ครม.ไฟเขียวแพ็คเกจพิเศษ ดึงต่างชาติลงทุนในไทย 4 กลุ่มเป้าหมาย

ครม. เห็นชอบแพ็คเกจดึงดูดการลงทุนต่างชาติในไทย 4 กลุ่มเป้าหมาย วีซ่ายาว 10 ปี พ่วงสิทธิพิเศษอนุญาตทำงานอัตโนมัติ มีสิทธิ์ครอบรองอสังหาริมทรัพย์ จูงใจกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษเลือกเสียภาษีอัตราก้าวหน้า หรือ 17% คงที่เหมือนอีอีซี

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเป็นประธานมีมติเห็นชอบจะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนเพื่อการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ประกอบด้วย 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 

1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen) ที่มีรายได้สูง เดินทางบ่อย ใช้ชีวิตอยู่ในหลายประเทศ และมีทรัพย์สินอยู่ทั่วโลก คุณสมบัติในการขอวีซ่าต้องลงทุนขั้นต่ำ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐในพันธบัตรรัฐบาลไทย ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือในอสังหาริมทรัพย์ และมีรายได้ส่วนบุคคลขั้นต่ำปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และมีทรัพย์สินขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีประกันสุขภาพจากบริษัทประกันที่ได้รับการรับรอง คุ้มครองค่ารักษา 100,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปตลอดระยะเวลาถือวีซ่า

2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner) ต้องมีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีรายได้สำหรับการเกษียณอายุที่มั่นคงเป็นประจำจากต่างประเทศ ลงทุนขั้นต่ำ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐในพันธบัตรรัฐบาลไทย ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ ในอสังหาริมทรัพย์ และมีรายได้ขั้นต่ำปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ มีรายได้ขั้นต่ำปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีประกันสุขภาพจากบริษัทประกันที่ได้รับการรับรอง คุ้มครองค่ารักษา 100,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป ตลอดระยะเวลาถือวีซ่า

3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) ทำงานให้กับนายจ้างในต่างประเทศ และสามารถทำงานทางไกลจากประเทศอื่นได้ มีรายได้ที่มั่นคงจากต่างประเทศ มี 2 ประเภทย่อย คือ 1.ผู้ประกอบอาชีพด้านดิจิทัล (Digital nomad) และ 2.พนักงานองค์กรขนาดใหญ่และใกล้จะเกษียณอายุ (Corp Program)

4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-skilled professional) มีประสบการณ์ทำงานทักษะสูง และจะเข้ามาทำงานในประเทศไทยให้บริษัทในอุตสาหกรรมเป้าหมายตาม พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ.2560 เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิจัยที่จะเข้ามาทำงานหน่วยงานของรัฐ หรือ เข้ามาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมีรายได้ส่วนบุคคล เช่น เงินเดือน รายได้จากการลงทุน ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 5 ปีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 5 ปี มีประกันสุขภาพจากบริษัทประกันที่ได้รับการรับรอง คุ้มครองค่ารักษา 100,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปตลอดระยะเวลาถือวีซ่า

สำหรับสิทธิประโยชน์ ได้แก่ 1.สิทธิประโยชน์ วีซ่าผู้พำนักระยะยาวใหม่ (LTR vasa) อายุ 10 ปี รวมถึงผู้ติดตาม หรือ คู่สมรสและบุตร  2.ได้รับใบอนุญาตทำงานอัตโนมัติหลังจากอนุมัติ LTR 4.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศไทยในอัตราภาษีแบบก้าวหน้าเช่นเดียวกับผู้ถือสัญชาติไทย 5.ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ 6.สิทธิในการเป็นเจ้าของ/เช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว (รวมที่ดิน) และ 7.มีสิทธิ์เลือกจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศไทยในอัตราภาษีแบบก้าวหน้าเช่นเดียวกับผู้ถือสัญชาติไทย หรืออัตราภาษีเงินได้คงที่ที่ร้อยละ 17 เช่นเดียวกับ EEC (ให้เฉพาะกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ) 

ัรัฐบาลตั้งเป้าหมายดึงดูดผู้พำนักระยะยาวกว่า 1 ล้านล้านราย เข้าสู่ประเทศไทย และใช้จ่ายในประเทศ 1 ล้านล้านบาทต่อปีต่อคนโดยเฉลี่ย และมีเม็ดเงินจากการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท ประมาณจากการลงทุนจากกลุ่มประชากรโลกประมาณ 1 หมื่นคนและกลุ่มผู้เกษียณอายุ 8 หมื่นคน นอกจากนี้ยังมีรายได้ทางภาษี 2.7 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น 180,000 ล้านบาทจากภาษีส่วนบุคคล 70,000 ล้านบาทจากภาษีมูลค่าเพิ่ม และ 22,000 ล้านบาทจากภาษีที่เกี่ยวกับการลงทุน รวมถึงยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการถ่ายทอดความรู้ใหม่ ๆ สู่ประเทศไทย และเพิ่มโอกาสการจ้างงานในประเทศ

สำหรับแผนกำกับดูแลและปฏิบัติงานศูนย์บริการผู้พำนักระยะยาว (LTR-Service center) มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแล LTR-Service center ดังนี้ 

1.ดำเนินการจัดตั้ง และบริหารศูนย์บริการผู้พำนักระยะยาว (LTR-Service center) ในรูปแบบที่มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และไม่เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินเกินสมควร หรืออาจให้เอกชนมารับดำเนินการบางส่วนได้ 

2.หารือกับสำนักงบประมาณ และสำนักงาน ก.พ.ในการจัดกรอบงบประมาณและบุคลากรตามความเหมาะสมกับภารกิจที่ได้รับ

3.หารือกับ กพร. เรื่อการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเพื่อรองรับขอบข่ายการทำงานในอนาคต โดยหากจำเป็นให้พิจารณาปรับรูปแบบองค์กร BOI ให้เหมาะสมเพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการนักลงทุนต่างประเทศ