ครม.รับทราบโรงงานส่งออก ลงนามเอ็มโอยู แฟกตอรี่แซนด์บอกซ์ 46 แห่ง

โรงงานผลิต-ส่งออก

ครม. รับทราบโรงงานส่งออกลงนามเอ็มโอยู แฟกตอรี่แซนด์บอกซ์ แล้ว 46 แห่ง ตั้งเป้าพยุงส่งออก 7 แสนล้าน รักษาการจ้างงาน 3 ล้านตำแหน่ง

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการนำร่องการป้องกันและการควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งโครงการนี้เป็นการดำเนินการภายใต้แนวคิด “เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข” โดยมุ่งเน้นให้สถานประกอบการ กิจการ โรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่ (แรงงาน 500 คนขึ้นไป) ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19

รัชดา ธนาดิเรก

สำหรับการดำเนินการโครงการแฟกตอรี่แซนด์บอกซ์ในพื้นที่เป้าหมาย จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และชลบุรี ระยะที่ 2 อยุธยา ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ซึ่งจะมุ่งเป้าไปยังกลุ่มสถานประกอบการ 4 ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.ยานยนต์ 2.ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 3.อาหาร และ 4.อุปกรณ์การแพทย์

โดยขับเคลื่อนภายใต้ 4 หลักการสำคัญ คือ 1.ตรวจ ดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR แรงงานในสถานประกอบการทุกคน เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันที และดำเนินการตรวจโดยชุดตรวจ ATK ทุกสัปดาห์

2.รักษา สถานประกอบการจัดให้มีสถานพยาบาลขึ้นดังนี้ 1) สถานแยกกักตัว (Factory Isolation : FAI) และ Hospitel สำหรับผู้ป่วยสีเขียว 2) โรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง และ 3) ICU สำหรับผู้ป่วยสีแดง

3.ดูแล ดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ให้แรงงาน โดยเน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง คนท้อง และออกใบรับรอง “โรงงานสีฟ้า” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน

4.ควบคุมให้สถานประกอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) และมาตรการด้านสาธารณสุข (DMHTT)

เบื้องต้น ข้อมูล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2562 มีสถานการประกอบการร่วมโครงการ โดยลงนามทำข้อตกลง (MOU) แล้วจำนวน 46 แห่ง และมีสถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการ 4 แห่ง สามารถดูแลผู้ประกันได้จำนวน 9.2 หมื่นคน นอกจากนี้ การดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ได้ดำเนินการตรวจเชื้อในสถานประกอบการแล้วจำนวน 11 แห่ง มีผู้ประกันตนที่ได้รับคัดกรอง จำนวน 1.2 หมื่นคน

น.ส.รัชดากล่าวว่า การดำเนินโครงการแฟกตอรี่แซนด์บอกซ์นี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการ 1) รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตส่งออก ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า 7แสนล้านบาท 2) ป้องกันคลัสเตอร์โรงงานจากการติดเชื้อ สร้างสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุขและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ 3.สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ 4.รักษาระดับการจ้างงานในภาคการผลิตส่งออกได้กว่า 3 ล้านตำแหน่ง และจากที่เริ่มดำเนินโครงการ สมาคมผู้ประกอบการญี่ปุ่นในพื้นที่ชลบุรี-ระยอง ได้ทำหนังสือขอบคุณมายังนายกรัฐมนตรีด้วย