“อภิสิทธิ์” ชี้ 3 ปี คสช. ทิศทางเดินหน้ายังไม่ชัด เหตุขาดการแลกเปลี่ยนหาจุดร่วม

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่สภาพัฒนาการเมือง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ได้มีการเชิญนักการเมืองมาให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในการจัดแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เป็นวันที่ 3 โดยวันนี้เป็นการเชิญนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาให้ความเห็น

โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับกรอบที่คณะกรรมการฯได้วางไว้ แต่มีสิ่งที่อยากจะเสนอแนะเพิ่มเติม ในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วนที่ควรจะทำแม้ว่าแผนดังกล่าวจะหวังผลใน 5 ปี จากนี้แต่เมื่อเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนการเลือกตั้ง มีบางเรื่องจึงควรใช้ความไม่ปกติเป็นตัวนำในการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เช่นมีแผนเฉพาะหน้าว่า การแข่งขันเพื่อที่จะเข้าสู่การเมือง ควรอยู่ในขอบเขตไหน อะไรในอดีตที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต สิ่งเหล่านี้ควรต้องพิจารณาเพื่อให้สอดคล้องเมื่อมีการผ่อนคลายทางการเมืองและเข้าสู่การเลือกตั้ง มาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอะไรที่ควรให้เกิดขึ้นก็ควรทำ จะได้เห็นว่าการเมืองที่เราปรารถนามีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ถ้าเราไม่มีแผนในขณะนี้เลยก็เหมือนเราอยู่ในสภาวะไม่ปกติ เลือกตั้งแล้วก็ไม่รู้จะไปในทิศทางไหน

“ที่เน้นมาตลอดการเมืองจะเปลี่ยนวัฒนธรรมการเมือง ที่ผ่านมาเราใช้เวลาไปมากกับการร่างกฎหมาย แต่วัฒนธรรมการเมือง ถ้าไม่เอามารยาทเข้ามามากกว่ากฎกติกาก็เปลี่ยนยาก เวลานี้ถ้าถามว่าพร้อมเลือกตั้งหรือไม่ มันยากที่จะรู้ว่าพร้อมไม่พร้อม เพราะเรายังไม่รู้พฤติกรรมของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะนักการเมือง เป็นอย่างไร แต่มันจะชัดเจนเมื่อให้พรรคการเมืองเดินหน้าปฏิรูปตามกฎหมายใหม่ ตามความคิดของแต่ละพรรคว่าเขาจะเปลี่ยนตัวเองอย่างไร”

นายอภิสิทธิ์กล่าวขอบคุณนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่รับฟังข้อเสนอขอตนเองว่าควรพิจารณาเรื่องการปฏิรูปปรับโครงสร้างของท้องถิ่น ก่อนตัดสินใจให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะเลือกตั้งไปตามกฎหมายเดิมก่อนแล้วมาแก้ไขปรับโครงสร้างซึ่งก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งข้อเสนอที่จะสะสางมาตรา 44 ที่ใช้กับผู้บริหารท้องถิ่น ใครที่ผิดก็ลงโทษไปตามกฎหมาย แต่ใครที่ไม่ผิดก็ควรคืนตำแหน่งให้เขาเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง และที่สำคัญเห็นว่าควรต้องหารือกับ กกต. เพราะภาระหนักจะตกอยู่ที่เขา ไม่ใช่ปล่อยเลือกตั้งท้องถิ่นไปแล้วสุดท้ายก็ได้แบบเดิมมา เพราะสิ่งที่เราต้องการคือการการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม

“ควรหารือกับ กกต.เขา โดยเฉพาะเอาภารกิจหลักของ กกต.คือการจัดการเลือกตั้งระดับชาติ ถามเขาว่าถ้าต้องมาจัดเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน จะเป็นปัญหาเขาไหม และ กกต.ก็ควรพูดความจริงอย่าเกรงใจกันว่า ถ้า กกต.ต้องดูแลเรื่องแบ่งเขต เรื่องไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองด้วยไม่มีปัญหาเลยถ้าจะจัดท้องถิ่นด้วย แต่ถ้าเห็นว่าเป็นอุปสรรคภาระงานเยอะรัฐบาลก็ควรรับฟัง เพราะสิ่งที่เราต้องการคือการทำให้การเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรมได้คนดีมันสำคัญกว่า ”

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงข้อเสนอที่ให้มีการปรองดองก่อนการเลือกตั้งว่า อย่างที่ตนบอกก่อนหน้านี้แล้วว่าอยากเห็นแผนเฉพาะหน้า ว่าระยะเปลี่ยนผ่านจะทำอย่างไร ที่ผ่านมายังไม่ค่อยเห็นการมาทำความเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง คสช. พรรคการเมือง เอ็นจีโอ สื่อมวลชน ว่าปัญหาที่ผ่านมาคืออะไร ที่ผ่านมา คสช.จะใช้วิธีการเชิญคนไปทั้งปรับทัศนคติและขอความเห็น แต่ไม่เคยมีในลักษณะของการแลกเปลี่ยน ทุกคนจะรู้เมื่อท่านออกมาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว กลายเป็นว่าสิ่งที่เรารู้ รู้แต่ความเห็นตัวเอง และเมื่อไม่มีการแลกเปลี่ยนก็หาจุดร่วมไม่ได้ ทำให้ความเข้าใจเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งเป็นอย่างนี้มา 3 ปี คสช. ควรมีการทบทวน เพราะถ้าย้อนไปถามใครก็จะไม่มีใครตอบได้เลยว่าปฏิรูปแล้วจะไปในทิศทางใด

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึง การแจ้งเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลสมาชิกพรรค ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าขณะนี้กำลังรอสำนักงาน กกต.คุยกับสำนักทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่เห็นว่าแนวนี้ทางนี้เป็นแนวทางที่ง่ายที่สุด เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิก 2 ล้าน 8 แสนคน การจะให้พรรคไปตรวจสอบว่าสมาชิก อยู่ที่ไหน ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ต้องอาศัยเวลา และค่าใช้จ่ายมาก แต่ถ้าให้สำนักงานทะเบียนราษฎร์ยืนยันตัวตนมา ก็จะทราบได้ทันที และไม่ต้องมีใครไปติดคุก ไม่ไปละเมิดสิทธิ์ใคร รวมทั้งใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ก็แล้วเสร็จ ก็จะทันในกรอบเวลา 90 วันตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ต้องไปแก้กฎหมายลูก

 

ที่มา : มติชนออนไลน์