อีเวนต์ฝ่ายค้าน ช่วงปิดเทอมสภา ไล่งูเห่า ยกเครื่องพรรค ฟ้องคดีประยุทธ์

ในช่วงรอยต่อ 40 กว่าวันเศษ ภายหลังปิดสมัยประชุมรัฐสภา 2 ขั้วผู้มีอำนาจในรัฐบาลพลังประชารัฐ กระทำศึกวัดกำลัง กันอย่างดุเดือดจนพรรคแทบแตก

ผิดกับ 6 พรรคฝ่ายค้าน ผ่านพ้นความแตกแยก หลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ กลับมาเคลียร์แผลใจ เตรียมความพร้อม ปะ ฉะ ดะ กับรัฐบาลหลังเปิดสมัยประชุมอีกครั้ง 1 พฤศจิกายน 2564

พรรคฝ่ายค้านนัดประชุมสุมหัวในช่วงปลายเดือนกันยายน สรุปสำนวนเอาผิด 4 รัฐมนตรี ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประกอบด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งหมด 8 คดี มี 6 เรื่องโควิด-19 เรื่องระบายสต๊อกยางพารา 1 เรื่อง เรื่องดาวเทียม 1 เรื่อง ก่อนทยอยแจ้งเอาผิดต่อ ป.ป.ช.

ในช่วงเดือนตุลาคม อาจนัดเตรียมข้อมูลสำหรับการลาก พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเขียงในสภา ด้วยการยื่นอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 แม้งานนี้ไม่มีการนับเสียงโหวต แต่ฝ่ายค้านหวังผลทางอ้อมที่เปิดเวทีด่าในสภา ให้ม็อบในโซเชียลออนไลน์ กับม็อบออฟไลน์ บนถนนไปขยายแผลต่อเหมือนทุกครั้ง

โดยเฉพาะช่วงการเมืองผันผวน แปรปรวน การเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นโดยฉับพลัน ยิ่งต้องเน้นเป็นพิเศษ เก็บทุกแต้ม ทุกเม็ดเอาไว้ใช้เป็นคะแนนในการเลือกตั้ง

พรรคเพื่อไทย พี่ใหญ่ฝ่ายค้าน 134 เสียง คึกคักเป็นพิเศษ มีวาระพิจารณาลงโทษ “งูเห่า” 7 ตัว ตั้งแต่ดีกรีแรงสุดขับออกจากพรรค จนถึงแค่ว่ากล่าวตักเตือน ภายหลังคณะกรรมการจริยธรรมของพรรคมีมติ ขับ 2 ส.ส.พ้นพรรค คือ น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี และนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ จะต้องใช้เสียง ส.ส. 134 เสียง บวกกับกรรมการบริหารพรรค เพื่อลงมติขับออก

แต่บังเอิญว่า ติด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ห้ามประชุมเกินกว่า 5 คน ดังนั้น คลายล็อกเมื่อไหร่ เพื่อไทยจะลงมติทันที ไม่ต้องรอการประชุมใหญ่พรรคในวันที่ 28 ตุลาคม ที่ขอนแก่น

อันจะเป็นการประชุมสามัญประจำปี เป็นไปตามงาน “รูทีน” ของกฎหมายพรรคการเมือง แต่วาระพิเศษอาจจะเห็นเพื่อไทยประกาศความพร้อมเข้าสู่ศึกเลือกตั้ง ตั้งแต่หัววัน

เพราะมีสั่งการ ส.ส.ลงพื้นที่พบประชาชน แม้เป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาด ก็ห้ามว่างเว้น รับฟังปัญหาของประชาชนในแต่ละพื้นที่ เพื่อเตรียมกลับเข้ามาทำในสภา โดยย้ำให้ ส.ส.เตรียมความพร้อมสำหรับการยุบสภาที่อาจจะเกิดขึ้น ในช่วงที่ยังคาดเดาสถานการณ์ไม่ได้

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ประเมินสถานการณ์การเมืองและการเตรียมพร้อมของพรรคเพื่อไทยนับจากนี้ โดยเชื่อว่า สภาปิดเทอม 40 กว่าวัน จะทำให้รัฐบาลประคองสถานการณ์ได้พักหนึ่ง

แต่หลังจากเปิดสมัยประชุมแล้ว จะมีกฎหมายใหญ่ 2 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาในสภา ที่ต้องให้ที่ประชุมสภาเห็นชอบ คือ 1.พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 2.คาดว่ารัฐบาลจะเสนอ พ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ภายหลังรัฐบาลขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ต่อจีดีพี ซึ่งก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยเสนอให้รัฐบาลพิจารณามาแล้วครั้งหนึ่ง

“กฎหมายทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่สภา จะเป็นระเบิดลูกใหญ่ก่อนปีใหม่ หรือหลังปีใหม่เล็กน้อย และหลังปีใหม่ ระเบิดหลายลูก รวมถึงฝ่ายค้านจะเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ดังนั้น เมื่อรัฐบาลเผชิญระเบิดหลายลูก การยุบสภาเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ แต่อย่างช้าไม่เกินมีนาคมปีหน้า เพราะเวลานั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายลูกก็จะเสร็จ” นายประเสริฐกล่าว

อีกหนึ่งพรรคที่กุมเสียง 53 เสียงในฝ่ายค้าน คือ พรรคก้าวไกล “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” โฆษกพรรค และคณะทำงานด้านนโยบายเศรษฐกิจและสังคม บอกว่า พรรค แกนนำพรรค กำลังวางแผนลงพื้นที่

การลงพื้นที่ แกนนำพรรคกำลังวางแผนลงพื้นที่พบประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ ต้องประเมินสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และต้องปฏิบัติตามกฎของแต่ละพื้นที่อย่างเคร่งครัด ดังนั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาการจัดคน

ส่วนแผนงานนิติบัญญัติ ก้าวไกลใช้โอกาสปิดเทอมสภา ให้ ส.ส.พยายามแปรญัตติ เรื่องร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมถึง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แม้จะยังไม่โหวตวาระ 1 แต่ ส.ส.ที่พรรคมอบหมายให้เป็นกรรมาธิการ ได้พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว

และการออกกฎหมายเพื่อยกเลิก คำสั่งที่ 19/2560 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนภูมิภาค

ส่วนกฎหมายที่เตรียมจะเสนอยื่นไปในสภา คือ พ.ร.บ.เงินกู้เพื่อการศึกษา และ พ.ร.บ.ชดเชยเยียวยาให้เด็กกำพร้าที่สูญเสียผู้ปกครองช่วงโควิด-19

นอกจากนี้ พรรคยังได้มีการประชุมและเตรียมการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 โดยมอบหมายให้ “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรค ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานด้านนโยบายเศรษฐกิจและสังคม เป็นหัวหน้าทีม หาแก่นของเรื่องที่จะอภิปราย

อีกหนึ่งพรรค คือ พรรคเสรีรวมไทย กำ ส.ส. 10 คน นอกจากให้ ส.ส.ลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน ยังเตรียมตัวอภิปรายเรื่อง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่จะค้านในสภาหัวชนฝา เช่นเดียวกับเพื่อชาติ-ประชาชาติ ก็เริ่มลงพื้นที่ให้ประชาชนเห็นหน้าอีกครั้ง