ดีลแบบทักษิณ

คอลัมน์สามัญสำนึก
อิศรินทร์ หนูเมือง

ข่าวหนาหูเรื่อง “ทักษิณ ชินวัตร” จะกลับเมืองไทย เริ่มเงียบลงอีกครั้ง เป็นวังวน เหมือนหลาย 10 ปีที่ผ่านมา

ปฐมบทของมหากาพย์การดีลรอบใหม่เปิดฉากจากคลับเฮาส์ ช่วงกลางเดือน ก.ค. “ทักษิณ” ประกาศความพร้อมทั้งสติปัญญา สุขภาพร่างกาย ยินดีให้ความช่วยเหลือ “ขอแค่ประยุทธ์ใช้ผม…โดยไม่ต้องเป็นนายกฯก็ได้” พร้อมอ้างความสัมพันธ์ “รุ่นพี่ รุ่นน้อง” และยกประสบการณ์ “ตอนผมเป็นนายกฯ ประยุทธ์ยศพันเอก อยู่ในวัง เป็นองครักษ์ รู้จักกันดี”

กลางเดือน ก.ค. 64 ที่มีความหมาย และความหวัง ทักษิณมั่นใจถึงขนาดย้ำว่า “กลับ (ไทย) แน่ แต่ขอบอกเวลาทีหลัง” แจ้งนัดหมายมวลชน “พบกันประตูหน้า (สนามบิน) สุวรรณภูมิ”

การเปิดดีลสไตล์ทักษิณ กับ คสช. มีมาต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน ก.พ. 59 ครั้งนั้น เขาให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ 2 แห่ง ส่งสัญญาณชัด ๆ ว่า พร้อมเปิดหน้าเจรจาข้ามฟ้า บอกว่า “อย่ากังวลว่าผมจะคิดแค้น ผมไม่ได้ต้องการเงื่อนไขใด ๆ เพื่อช่วยตัวผม แต่ถ้าท่านมีความตั้งใจที่จะให้ประเทศเดินไปข้างหน้า… ท่านต้องมาพูดคุยกัน”

“ผมเสนอให้มีการเจรจากัน ผมพร้อมแล้ว ผมไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการเจรจา แค่ต้องการให้ประเทศเดินหน้าไปได้”

ทักษิณ เก่งกาจในการใช้สื่อ กระแสหลัก-กระแสรอง เป็นตัวต่อสัญญาณ ทุกครั้งที่ต้องการดีล หรือต้องการยั่ว เย้ย ผู้มีอำนาจ

ย้อนไปตั้งแต่หลังปี’49 ทักษิณใช้ลีลาการดีลสารพัดรูปแบบ มีทั้งลงมือด้วยตัวเอง และผ่านบุคคลสำคัญ นับสิบครั้ง หวังได้ตีตั๋วพิเศษข้ามฟ้ากลับเมืองไทย และมีใบเบิกทางการเมือง

ครั้งแรกไม่ใช่ทักษิณดีลตรง แต่ดีลในนามครอบครัว “ชินวัตร” หลังรัฐประหาร 49 เพียง 1 เดือน มีบันทึกที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ ระบุ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร์ เข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี

ต่อมาช่วง ต.ค. 52 ใช้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ กลับไปสมัครสมาชิกเพื่อไทย เป็นโซ่ข้อกลาง หวังเปิดการเจรจาโชว์คีย์เวิร์ด แก้ปัญหาขบวนการล้มรัฐ ล้มทุน ล้มเจ้า แต่แล้ว พล.อ.ชวลิตก็ลาออก ในเวลาอันสั้น

20 ต.ค. 52 ทักษิณ ทวีตข้อความถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นว่า “พร้อมพูดคุยด้วย เพื่อหาทางออกให้บ้านเมือง” โดยระบุว่า “ฟังคำสัมภาษณ์คุณสุรยุทธ์แล้ว ไม่แน่ใจว่าพูดเอง หรือได้รับอนุญาต ? วันนี้สังคมไทยขัดแย้งกันมามากเกินไปแล้ว reconciliation เป็นเรื่อง long overdue มันเกินกว่าจะเป็นเรื่องของผมคนเดียวแล้ว…ผมคุยกับท่านในฐานะรุ่นน้องที่พูดกับรุ่นพี่”

ในช่วงวิกฤตการเมือง “พฤษภา 53” เกิดการเจรจาต่อเนื่องราว 3 เดือน หลายสถานที่ หลายฝ่าย ระหว่างตัวแทนทักษิณ กับฝ่ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น แต่การเจรจาล้มเหลว โดยฝ่ายหนึ่งอ้างว่า “ฝ่ายทักษิณไม่ยอมรับข้อเสนอ”

ก่อนการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 54 วัฒนา เมืองสุข อดีตแกนนำเพื่อไทย สนทนากับสื่ออ้างมีการเจรจาระหว่างทักษิณ กับตัวแทนอำมาตย์ มีข้อตกลงร่วมกันว่า หากเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง การจัดอำนาจเหล่าทัพ จะยังอยู่ในมือเครือข่าย “ลูกป๋า” ต่อไป โดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ควบกลาโหม

หลังเทศกาลปีใหม่ เดือน ม.ค. 56 บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศตัวอาสาเจรจา “ปรองดอง” กับทุกหัวหน้าพรรค รวมทั้งเปิดชื่อทักษิณ ขึ้นมาในโผดีล แต่ในที่สุดไม่สามารถตั้งเวทีเจรจาได้

กลางปีเดียวกันนั้น ช่วง ส.ค. 56 วันคล้ายวันเกิด พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีคณะของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เข้าพบอวยพร และขอคำแนะนำการปฏิรูปการเมือง เพื่อเจรจากับบุคคลสำคัญทางการเมือง เพื่อหาทางออกให้กับประเทศชาติ

มีการดีลที่ฝ่ายทักษิณ ไม่ยอมรับข้อเสนอ และประกาศสู้กันอีกครั้ง ในช่วงเดือน มี.ค. 57 ในกระแสข่าว อ้างมีการเจรจาลับ ระหว่างฝ่ายทักษิณ กับฝ่ายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ยื่นข้อเสนอให้ยิ่งลักษณ์ลาออก และเว้นวรรคการเมือง แลกกับ กปปส.ยุติชุมนุม

ก่อนการรัฐประหาร “พฤษภา 57” มีความเคลื่อนไหวดีลลับ โดยมีนายวัฒนา ที่มีสถานะเชื่อม “ปราจีนบุรีคอนเน็กชั่น” กับทหาร เสนอเป็นตัวแทนฝ่ายทักษิณ เปิดเจรจากับฝ่ายนายอภิสิทธิ์ และนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ประสานข้อเสนอของสุเทพ และเปเปอร์ปฏิรูปของคำนูณ สิทธิสมาน โดยมีดีลให้ทักษิณกลับบ้าน สู้คดีที่เป็นธรรม แต่นายพลเมืองไทยไม่ตอบรับ

จากนั้น กปปส.เร่งเกม-ต่างฝ่ายต่างไม่เปิดรับดีล จึงจบที่การรัฐประหาร 22 พ.ค. 57

เมื่อไม่มีสัญญาณตอบรับจากคณะ คสช. จนกระทั่งก่อนการเลือกตั้ง มี.ค. 62 ทักษิณแตกพรรคพี่-พรรคน้อง ดันหัวหน้าพรรคทะลุเพดาน จนเกิดแผ่นดินไหวทางการเมือง

ในที่สุด คณะ คสช.ชนะเลือกตั้ง ในนามพรรค พปชร. พล.อ.ประยุทธ์ และนายพล 3 ป. ครองอำนาจต่อ พร้อม ๆ กับเร่งดีกรีคดีความทายาท “ชินวัตร” ทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2 ใน 3 ครั้ง ยังมีดีล งดเว้นอภิปรายซักฟอกนายพลพี่ใหญ่ และเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ เจาะระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

ชื่อทักษิณ ยังอยู่ในบัญชีดีลกับผู้มีอำนาจในเมืองไทย ไปอีกหลายวาระ