ต้นคิด ม.158 ผวา “นายทุน” นั่งนายกฯยาว 8 ปี หวั่นฮุบประเทศ

กลายเป็นเรื่องชุลมุน เมื่อฝ่ายค้านจุดประเด็น “วาระดำรงตำแหน่ง” นายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สิ้นสุดวันไหน

ดักทางการเลือกตั้งรอบหน้า หากเกิดขึ้นหลังสิงหาคม 2565 พรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคเครือข่าย พล.อ.ประยุทธ์ เสนอชื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯอีกรอบ อาจเกิดปัญหาในการบริหารประเทศ

ขุดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ระบุว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” ขึ้นมาการันตีว่า อายุนายกฯอยู่อีกไม่ถึงปีนับจากนี้

อย่างไรก็ตาม หลังการเปิดประเด็นของฝ่ายค้าน เกิดเป็น 3 scenario ที่ยังถกเถียงกันว่า จะนับจุดเริ่มต้นการเป็นนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อไหร่ และสิ้นสุดวันไหน

หนึ่ง 24 สิงหาคม 2557 ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯครั้งแรก หลังการรัฐประหาร จะครบ 8 ปีเมื่อ 23 สิงหาคม 2565

สอง 6 เมษายน 2560 เป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จะครบ 8 ปีเมื่อ 5 เมษายน 2568

สาม 9 มิถุนายน 2562 ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯครั้งสอง หลังการเลือกตั้ง จะครบ 8 ปีเมื่อ 8 มิถุนายน 2570

หลังเกิดเหตุ นักวิชาการ-อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต่างชงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ค้นเจตนารมณ์ มาตรา 158 ตอนหนึ่งระบุว่า “การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้”

“อุดม รัฐอมฤต” กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผู้ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยเรียกไปให้ข้อมูล คำร้องที่รัฐสภามีมติยื่นตีความอำนาจรัฐสภาว่าแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ย้อนความหลังว่า สาเหตุที่ กรธ.เขียนมาตรานี้ให้ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ห้ามการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี เพราะเรารู้สึกว่า ถ้าอยู่ในตำแหน่งยาวนานเกินไป เกรงว่าจะกลายเป็น “เจ้าของประเทศ” เราไม่ต้องการให้คนที่เป็นนายกฯอยู่ยาว

เพราะการเมืองเป็นประเภทพรรคที่มี “นายทุนหนุนหลัง” นายกฯที่มาทำหน้าที่ตรงนี้เป็นตัวแทนผลประโยชน์

อย่างไรก็ตาม กรธ.มองการเมืองแบบการเลือกตั้ง ไม่ใช่ออกแบบระบบการเข้าสู่อำนาจจากการรัฐประหารที่อยู่กี่ปีก็ได้

อย่างไรก็ตาม “อุดม” ขยายประเด็น “วาระนายกฯ” 8 ปี ของ “พล.อ.ประยุทธ์” ว่า สถานะความเป็นนายกฯของ “พล.อ.ประยุทธ์ 1” หลังรัฐประหารปี 2557 กับ “ประยุทธ์ 2” หลังเลือกตั้ง 2562 มาคนละฉบับ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อเนื่องแบบ “ไร้รอยต่อ”

คนละรัฐธรรมนูญ จะเป็นนายกฯต่อเนื่องอย่างไรก็แล้วแต่ เพราะตรรกะที่มาของวาระ 8 ปี ซึ่งพูดถึงนายกฯที่ถูกเลือกมาจากในสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 โดยพูดถึงวิธีการว่า นายกฯมาอย่างไร จากนั้นในมาตรา 158 วรรคสี่ระบุว่า อยู่ได้ไม่เกิน 8 ปี จะต่อเนื่องหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่ไม่ให้นำเรื่องรักษาการมารวมด้วย

ต้นตอมาตรา 158 เป็นหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องต่อเนื่อง ไม่ต่อเนื่องของการดำรงตำแหน่งนายกฯ แต่เป็นได้ไม่เกิน 8 ปี เกณฑ์ใหม่นี้ที่มีการอ้างว่ารัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลมาตรา 264 เพียงต้องการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญต้องทำหน้าที่ต่อไป เพราะไม่มีฝ่ายบริหาร

“ดังนั้น การทำหน้าที่ต่อ ไม่ได้หมายความว่ารัฐธรรมนูญจะบอกว่าใครทำหน้าที่ต่อให้นับวาระตรงนี้ด้วย เขาไม่ได้เขียน เรามาตีความกันเองว่า เมื่อเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ ก็ต้องถือว่าดำรงตำแหน่งนายกฯแล้ว”

“พล.อ.ประยุทธ์ มาจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว จริงอยู่ว่าเขาต่อมาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 แต่การได้เป็นนายกฯ หรือไม่ได้เป็น ไม่ได้อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์อยากเป็น แต่อยู่ที่สภาเป็นคนเลือก ดังนั้น ที่ตอนนี้มาพูดกันก็คือปิดทางไม่ให้สภาเลือก พล.อ.ประยุทธ์ ปัญหาอยู่ที่ว่าถึงไม่ปิดทางสภาจะเลือกเขาหรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง”

“ยิ่งไปตีความรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ไม่ได้มาตามหลักเกณฑ์นี้ (รัฐธรรมนูญ 2560) และอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ การควบคุม ครม.ก็ไม่ได้ว่าตามรัฐธรรมนูญ 2560 มันผิดฝาผิดตัวไปหมดเลย”

“ต่อไปหากคุณชวน หลีกภัย มาเป็นนายกฯ วาระก็ต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ เพราะที่ผ่านมา เขาเป็นนายกฯตามรัฐธรรมนูญอื่น คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็นับ 1 ใหม่เหมือนกัน เพราะอันนี้เป็นหลักเกณฑ์ใหม่ จะไปย้อนใช้กับพวกกติกาเก่าไม่ได้”

“ไม่เหมือนกับพวกติดคุกติดตะรางแล้วห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งที่เป็นพฤติกรรม ไม่เกี่ยวข้องกับการสถาปนาให้เขาดำรงตำแหน่งอะไร การให้ทำหน้าที่นายกฯไปตามกฎหมาย”

“ประยุทธ์” เป็นนายกฯ คนละระบอบกับรัฐธรรมนูญปัจจุบัน