์

โดยมีแนวรบ-แนวร่วมกับสื่อ “ผอ.นัท” น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี” ฝ่ายข้าราชการประจำ อดีตผู้อำนวยการสำนักโฆษก คอยจัดแจงเวทีให้สัมภาษณ์นักข่าว ส่งข้อมูลด้านบวก-เติมคะแนนให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

แต่ด้วยการเล่นบท “เพลย์เซฟ” หลีกเลี่ยงที่จะตอบโต้ทางการเมือง โฟกัสแต่ “งานรูทีน” ยิ่งต้องสื่อสารในภาวะวิกฤตโควิด ผสมโรงกับปัญหาเศรษฐกิจ-การเมือง ทำให้ “โฆษกเจมส์” ไม่สามารถสร้างความโดดเด่นให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้

แม้จะเปลี่ยนโฆษกรัฐบาลมาแล้วถึง 3 คน แต่งานสื่อสารนโยบายของรัฐบาลยังคงมี “รองโฆษกรัฐบาล 2 สาว” รัชดา ธนาดิเรก-ไตรศุลี ไตรสรณกุล ทำหน้าที่ “ปิดทองหลังพระ” รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อย่างแข็งขัน

นอกจากการ “เปลี่ยนหัว” ทีมโฆษกนารีสโมสรแล้ว ที่ประชุม ศบค.ยังได้เห็นชอบข้อเสนอแนวทางการประชาสัมพันธ์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.)

โดย กปช.ได้สรุปจุดอ่อนในการสื่อสารที่ผ่านมาว่า เป็นการสื่อสารคล้ายการสื่อสารในภาวะปกติ ให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน ทำให้ประชาชนสับสน เกิดทัศนคติเชิงลบจนเกิดความไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล

ศบค.จึงมีมติเห็นชอบตั้ง “ศูนย์บริหารการสื่อสารในภาวะวิกฤต” มีนายอนุชา นาคาศัย “ลูกพี่ธนกร” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าศูนย์ “เสธ.ไก่อู” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อดีตโฆษก ศอฉ.เป็นเลขานุการ

นอกจากนี้ แต่งตั้ง “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ใน กปช.เป็นบรรณาธิการบริหาร ได้แก่ “เกษมสันต์ วีระกุล” เป็นนักวิชาการด้านการสื่อสาร-นักธุรกิจ-นักการเมืองครบเครื่อง

และ “ดร.เสรี วงษ์มณฑา” นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด “ตัวแม่” ยังมีบทบาทเป็นพิธีกร-นักพูด “ฝีปากกล้า” จึงรู้ตื้นลึกหนาบางในแวดวงมายา-ดารา call out

ขณะที่ “ทีมโฆษก ศบค.” ที่มี “หมอทวีศิลป์” นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน เป็นเสาหลัก ก็ถูกบั่นทอนต้นทุนความน่าเชื่อถือลงจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 จนถึงขั้นเกือบถอดใจ-ตัดสินใจลาออก

หลังจากเกิดดราม่าโหลดแอป 
“ไทยชนะ” จนถูกโลกโซเชียลถล่มยับ-
ทัวร์ลง ต้องออกมาขอโทษ เพราะถูกขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ “ล่าแม่มด” ขุดคุ้ยเงินเดือน-เงินประจำตำแหน่ง

นอกจาก “หมอทวีศิลป์” แล้ว ก่อนหน้านี้ยังมี “หมอบุ๋ม” พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ที่ปรึกษานายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็น “ผู้ช่วยโฆษก” รายงานสถานการณ์โควิดประจำวันในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์

ปัจจุบันแม้ “หมอบุ๋ม” จะโบกมือลาโพเดียม ศบค.-ขอยุติบทบาท “ผู้ช่วยโฆษก ศบค.” ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ แต่ยังมี “หมอเบิร์ท” พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ “จิตแพทย์รุ่นน้อง” นพ.ทวีศิลป์ มา “รับไม้ต่อ” หน้าที่ “ผู้ช่วยโฆษก”

นอกจากทีมโฆษกรัฐบาล-ทีมโฆษก ศบค. และ “ศูนย์บริหารการสื่อสารในภาวะวิกฤต” แล้ว ยังมี “วรัชญ์ ครุจิต” อาจารย์นิด้า เป็น “ที่ปรึกษา ศบค.” เป็นกูรูด้านสื่อสารมวลชนตัวยงหาตัวจับยากคนหนึ่ง

ถือว่าเป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” กับ “สื่อคนดัง” บนโลกออนไลน์ มีการแก้ข่าว-แก้ต่างให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่กึ่งตรวจสอบจริยธรรมสื่อ-กึ่งจับผิดมาตรฐานข่าวสื่อโซเชียล

แก้เกมการเมืองผสมโรงป่วนโควิด-ข่าวปลอมท่วมฟีด