ประยุทธ์ลงพื้นที่ “ชัยภูมิ” ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม วันนี้ (29 ก.ย.)

ประยุทธ์
FILE PHOTO

โฆษกรัฐบาลเผย “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม จ.ชัยภูมิ วันนี้ (29 ก.ย.) สั่งปรับแผนจัดการน้ำให้เหมาะกับสถานการณ์

วันที่ 29 กันยายน 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ช่วงสายวันนี้ (29 ก.ย.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเดินทางไปจังหวัดชัยภูมิ เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่

ทำให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน เนื่องจากมวลน้ำป่าไหลหลากมาจากเทือกเขาภูแลนคา และน้ำล้นตลิ่งจากมวลน้ำจากลำแม่น้ำชี ส่งผลให้น้ำหนุนเข้าในพื้นที่ 16 อำเภอ และได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมแล้ว

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีและคณะรับฟังรายงานสรุปจากผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ พร้อมตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย อ.เมืองชัยภูมิ ณ ตลาดสดเทศบาลเมือง และจะเดินทางต่อ เพื่อไปให้กำลังใจบุคลากรโรงพยาบาลและมอบสิ่งของที่จำเป็นให้แก่โรงพยาบาลชัยภูมิ

จากนั้น จะรับฟังรายงานจากนายอำเภอจัตุรัสและผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดชัยภูมิ เพื่อเร่งการระบายน้ำ และเตรียมแผนป้องกันหากยังมีฝนตกต่อเนื่อง พร้อมมอบถุงยังชีพให้ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยอำเภอจัตุรัส ขณะนี้มีน้ำท่วมขังและระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร และไหลท่วมเข้ามายังพื้นที่เศรษฐกิจบางส่วนแล้ว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้บูรณาการแผนบริหารจัดการน้ำวโดยการทำงานอย่างต่อเนื่องซึ่งได้มีมติคณะรัฐมนตรี (18 พ.ค.) กำหนด 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 เพื่อทุกส่วนราชการทุกระดับได้เตรียมความพร้อมในการรับมือและป้องกัน เพื่อลดความเสียหายจากการเกิดภัยพิบัติในฤดูฝนนี้

สถานการณ์น้ำขณะนี้ยังแตกต่างจากอดีต โดยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ยืนยันว่าขณะนี้ น้ำบริเวณตอนบนของประเทศอยู่ในระดับต่ำน้อยกว่าร้อยละ 50 ประกอบกับสถานการณ์อุทกภัยขณะนี้เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ตกเกิน 90 มิลลิเมตร/วัน พ้องกับระดับน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงสิ้นเดือนกันยายนเท่านั้น ซึ่งในช่วง 5–10 วันข้างหน้ายังไม่ปรากฏสัญญาณการเกิดพายุ ดังนั้น จะทำให้ฝนจะตกห่างออกไป น้ำที่ยังท่วมขังจะสามารถระบายออกไปได้

นอกจากนี้ กรมชลประทานได้ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ พร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อรองรับน้ำจากพื้นที่ตอนบนที่กำลังจะมาถึง อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม สื่อสารกับประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน รวมทั้งเร่งระบายน้ำโดยเร็วเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนนานกว่านี้