เช็คกระแส หนุน – ต้าน – ฟรีโหวต เดิมพันแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 

อาจเป็นอาฟเตอร์ช็อก ต่อเนื่องจากเกมหักเหลี่ยมเฉือนคม ในเกมโค่นบัลลังก์นายกรัฐมนตรี ระหว่างศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 

เพราะสถานการณ์การเมืองอันร้อนแรงหลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะมีเกมโหวต “ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ในวาระ 3 ตามติดขึ้นมาทันที 

แม้ว่า เกมรัฐธรรมนูญ พรรคพลังประชารัฐ ฮั๊ว กับพรรคเพื่อไทย แตะมือกับพรรคประชาธิปัตย์ เดินหน้าแก้กติกาเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ จากบัตรใบเดียว เป็นบัตรสองใบ ดูเผินๆ พรรคใหญ่ ฝ่ายค้าน กับ ฝ่ายรัฐบาล แตะมือกันได้ คงไม่น่าจะมีปัญหา

แต่พรรคฝ่ายรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน มิได้ลงความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเนื้อเดียวกัน ภูมิใจไทย ประกาศชัดชอบระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียวมากกว่า 2 ใบ ก้าวไกล ยืนยันโหวตคว่ำ เพราะไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ ที่มีเฉพาะนักการเมืองได้ประโยชน์ โดยต้องการบัตร 2 ใบแบบ MMP เยอรมันมากกว่า  

พอดีกับหลังเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่มีการ “แตกหัก” ภายในพรรคพลังประชารัฐ ทำให้การเมืองไม่แน่นอน “วันชัย สอนศิริ” ส.ว. ออกมาส่งสัญญาณอันตราย เกมรัฐธรรมนูญที่ร่างกันมา “อาจไม่ได้ใช้”  

กรองกระแส “จุดยืน” การเมืองเกมแก้รัฐธรรมนูญ แบ่งได้ 3 กลุ่มดังนี้ ฝ่ายหนุน  

1.ฝ่ายหนุน ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ 

ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผู้คุมเกมแก้รัฐธรรมนูญพลังประชารัฐ กล่าวว่า ในการปฏิบัติของพรรคพลังประชารัฐ คือการเห็นไปในทิศทางเดียวกันและสนับสนุนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งเป็นแนวทางที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุนเช่นกัน  

ด้านพรรคเพื่อไทย ที่หนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดย “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทางพรรคเพื่อไทยก็จะประชุมเพื่อมีมติให้ ส.ส.ของพรรคโหวตไปในทิศทางเดียวกันเหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

2.ฝ่าย ฟรีโหวต ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา 

“อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 กันยายน ว่า เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. จุดยืนพรรค หากจะแก้รัฐธรรมนูญต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ใช่ประโยชน์ของพรรค การเมือง หรือนักการเมือง หลักมีอยู่แค่นี้ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยมีวุฒิภาวะที่จะตัดสินใจได้ว่าจะโหวตแบบไหน เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญไปบังคับกันไม่ได้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเมื่อวันที่ 7 กันยายนว่า วาระ 3 น่าจะผ่านไปได้ ยกเว้นมีเงื่อนไขเกิดขึ้นใหม่ คาดการณ์ไม่ได้ การแก้ไขเพื่อเดินกลับไปที่เดิมที่เป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเพราะรัฐธรรมนูญปี 60 เป็นประชาธิปไตยน้อยกว่า หากผ่านไปได้จะช่วยลดอุณหภูมิทางการเมือง มีช่องให้กาต้มน้ำ

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ส.ส.ของพรรค เมื่อวันที่ 8 กันยายน ว่าที่ประชุมเห็นพ้องให้ฟรีโหวต ให้เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. แต่ส่วนตัวจะให้ความเห็นชอบเรื่องบัตร 2 ใบ เพราะเห็นว่าจากรัฐธรรมนูญปี 40 เราสามารถนำมาปรับปรุงใช้ในคราวนี้ได้

และหลักการนับคะแนนสามารถนำมาปรับปรุงให้ดีกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ได้ และยังสามารถแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งให้ดีกว่าเดิมได้ เป็นเหตุผลที่เห็นว่าควรสนับสนุน

3.ฝ่ายคว่ำ อาทิ พรรคก้าวไกล เสรีรวมไทย ประชาชาติ กลุ่ม 6 พรรคเล็กร่วมรัฐบาล  

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่วาระ 3 ในวันศุกร์ที่ 10 กันยายนนี้ว่า พรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นบัตร 2 ใบเลือกคนที่รักเลือกพรรคที่ใช่แบบปี 40  

และไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 60 ในการใช้บัตรใบเดียว แต่ข้อดีของรัฐธรรมนูญ 60 คือ การมีการคำนวณส.ส.พึงมี ที่มีการเลือกคนที่รักเลือกพรรคที่ใช่แบบถูกต้อง ตรงตามความต้องการของประชาชน

แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ได้สนองต่อการแก้ไขดังกล่าวแต่เป็นการนำระบบ 40 และนำไปสู่ปัญหามากมาย เป็นการกินรวบของพรรคการเมืองพรรคใหญ่พรรคเดียว ตนต้องการเห็นพรรคเล็กๆเข้าสู่สภา เพื่อเป็นปากเสียงให้กับคนกลุ่มเล็ก การแก้ไขครั้งนี้ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรแต่เป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองใหญ่ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล

“นพ.ระวี มาศฉมาดล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ พร้อมตัวแทน 6 พรรคเล็กร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคพลเมืองไทย ครูไทย ไทรักธรรม ประชาธรรมไท พลังชาติไทย เพื่อชาติไทย แถลงจุดยืน “โหวตคว่ำ” ในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ในวันที่ 10 กันยายนนี้ 

โดย นพ.ระวี กล่าวว่า ว่ากลุ่มพรรคเล็กมีมติโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ด้วยเหตุผลว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ผ่านการทำประชามติจากประชาชนแล้ว อีกทั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยกเลิกระบบจัดสรรปันส่วนผสม ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนตัวเล็กๆ เข้ามามีโอกาสทำงานในสภา รวมถึงล้มระบบ ส.ส.พึงมีที่ถือเป็นระบบที่ยุติธรรมที่สุด และยังนำคะแนนตกน้ำมารวมเป็นคะแนนของพรรคการเมือง 

รัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ที่ใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทำให้เห็นว่าเกิดรัฐบาลทักษิณ-สมัคร-ยิ่งลักษณ์ เกิดเผด็จการรัฐสภา มีการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายมโหฬารอย่างโจ่งแจ้ง

ขณะที่จำนวน ส.ว.ในปัจจุบันมี 250 เสียง ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ครั้งยังเป็น “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” เป็นผู้ตัดสายสะดือ จะเป็น “ตัวแปร” สำคัญ ที่อาจต้องจับสัญญาณกันก่อนหน้าการโหวตเพียงอึดใจ