9 ท่าทีไทย บนเวทีสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 76

ครม.เห็นชอบ 9 ท่าทีไทยในเวทีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 76

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างเอกสารท่าทีไทยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 76 ซึ่งจะจัดประชุมในวันที่ 14 กันยายนนี้ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ สำหรับร่างเอกสารท่าทีไทยในการประชุมครั้งนี้ เป็นการแสดงจุดยืนและท่าทีในประเด็นที่มีความสำคัญต่างๆ อาทิ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง เป็นต้น ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1.ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาและสนับสนุนแหล่งพลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียน การจัดการภัยพิบัติ และการรับมือการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงความมุ่งมั่นของไทยในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

2.บทบาทไทยในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ และให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านสันติภาพของ UN และการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างยั่งยืน

3.ส่งเสริมความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการพัฒนา โดยใช้หลักความเท่าเทียม ความไว้เนื้อเชื่อใจ และผลประโยชน์ร่วมกัน

4.ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิผู้เปราะบาง ทั้งเด็ก สตรี คนพิการ และผู้สูงอายุ การขจัดการเหยียดผิวและการเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติ รวมถึงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สิทธิ และเสรีภาพในการแสดงออก

5.สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและให้ความสำคัญกับประเด็นความร่วมมือและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม อันเป็นผลมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในภูมิภาค

6.ติดตามความคืบหน้าการทำงานคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงประเด็นอื่นๆ เช่น การคุ้มครองบุคคลในกรณีภัยพิบัติ และโครงการช่วยเหลือแห่ง UN ในการเรียนการสอน

7.สนับสนุนการลดและขจัดอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งผลกระทบด้านมนุษยธรรมจากอาวุธนิวเคลียร์ การป้องกันมิให้ผู้ก่อการร้ายได้มาซึ่งอาวุธที่มีอานุภาพ

8.ให้ความสำคัญกับประเด็นร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมสารเสพติดระหว่างประเทศ การป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา และมาตรการขจัดการก่อการร้ายสากล

9.ให้ความสนใจประเด็นสุขภาพโลกและนโยบายต่างประเทศ โดยเน้นบทบาทนำของไทยในด้านสาธารณสุขและด้านบริหารองค์กร