กลยุทธ์ปรับ ครม.รัฐบาลทหาร ต่ออายุเก้าอี้นายกฯ ตามรอย จอมพล ป.

การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดที่ 5 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงฝุ่นตลบ ทั้งข่าวลับ ข่าวลวง ข่าวจริง ปลิวว่อนไปทั่ว

“พล.อ.ประยุทธ์” บอกเป็นนัยว่าจะเห็นความชัดเจนในเดือนธันวาคมแต่ที่ชัดยิ่งกว่าชัด การปรับ ครม.ครั้งนี้

เป็นการปรับเพื่อไปต่อในโค้งสุดท้ายของรัฐบาลก่อนถึงคิวเลือกตั้ง ที่ในโมงยามนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าอีกนานเป็นปี หรือสองปี เว้นแต่ตัว พล.อ.ประยุทธ์

แต่หากพลิกประวัติศาสตร์ 85 ปี ประชาธิปไตย ที่รัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง รัฐบาลแต่ละชุดต่างยุคสมัย อยู่ในอำนาจไม่เท่ากัน แม้บางคณะจะมีการปรับ ครม. เพื่อให้ไปต่อบนเส้นทางอำนาจได้ แต่ทางอำนาจก็ย่อมมีจุดสิ้นสุด

พระยามโนฯปรับ ครม. 1 ครั้ง

รัฐประหารครั้งแรก 1 เมษายน 2476 พระยามโนปกรณนิติธาดา ได้กระทำการรัฐประหารเงียบ ออกพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ 2476

พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนตัวคณะรัฐมนตรี 1 ครั้ง เพราะ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.อ.พระยาฤทธิอัคเณย์ และ พ.ท.พระยาประศาสน์พิทยายุทธ์ 4 ทหารเสือคณะราษฎร ได้ลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2476 อ้างว่าได้รับราชการตรากตรำมาครบ 1 ปี จนป่วยเนือง ๆ ซึ่งความจริงแล้วมีความขัดแย้งกันภายใน ครม. จากนั้นพระยามโนปกรณฯได้ตั้งให้ นายพลตรี พระยาพิชัยสงคราม และ นายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2476

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพระยามโนฯก็อยู่ในอำนาจหลังการรัฐประหารเงียบ แค่ 81 วันเท่านั้น ก็ถูก พ.อ.พระยาพหลฯ ใช้กำลังยึดอำนาจ เป็นการรัฐประหารครั้ง 2 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

และมีการปรับคณะรัฐมนตรี 2 ครั้ง ครั้งแรก เป็นเพราะ นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2476 จึงแต่งตั้งให้ พระยาวิชิตชลธี เป็นรัฐมนตรี พร้อมกับ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นรัฐมนตรี

ปรับครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2476 ให้ พระยานิติศาสตร์ไพศาล เป็น รมว.ยุติธรรม พร้อมให้ พระยาอภิบาลราชไมตรี เป็น รมว.ต่างประเทศ และให้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นรัฐมนตรี ที่ถูกเรียกตัวกลับมาจากถูกเนรเทศไปฝรั่งเศส ให้กลับมารับตำแหน่ง แต่คณะรัฐมนตรีคณะนี้สิ้นสุดลง เพราะได้มีการเลือกตั้งทั่วไป 15 พฤศจิกายน 2476 โดยมีการเลือกตั้งทางอ้อมเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2476 นับอายุ ครม.ชุดนั้น มีอายุ 180 วัน

“ควง” นั่งนายกฯ 150 วัน

ครั้งที่ 3 คือการรัฐประหาร วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ คณะรัฐประหารได้ตั้ง “ควง อภัยวงศ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกฯ โดยมีการปรับ ครม. 2 ครั้ง หลังผ่านการโปรดเกล้าฯ ครม.เพียง 7 วัน ครั้งแรก เมื่อนายควงที่เป็นนายกฯ ควบ รมว.เกษตราธิการ ได้ลาออกจากตำแหน่ง จึงตั้ง หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร เป็น รมว.เกษตราธิการ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2490 ครั้งสอง เมื่อ 4 ธันวาคม 2490 นายใหญ่ ศวิตชาต เป็นรัฐมนตรี นายสอ เศรษฐบุตร เป็นรัฐมนตรี

แต่ ครม.คณะนี้สิ้นสุดลง เพราะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 แต่หลังการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ของ “ควง” ชนะเลือกตั้ง และได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง แต่กลับเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “การจี้รัฐบาล” ให้ลงจากตำแหน่ง ในวันที่ 6 เมษายน 2491 เมื่อคณะรัฐประหารส่งคนไปแจ้งว่า ไม่พอใจการทำงานที่ไม่สามารถลดค่าครองชีพ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ดีขึ้น และขอให้ลาออกภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้ “ควง” ต้องจำใจลาออก จึงถือว่าเป็นการยึดอำนาจครั้งที่ 4 เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง เท่ากับว่า รัฐบาลควงอยู่ในอำนาจ นาน 150 วัน

จอมพล ป. อยู่ในอำนาจ 9 ปี

เวลาต่อมา จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ขึ้นเป็นนายกฯ และตั้ง ครม.ชุดใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศ และมีการปรับปรุง ครม. 1 ครั้ง (ชุดที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร) ในเดือนพฤศจิกายน 2491 และอยู่ในอำนาจนานเกือบ 1 ทศวรรษ ระหว่างนั้น จอมพล ป. ได้รัฐประหารตัวเอง 1 ครั้ง เป็น รัฐประหารครั้งที่ 5 ในประวัติศาสตร์ เมื่อ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เพื่อนำรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 มาปรับปรุงและบังคับใช้ ทำให้ จอมพล ป. เป็นนายกฯยาวนานที่สุด รวมทุกสมัยเป็นเวลา 14 ปี 11 เดือน 18 วัน แต่หากนับเฉพาะที่เข้ามารับตำแหน่งนายกฯ ช่วงที่ 2 หลังรัฐประหาร 2491 จี้ “ควง” พ้นตำแหน่ง เป็นเวลา 9 ปี 5 เดือน

รัฐประหารครั้งที่ 6 เกิดขึ้นเพราะลูกน้องนอกไส้อย่าง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป. เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พร้อมกับตั้ง “พจน์ สารสิน” เป็นนายกฯ

มีการเปลี่ยนแปลง ครม. 1 ครั้ง และ ครม.สิ้นสุดลง เมื่อ 15 ธันวาคม 2500 เพราะมีการเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นแล้ว รวมเวลาอยู่ในตำแหน่ง 91 วัน

รัฐประหารครั้งที่ 7 วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร ตามที่ตกลงกันไว้

หลังจากจอมพลสฤษดิ์กลับจากการรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งจอมพลสฤษดิ์อยู่ในอำนาจนาน 4 ปี 10 เดือน มีการปรับ ครม.ทั้งหมด 3 ครั้ง กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ

“ถนอม” ปรับ 5 ครั้ง อยู่ 7 ปี

และผู้ที่มาสืบทอดอำนาจเก้าอี้ผู้นำต่อ คือ จอมพล ถนอม กิตติขจร มีการปรับ ครม.ทั้งสิ้น 5 ครั้ง กระทั่งตัดสินใจคืนอำนาจประชาธิปไตยให้มีการเลือกตั้ง ในปี 2512 รวม เวลา 5 ปี 2 เดือน 24 วัน

อย่างไรก็ตาม จอมพลถนอมก็ปฏิวัติยึดอำนาจตัวเองเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2514 เป็นการ รัฐประหารครั้งที่ 8 พร้อมกับตั้ง ครม.ชุดใหม่ เมื่อ 19 ธันวาคม 2515 กระทั่งถึงเหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลาคม 2516 จอมพลถนอมได้ลาออกจากตำแหน่ง แต่การดำรงตำแหน่งครั้งนี้อยู่เพียง 1 ปี 11 เดือนเท่านั้น รวมระยะเวลาอยู่ในอำนาจเผด็จการทั้งหมดราว 7 ปี 1 เดือน

มาถึง รัฐประหารครั้งที่ 9 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นผู้ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ช่วงเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมตั้งรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นบริหารประเทศ และไม่มีการปรับ ครม. แต่ก็อยู่ในอำนาจได้เพียงแค่ 1 ปี 2 วัน เนื่องจาก พล.ร.อ.สงัด ยึดอำนาจอีกครั้งเมื่อ 20 ตุลาคม 2520 เป็น รัฐประหารครั้งที่ 10 พร้อมกับตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกฯแทน ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2520 มีการปรับ ครม.เพียงครั้งเดียว เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2521 แต่รัฐบาลมีอายุแค่ 6 เดือน ก็มีการเลือกตั้ง 22 เมษายน 2522 อย่างไรก็ตาม หลังจากการเลือกตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกหนึ่งครั้ง อยู่ได้ 9 เดือนเศษ ก็ต้องลาออก

การรัฐประหารครั้งที่ 11 เกิดขึ้นในอีกทศวรรษต่อมา เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ภายใต้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และตั้ง อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ มีการโปรดเกล้าฯ เมื่อ 6 มีนาคม 2534 โดย ครม.มีการปรับเพิ่มเก้าอี้รัฐมนตรี 1 ครั้ง โดย ตั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็น รมช.พาณิชย์ และแต่งตั้ง นายเจริญจิตต์ ณ สงขลา เป็น รมช.มหาดไทย 29 กรกฎาคม 2534 อย่างไรก็ตาม ครม.อานันท์อยู่ได้ 1 ปี 1 เดือน ก็พ้นจากตำแหน่งเมื่อ 7 เมษายน 2535 เนื่องจากมีการเลือกตั้ง

การยึดอำนาจครั้งที่ 12 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร พร้อมตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีการปรับ ครม.ทั้งสิ้น 5 ครั้ง อยู่ในตำแหน่งทั้งหมด 1 ปี 3 เดือน

และการรัฐประหารครั้งที่ 13 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นรัฐบาลมาแล้ว 3 ปี ยังไม่มีกำหนดสิ้นสุด ปรับ ครม.มาแล้ว 4 ครั้ง และที่กำลังฝุ่นตลบอยู่ขณะนี้เป็นประยุทธ์ 5