“ประยุทธ์” โชว์วิสัยทัศน์ บนเวทีโลก เปิดแผนยุติโควิด-ฟื้นตัว รัฐบาลไทย

FILE PHOTO : THAI ROYAL GOVERNMENT /

นายกรัฐมนตรี โชว์วิสัยทัศน์ ในที่ประชุม Global COVID-19 Summit ที่มีโจ ไบเดน เป็นประธาน ถึงแผนยุติการระบาดโควิดของไทย ยกการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ ฉีดอย่างน้อย ร้อยละ 70 ปีนี้ พร้อมจับมือ นานาประเทศ ส่งเสริมการผลิตวัคซีน-สุขภาพโลก ขอบคุณสหรัฐฯ และมิตรประเทศที่ช่วยเหลือตลอดมา

วันที่ 22 กันยายน 2564 เวลา 22.00 – 01.00 น. (เวลา 11.00 – 14.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงวอชิงตัน ดีซี) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีส่วนร่วมในการประชุมสุดยอดว่าด้วยการยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฟื้นตัวกลับมาดีขึ้น (Global COVID-19 Summit : Ending the Pandemic and Building Back Better) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ในรูปแบบการประชุมทางไกล โดย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงสาระสำคัญในวีดิทัศน์ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี ดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ไทยเชื่อมั่นในความร่วมมือพหุภาคีมาตลอดทั้งเพื่อยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเตรียมพร้อมสำหรับภัยคุกคามทางสุขภาพในอนาคต ทั้งนี้ รัฐบาลไทย ร่วมดำเนินการตามเป้าหมาย ดังนี้

1. ไทยกำหนดให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ และจะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนอย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในปีนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลได้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตวัคซีนภายในประเทศ และพร้อมร่วมมือกับนานาประเทศในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนในภูมิภาคและส่งเสริมด้านสุขภาพโลก

2. ไทยสนับสนุนการเพิ่มกำลังการผลิตเวชภัณฑ์และวัสดุทางการแพทย์ เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้มีความปลอดภัย ที่ผ่านมา ไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ แก่กว่า 10 ประเทศ ตลอดจนร่วมมือพัฒนาขีดความสามารถด้านสาธารณสุขกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง และจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ไทยขอขอบคุณสหรัฐฯ และมิตรประเทศที่ได้ให้ความช่วยเหลือตลอดมา

3. ไทยเห็นด้วยกับการสร้างความเข้มแข็งในการเตรียมความพร้อมและการตอบสนองต่อโรคระบาดในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับสากล รวมทั้งสนับสนุน WHO ที่กำลังจัดทำตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยโรคระบาด ซึ่งประเทศไทยอยู่ระหว่างแก้ไขพระราชบัญญัติโรคติดต่อให้สอดคล้องกับกฎอนามัยระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดในอนาคต

อนึ่ง การประชุมสุดยอดครั้งนี้ มีนายโจเซฟ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นประธานการประชุมฯ ซึ่งการมีส่วนร่วมของนายกรัฐมนตรีเป็นการแสดงสปิริต ความมุ่งมั่น และการสนับสนุนความพยายามร่วมกันในระดับโลกเพื่อประกาศคำมั่น และสะท้อนความร่วมมือเพื่อยุติโควิด – 19 และเพื่อการฟื้นตัว

ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม Global COVID-19 Summit : Ending the Pandemic and Building Back Better นี้แล้ว นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 76 (76th Session of the United Nations General Assembly: UNGA76) และการประชุมที่เกี่ยวข้องแบบทางไกล โดยมีกำหนดการกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมที่สำคัญอีก 3 รายการ ดังนี้

1. วันที่ 23 กันยายน 2564 การประชุมสุดยอดว่าด้วยระบบอาหาร (Food Systems Summit) ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะแสดงวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” สร้างความมั่นคงทางอาหาร และขับเคลื่อนโมเดล BCG เป็นทศวรรษแห่งการทำงาน หรือ Decade of Action พลิกโฉมระบบอาหารให้มีความยั่งยืนและสมดุล

2. วันที่ 24 กันยายน 2564 การประชุมระดับสูงด้านพลังงาน (High-level Dialogue on Energy) ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะแสดงวิสัยทัศน์การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของไทย โดยมุ่งจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ ขับเคลื่อนภาคพลังงานของไทยสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ และการลดก๊าซเรือนกระจก และ


3. วันที่ 25 กันยายน 2564 ในการอภิปรายทั่วไป (General debate) ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโลกหลังยุคโควิด-19