“ประยุทธ์” ปราบ-ปลด “ธรรมนัส” แก้เกมเลือกตั้ง ปิดทางดีล “ทักษิณ”

รายงานพิเศษ

เกมแตกหัก-เขย่าเครือข่าย 3 ป. ระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรฯ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย สะเทือนถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

กระทั่ง “ร.อ.ธรรมนัส” และรัฐมนตรีหางเครื่อง ไม่อาจอยู่ในตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ รมช.แรงงานได้อีกต่อไป

ไฟแค้นปกคลุมการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 กันยายน พล.อ.อนุพงษ์-พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยอมปรายตามอง ร.อ.ธรรมนัส ทั้งที่จับมือ-รับไหว้กัน เป็นแผลสดจากเกมโค่นบัลลังก์ พล.อ.ประยุทธ์ ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่ปัจจุบันยังคุกรุ่น

เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” พลิกเกม หลุดจากมุมอับเอาชนะได้ในการโหวตซักฟอก คนชนะต้องทำให้ชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ส่วนคนแพ้ต้องรอเวลาสางแค้น และไม่ยอมให้ตนเองเพลี่ยงพล้ำเข้ามุมอับ ไม่ยอมให้ถูกเสยปลายคาง จึงเปิดทางถอยหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือเลือกเส้นทางการเมืองใหม่

ดังนั้น ถัดจากเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจ สถานการณ์ตึงเครียดในรัฐบาลก็แผ่ซ่านมาถึงการโหวตแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในรัฐสภา ในวันที่ 10 กันยายน 2564

ตามญัตติ การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และ 91 เปลี่ยนจากระบบเลือกตั้งใช้บัตรใบเดียวมาเป็นบัตรสองใบ แบบเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 วาระที่ 3

เป็นเกม “แตกหัก” ภาคต่อของศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เป็น “เดิมพัน” ของการเมืองทุกฝ่าย-ทุกมิติ

หมากเกมบนกระดานแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคพลังประชารัฐ แท็กทีมกับพรรคเพื่อไทย 2 พรรคใหญ่ที่มีส่วนได้ประโยชน์โดยตรงจากกติกา บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ “ต้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม”เดินหน้าแก้กติกาเลือกตั้ง

ดูเผิน ๆ พรรคใหญ่ ฝ่ายค้าน กับฝ่ายรัฐบาล แตะมือกันได้ลงตัว แต่กลายเป็นว่าพรรคขนาดกลางใหญ่ กลางเล็ก ถึงพรรคเล็กร่วมรัฐบาล ต่างฟรีโหวต-โนโหวต

เช่น พรรคภูมิใจไทย ประกาศชัดชอบระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียวมากกว่า 2 ใบ จึงฟรีโหวต พรรคชาติไทยพัฒนาก็ฟรีโหวต

ส่วนพรรคเล็ก 7 พรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พลังธรรมใหม่ พลเมืองไทย ครูไทย ไทรักธรรม ประชาธรรมไท พลังชาติไทย เพื่อชาติไทย

แถลงเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 ว่า จะลงมติคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในวาระ 3 และประกาศยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกระบวนการแก้ไขชอบโดยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน เดินไม่เป็นคีย์เดียวกันในเกมรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกล-เสรีรวมไทย-ประชาชาติ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขให้ใช้กติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบ 2540

ปิดฉากธรรมนัส เกมพันหน้า

ทว่า หลังเกมแตกหักภายในพรรคพลังประชารัฐ เขย่าขวัญ 3 ป. ผู้กุมอำนาจใหญ่ในรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องปรับหมากแก้รัฐธรรมนูญแบบกะทันหัน

เพราะแต่เดิม… ก่อนถึงวันแตกหัก พรรคพลังประชารัฐผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญบนสมมติฐานว่า การเลือกตั้งอย่างเร็วในปี 2565 ตามกรอบคือ ปี 2566 พรรคพลังประชารัฐจะยิ่งใหญ่ เพราะมีทั้งอำนาจทุน อำนาจการเมือง เบียดเอาชนะพรรคเพื่อไทยแบบคู่คี่

หากไม่เร่งแก้กติการัฐธรรมนูญ ใช้สูตรเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวตามรัฐธรรมนูญฉบับเกจิ “มีชัย ฤชุพันธุ์ และพวก” อาจซ้ำรอยพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้ง 2562 ที่ไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคพลังประชารัฐ ในยุคที่ “ผู้กองนัส” ร.อ.ธรรมนัส โชว์พาวเวอร์ของการเป็น “เพลย์เมกเกอร์” เอาชนะศึกเลือกตั้งซ่อม ขยายเขตอิทธิพลไปทุกภาค ทั้งเหนือ-อีสาน-ใต้ สะสมกำลัง ส.ส. ไว้ในมือเป็นจำนวนมาก

ขุมกำลังในมือ ไม่ได้มีเฉพาะในพรรคพลังประชารัฐ แต่ยังมีขุมกำลังที่ซ่อนอยู่ในพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ “เพื่อไทย”

“ความที่อยู่กันมายาวนานในเพื่อไทย และ ร.อ.ธรรมนัส กับ ส.ส.ที่สนิทสนม ถ้าอยากเจอที่นั่นที่นี่บอกได้ ร.อ.ธรรมนัสเป็นนักการเมือง 100% ถึงเวลารุกได้ เขาก็รุก” แหล่งข่าวในเพื่อไทย นิยามตัวตน ร.อ.ธรรมนัส

ภารกิจเปิดดีลบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กับพรรคเพื่อไทย โดยมี “พี่โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร แห่งพรรคเพื่อไทย เป็นแบ็กอัพ จึงเดินหน้าเต็มกำลัง โดยมี “พล.อ.ประวิตร” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็น “ใบเบิกทาง”

แต่พลันที่เกมเลื่อยขา “พล.อ.ประยุทธ์” ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจประสบอุบัติเหตุ แล้วมีมือดีมาในกลุ่ม 4 ช. ฉุดมือนายกฯออกจากมุมอับอันตราย และกำชัยชนะได้ในยกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แลกกับการแตกดับของกลุ่ม 4 ช.

พร้อมกับแผลสดในใจของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ยังไม่ทันจาง เกมโหวตรัฐธรรมนูญวาระ 3 จึงเป็นเกมตัดกำลัง ไม่ให้ ร.อ.ธรรมนัส สยายปีก แผนการล้มรัฐธรรมนูญวาระ 3 จึงปรากฏร่องรอย

พลิกกลับให้ใช้ “กติกา” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 แบบจัดสรรปันส่วนผสมของ “มีชัยและพวก” เพราะทีม 3 ป. อ่านเกมว่า กติการัฐธรรมนูญ 2560 ยังเป็นเครื่องมือ “ค้ำบัลลังก์” ได้จนถึงนาทีสุดท้ายหากเปลี่ยนกติกาเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ตามที่พรรคเพื่อไทย และ ร.อ.ธรรมนัส ต้องการอาจเพลี่ยงพล้ำ ทำให้เพื่อไทย-ทักษิณ กลับมาชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์

จึงเซตอัพพรรคใหม่ ตามแผนการที่ให้ “ฉัตรชัย พรหมเลิศ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งคนไปจดแจ้งจัดตั้งพรรคไว้รองรับอุบัติเหตุ

อาวุธลับ ส.ว.

ดังนั้น ตัวละคร (ไม่) ลับ ถูกนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์มาหลายครั้ง คือ สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสายสะดือมากับมือ ตอนที่ยังมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ตามเงื่อนไขการลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ในวาระที่ 3 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 กำหนดไว้ว่า จะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 367 จาก 733 เสียง (ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้มี 483 คน ส.ว.มี 250 คน) และจะต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือ 84 คน

และต้องได้เสียง 20% ของพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี เป็นประธาน-รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ตีความกลม ๆ คือ เสียงของฝ่ายค้าน 43 เสียง ซึ่งไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะเสียงของพรรคเพื่อไทยเทให้ล้นหลาม

แต่กับดักสำคัญคือ 84 เสียงของฝ่าย ส.ว. หาก ส.ว. “งดออกเสียง” หรือ “หายตัว” ไม่มาร่วมวง ให้เสียงเห็นชอบไม่ถึง 84 เสียง การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ประสบอุบัติเหตุ “ปิดเกม”

ปั่นป่วน “ธรรมนัส” โดนปลด

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ 24 ชั่วโมง ก่อนโหวตวาระที่ 3 ปั่นป่วนยิ่งกว่าพายุ

ช่วงบ่ายของวันที่ 9 กันยายน 2564 “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หัวหอกแก้รัฐธรรมนูญพรรคพลังประชารัฐ โทรศัพท์ต่อสายตรงไปหา “พล.อ.ประวิตร” เพื่อสอบถามสัญญาณเรื่องเกมรัฐธรรมนูญ ก่อนแจ้งต่อที่ประชุมพรรคว่า ให้สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

ไม่นานจากนั้น นาทีสำคัญก็เกิดขึ้น เวลาประมาณ 15.30 น. เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ “ร.อ.ธรรมนัส” รมช.เกษตรฯ พร้อมด้วย “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” รมช.แรงงาน พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ตามที่นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า “สมควรให้รัฐมนตรีบางคนพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์แก่ราชการ”

พร้อม ๆ กับการแถลงลาออกของ ร.อ.ธรรมนัส ที่อาคารรัฐสภา ระบุในใบลาออกวันที่ 8 กันยายน 2564 ย้อนหลัง 1 วัน ก่อนประกาศราชกิจจานุเบกษาให้พ้นจากตำแหน่ง

ส.ว.ที่รอคอย “สัญญาณ” จากหน่วยเหนือ-ผู้ตัดสายสะดือ เช็กสัญญาณรัฐบาลว่า จะให้คว่ำ หรือให้ผ่าน กันวุ่นวาย

แหล่งข่าวจาก ส.ว.บอกว่า จะต้องดูจาก ส.ว.สายทหาร 1-3 คนแรก ว่าจะโหวตอย่างไร ถ้าโหวตแบบไหน ทิศทางจะเป็นไปตามนั้น ซึ่งในจำนวน ส.ว. 250 คน มี ส.ว.ที่เป็นสายทหาร-ตำรวจ เกิน 100 คน พร้อมตบเท้ารับคำสั่ง

ส.ว.สาย พล.อ.ประวิตรระบุว่า โหวตเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 ประเด็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เหมือนกับการลงมติรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรก เพราะไม่แก้ทั้งฉบับ ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ไม่แตะบทเฉพาะกาล ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะโหวตไม่ผ่าน

“อย่างไรก็ตาม เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละบุคคล เรื่องนี้สั่งกันไม่ได้ ไม่มีสัญญาณเป็นเรื่องของพรรคการเมืองแข่งกัน เปรียบนักการเมืองเป็นนักฟุตบอลจะเปลี่ยนแปลงกติกา คนดู (ส.ว.) จะไปยุ่งอะไร”

แหล่งข่าวจาก ส.ว.สายพลเรือน ที่อยู่โยงตั้งแต่ ส.ว.สรรหา ก่อนรัฐประหาร 2557 อยู่ในแม่น้ำ 5 สาย กระทั่งเป็น ส.ว.ในยุคปัจจุบัน ชี้ให้ดู “ทิศทางลม” ว่า เวลานี้ ส.ว.มีความเห็นต่างกัน แต่แนวโน้ม ส.ว.หลายคนมองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ และเกรงว่า “ระบอบทักษิณ” จะคืนชีพแบบแลนด์สไลด์

ส่วนแหล่งข่าวในพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยหลังจาก “รับสัญญาณ” พล.อ.ประวิตรว่า “พลังประชารัฐโหวตให้รัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 เราทำตามหน้าที่เท่านั้น”

ถึงแม้การโหวตวาระ 3 จะผ่านการเห็นชอบในที่ประชุมของรัฐสภาไปได้ แบบต้องลุ้นสัญญาณกันถึงก่อนโหวตว่า พล.อ.ประยุทธ์ – พล.อ.ประวิตร จะส่งสัญญาณถึง ส.ว.สายทหาร อย่างไร

ที่สุดแล้ว ทั้ง “บิ๊กตู่ – บิ๊กป้อม” เดินเป็นคีย์เดียวกันหลังการ “ปลดฟ้าผ่า” ร.อ.ธรรมนัส เพราะ ส.ว.สายทหาร 2 คนแรกที่ลุกขึ้นขานมติ “เห็นชอบ” ให้รัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3

คือ 1.พล.อ.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา ลูกน้องสายตรง “บิ๊กป้อม” ตัวเดินเกมใน ส.ว. 2.พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ เตรียมทหารรุ่น 12 เป็นเพื่อนร่วมรุ่นของ พล.อ.ประยุทธ์ สายสัมพันธ์แน่นปึ๊ก ส.ว.สายทหารคนอื่นๆ ก็ตบเท้าโหวตเห็นชอบกันแทบทั้งหมด

มติการผ่านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระ 3 จึงออกมาด้วยเสียง 472 ต่อ 23 งดออกเสียง 187

แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 256 (9) กำหนดขั้นตอนหลังจากผ่านวาระ 3 ว่า ก่อนนายกรัฐมนตรีนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้ง 2 สภารวมกัน มีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา

แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกัน เสนอความเห็นต่อประธานที่ตนเองสังกัดอยู่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าว ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับเรื่อง

ดังนั้น อาจเห็น ส.ส.พรรคเล็ก จับมือกับ ส.ว.ให้ครบ 74 เสียง ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้ขาด ทางใด-ทางหนึ่ง แต่ในหมู่ ส.ส. ทั้งพรรคภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล ประกาศชัดแล้วว่าจะไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

รัฐบาลไม่ต้องลาออก-ยุบสภา

“วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายประจำทำเนียบรัฐบาล พูดเป็นนัยเมื่อวันที่ 8 กันยายนว่า หากรัฐธรรมนูญถูกคว่ำแล้วก็ไม่เดินแล้ว แต่หากไม่คว่ำก็จะเดิน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เช่น รัฐบาลลาออก ยุบสภา หรืออะไรก็ตาม

หรือหากพิจารณาแล้วเสร็จ ใครจะมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญ หรืออะไรก็ทำไป แต่ว่าเมื่อจบกระบวนการก็ต้องขึ้นทูลเกล้าฯประกาศใช้อยู่ดี เป็นเรื่องของสภา และพรรคการเมือง

พล.อ.ประยุทธ์อยู่มาแล้ว 7 ปี ในช่วงดำรงตำแหน่ง “ประยุทธ์” การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นวาระเร่งด่วน ที่ยังแก้ไม่สำเร็จ ติดกับดักทุกครั้ง