พิชัย แนะ ประยุทธ์ ลดภาษีสรรพสามิต แก้ปัญหาราคาน้ำมัน

เพื่อไทย แนะประยุทธ์ ลดภาษีดีเซล ลั่นหากได้ตั้งรบ. ลดลิตรละ 5 บาท

พิชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ แนะ “ประยุทธ์” แก้ปัญหาราคาน้ำมัน ควรลดการเก็บภาษีสรรพสามิตลง ลั่นหากเพื่อไทยได้ตั้งรัฐบาล ลดทันทีลิตรละ 5 บาท แบ่งเบาภาระประชาชน

วันที่ 4 ตุลาคม 2564 มติชน รายงานว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ด้านเศรษฐกิจ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันได้เพิ่มขึ้นสูงมาก โดยราคาน้ำมันได้เพิ่มขึ้นแล้ว 6 ครั้งในระยะเวลาหนึ่งเดือน สร้างความลำบากซ้ำเติมให้กับประชาชนอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด แถมยังมาเจอกับน้ำท่วมหนัก

อีกทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงประมาณ 10% จากเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอจากความล้มเหลวของพล.อ.ประยุทธ์ โดยแนวโน้มในต่างประเทศราคาน้ำมันดิบที่ปัจจุบันราคาอยู่ที่ประมาณ 70-80 เหรียญต่อบาเรล และยังมีทิศทางที่จะขึ้นราคาต่อไปอีก โดยคาดหมายกันว่าราคาอาจจะถึง 90 เหรียญต่อบาเรลได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมาก

ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยจะลดราคาน้ำมันดีเซลทันทีลิตรละ 5 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งสามารถทำได้แน่นอนหลังตั้งรัฐบาล

ทั้งนี้ในสมัยรัฐบาลเพื่อไทยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาสูงมากราคาสูงถึง 120-130 เหรียญต่อบาเรล จึงมีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพียงลิตรละ 0.01 บาท เท่านั้น หรือ แทบไม่เก็บเลย แต่เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ รัฐประหารเข้ามาบริหารประเทศ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ลดลงมาก บางปีลดต่ำถึง 30-40 เหรียญต่อบาเรลเท่านั้น

เมื่อราคาลดลงพลเอกประยุทธ์จึงได้เก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงลิตรละ 5.99 บาท และเมื่อรวมกับภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วภาษีจะเพิ่มถึงลิตรละ 6.41 บาทเลย ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลงเพราะต้องจ่ายภาษีสูง

ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันดิบขึ้น รัฐบาลก็ควรจะลดการเก็บภาษีสรรพสามิตลง และเมื่อพรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งจะลดราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนแน่นอน ซึ่งหากจำกันได้พรรคเพื่อไทยได้เคยยกเว้นการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันชั่วคราวทำให้ราคาน้ำมันลดลงสูงสุดถึงลิตรละ 7.50 บาทเลย ที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว

ทั้งนี้ นายพิชัย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เคยแนะนำนายกฯ มาหลายครั้งแล้วในเรื่องโครงสร้างราคาน้ำมันและการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล แต่เหมือนนายกฯ ไม่ให้ความสนใจและไม่รู้สึกถึงความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งยังกล่าวว่ารัฐบาลควรใช้กองทุนน้ำมันในการแทรกแซงเสถียรภาพเพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันสูงเร็วเกินไป เพราะกองทุนมีเงินอยู่หลายหมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลกลับโอนเข้าเป็นรายได้ของรัฐฯ จำนวนหลายหมื่นล้านบาทในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งแท้จริงแล้วเงินนี้ควรเป็นของประชาชน

ดังนั้น นายพิชัย จึงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินการ 2 เรื่อง คือ การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพราะน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนของสินค้าหลายชนิด และยังเป็นต้นทุนของการขนส่ง และ การใช้เงินกองทุนน้ำมันแทรกแซงราคาน้ำมันโดยด่วน เพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามลำบากนี้

นอกจากนี้พล.อ.ประยุทธ์ ยังควรเข้าไปดูในโครงสร้างราคาน้ำมัน เช่น เรื่องราคาหน้าโรงกลั่นที่ยังสูงกว่าของสิงคโปร์ และ ค่าการตลาดที่ยังสูงและสามารถลดลงได้ อีกทั้งราคาพลังงานที่ผลิตจากพืชพลังงานทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลที่มีราคาสูง เป็นต้น โดยโครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิดควรจะต้องมีการตรวจสอบเพื่อไม่ให้เอาเปรียบประชาชนมากเกินไปรวมถึงโครงสร้างราคาไฟฟ้าด้วย

กบง.ลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน

ล่าสุด นายพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติให้ทำการปรับสูตรน้ำมันดีเซล ด้วยการปรับลดสัดส่วนผสมดีเซลจาก B10 และ B7 เป็น B6 ในช่วงระหว่างวันที่ 11-31 ตุลาคม 2564 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซล B6 นับตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม เป็นต้นไป (20 วัน) จะมีราคาอยู่ที่ 28.29 บาท/ลิตร

ขณะเดียวกันยังได้ลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในส่วนของ B7 จาก 1 บาท เหลือเพียง 1 สตางค์เท่านั้น และยังลคค่าการตลาดดีเซลเหลือ 1.40 บาท ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.2564 ดังนั้นในวันพรุ่งนี้ (5 ต.ค.) จึงส่งผลให้ B7 มีราคาอยู่ที่ 30.29 บาท/ลิตร ซึ่งทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าการชดเชยตามมาตรการดังกล่าวนี้ประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันสถานะเงินกองทุนฯ อยู่ที่ 11,000 ล้านบาท ยังคงเพียงพอที่จะนำมาช่วยเหลือ

ไตรมาสสุดท้าย ราคาขึ้นต่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ต้นทุนค่าครองชีพผู้บริโภคโดยเฉพาะในด้านพลังงานอาจจะปรับสูงขึ้นในไตรมาส 4 เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้นไป ส่งผลให้มีการปรับราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันในประเทศ ประมาณ 5-6 ครั้ง ในช่วงเดือนกันยายน หรือปรับขึ้นไปประมาณ 2 บาทต่อลิตร

ประกอบกับในวันที่ 30 กันยายนสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือดูแลราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่ 318 บาทต่อถัง เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพผู้บริโภคในช่วงวิกฤตโควิด-19

ด้านนายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่าเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวและเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ขณะที่การผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ชะงักจากพายุและกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (กลุ่ม OPEC) ควบคุมการผลิตน้ำมันดิบ