เปิดรายละเอียดแพ็คเกจดึงดูดต่างชาติ สิทธิประโยชน์ภาษี-ถือครองที่ดินสูงสุด 5 ปี+
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้
– ยกเว้นให้ผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักอาศัยระยะยาวและวีซ่าประเภท Smart Visa ทั้งหมดไม่ต้องมีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบหากอยู่ในประเทศเกินเก้าสิบวัน
-ให้กระทรวงมหาดไทยศึกษาแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน
-ผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวสามารถทำงานให้นายจ้างทั้งที่อยู่ในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักรได้โดยได้รับอนุญาตให้ทำงานโดยอัตโนมัติ
-ผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวไม่อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบอนุญาตทำงาน เรื่อง การกำหนดให้การจ้างคนต่างด้าว 1 คนต้องจ้างงานพนักงานคนไทยทำงานประจำ 4 คน
-ปรับลดพิกัดอัตราอากรขาเข้าเพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการนำสินค้าประเภทไวน์ สุรา และยาสูบประเภทซิการ์ลงกึ่งหนึ่งเป็นเวลา 5 ปี
-ปรับปรุงประกาศกรมศุลกากรที่เกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางท่าอากาศยานเพื่อการใช้ประโยชน์ส่วนตนหรือไม่ แทนการพิจารณาจากมูลค่าของสิ่งของ
-จัดทำและเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรเพื่อกำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ถือวีซ่าผู้พำนักระยะยาวประเภทกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ โดยเทียบเคียงกับมาตรการภาษีในลักษณะเดียวกันของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
โดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) รับผิดชอบการดำเนินมาตรการฯ โดยพิจารณาจัดตั้งหน่วยบริการขึ้นเพื่อสนับสนุนและเชิญชวนให้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาเป็นผู้พำนักระยะยาวในประเทศไทย
ทั้งนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบข้างต้นเร่งรัดดำเนินการภายใน 90 วัน และให้รายงานความคืบหน้าของผลการพิจารณาผ่าน สศช. เพื่อรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
สำหรับการออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa) เพื่อรองรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง และต้องการเป็นผู้พำนักอาศัยในระยะยาว กำหนดคุณสมบัติเพื่อพิจารณาการขอวีซ่าตามกลุ่มของชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท ดังนี้
1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen) ลงทุนขั้นต่ำ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และมีเงินเดือนหรือเงินบำนาญขั้นต่ำปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งมีทรัพย์สินขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner) ลงทุนขั้นต่ำ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และมีเงินบำนาญขั้นต่ำ ปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีเงินบำนาญขั้นต่ำ ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (กรณีไม่มีการลงทุน)
3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) มีรายได้ส่วนบุคคล (อาทิ เงินเดือน และรายได้จากการลงทุน) ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป/ครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา/ได้รับเงินทุน Series A และมีประสบการณ์การทำงาน 5 ปี
4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-Skilled professional) มีรายได้ส่วนบุคคล (เงินเดือน รายได้จากการลงทุน เป็นต้น) ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 5 ปี ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ขณะที่สิทธิประโยชน์หลักที่ทั้ง 4 กลุ่มจะได้รับ
-ให้สิทธิทำงานพร้อมวีซ่า
– ให้คู่สมรสและบุตรได้รับวีซ่าผู้ติดตามไปพร้อมกันด้วย
– ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ (รวมทั้งรายได้ที่นำเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน)
ยกเว้นกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-Skilled professional) ได้สิทธิประโยชน์หลักเช่นเดียวกับชาวต่างชาติประเภทอื่น ๆ แต่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศไทยอัตราเทียบเท่ากับอัตราภาษีเงินได้ที่ได้รับจากการจ้างแรงงานในพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
ผลที่คาดว่าจะได้รับ ภายในระยะเวลา 5 ปี (2565-2569)
1.ดึงดูดชาวต่างชาติจำนวน 1,000,000 คน ให้ย้ายถิ่นฐานมาพำนักอาศัยในประเทศ
2.เพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท
3.เพิ่มการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท
4.เพิ่มรายได้จากการเก็บภาษี 2.7 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตามจะมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ในภาพรวมทุก 5 ปี และกำหนดเวลาสิ้นสุดสำหรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและการถือครองที่ดินเป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มบังคับใช้มาตรการ และให้ประเมินผลสัมฤทธิ์ โดยสามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปได้ตามความเหมาะสม