นิรโทษกรรมม็อบ–คดี 112 ขจัดเผด็จการ จุดยืนพรรคการเมือง 45 ปี 6 ตุลา

นิรโทษกรรมม็อบ – คดี 112 ขจัดเผด็จการ จุดยืนพรรคการเมือง 45 ปี 6 ตุลา

เปิดบรรยากาศงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลาคม 2519 ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นักเคลื่อนไหว-นักการเมือง ร่วมกิจกรรม ยืนหยัดต่อต้านความรุนแรง ไม่ซ้ำรอยหน้าประวัติศาสตร์เดิม

วันที่ 6 ตุลาคม 2564 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงานบรรยากาศการจัดงานรำลึก 45 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นไปอย่างคึกคัก มากกว่าทุกปี

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ คณะผู้จัดงานมีความกังวลว่าจะไม่สามารถจัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ตั้งลานประติมากรรม “ธรรมศาสตร์ กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519” ได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตจากทางมหาวิทยาลัย

แต่เมื่อถึงเวลา 00.03 นาที รอยต่อวันที่ 5 กับ 6 ตุลาคม ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แจ้งผ่านไลน์ว่า มหาวิทยาลัยได้รับหนังสือจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในเวลาราว 17.30 น. ว่าสามารถจัดงานได้โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยการเปิดเผยของนายพลากร จิรโสภณ หนึ่งในคณะกรรมการจัดงาน

ต่อมาเวลาประมาณ 06.00 น. ผู้คนที่มาร่วมงานรำลึก 45 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้ทยอยเดินทางกันมา ซึ่งมหาวิทยาลัยด้านประตูฝั่งสนามหลวง และไม่ได้ล็อกกุญแจแต่อย่างใด คณะกรรมการจัดงานสามารถเข้าสู่พื้นที่มหาวิทยาลัยได้ พร้อมทั้งตั้งโต๊ะให้ลงทะเบียน

โดยมีองค์กรต่าง ๆ, กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง มาร่วมงานอย่างคึกคัก เช่น ญาติวีรชน 6 ตุลา และญาติวีรชน14 ตุลา, ญาติวีรชน พฤษภา 35 และญาติวีรชน เมษา-พฤษภา 53, อดีต 18 ผู้ต้องหา 6 ตุลา , สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, องค์การและสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,

องค์การและสภานิสิตเกษตรฯ, มูลนิธิ และสถาบันปรีดี พนมยงค์, มูลนิธินิคม จันทรวิทุร, มูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์, สมัชชาคนจน, มูลนิธิศักยภาพชุมชน, ชมรมโดมรวมใจ, สหภาพและสหพันธ์แรงงาน, ชมรมเพื่อนจุฬา, หน่วยแพทย์และพยาบาลเพื่อมวลชน (พมช.), กลุ่มเพื่อนมหิดล,

กลุ่มอีสานใต้, กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก, กลุ่ม OCTDEM, กลุ่มแสงโดม มธ./คุณกิตติวัฒน์, พรรคป๋วยก้าวหน้า มธ., กลุ่มตุลาธรรม และเครือข่ายเดือนตุลา, กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, พรรคสามัญชน, กลุ่มฟันเฟืองเพื่อประชาธิปไตย, กลุ่มเขตงาน อดีตผู้ปฏิบัติงานฐานที่มั่นภาคต่าง ๆ, ผู้แทนพรรคการเมือง, ตัวแทนสื่อมวลชน สื่ออิสระ สื่อโซเชียลเพื่อประชาธิปไตย

ส่วนนักการเมืองที่มาร่วมงาน อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.ทศพร เสรีรักษ์

ขณะที่พรรคการเมือง ก็ส่งตัวแทนมาร่วมพิธีพร้อมทั้งแสดงจุดยืนทางการเมืองต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา

พรรคเพื่อไทย ส่งตัวแทนคือ นางสาวอรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และนายสุธรรม แสงประทุม อดีตนักศึกษานักเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 6 ตุลา นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรค และนายกฤตนัน สุทธิธนาเลิศ สมาชิกพรรค เข้าร่วมวางพวงมาลาเพื่อรำลึกถึงวีรชนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

โดยนางสาวอรุณีระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไทยที่ทำให้การยึดอำนาจรัฐประหารของเผด็จการเป็นสิ่งที่เลวร้ายและนำมาซึ่งความตกต่ำของประเทศจนถึงทุกวันนี้

เป็นหนึ่งในรูปแบบของความอำมหิตที่รัฐใช้กับผู้ชุมนุมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และสุดท้ายประเทศไทยก็ตกหลุมวนอยู่ในวงจรอุบาทว์ที่ทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนา โดยมี 4 ขั้นตอนหลัก คือ

1.การสร้างสังคมที่ “อยุติธรรม” เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การกลับเข้ามาในประเทศของจอมพลถนอม ที่ไม่เคยได้รับโทษใด ๆ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นชนวนเหตุความรุนแรง เช่นเดียวกับปัจจุบัน การชุมนุมของเยาวชนทั้งหลายก็เกิดจากการอึดอัดคับแค้นใจต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม

2.ใช้สื่อสารมวลชนอย่าง “อยุติธรรม” เพื่อสร้างวาทกรรมลดทอนคุณค่า โดยกรณี 6 ตุลา ผู้ชุมนุมถูกลดทอนคุณค่าการเรียกร้องความยุติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทำให้กลายเป็นปีศาจคอมมิวนิสต์ ปีศาจญวน จนมาถึงปัจจุบันเยาวชนที่ออกมาชุมนุมถูกลดทอนคุณค่าให้เหลือเพียง พวกชังชาติ หรือพวกสามกีบ โดยสื่อบางกลุ่ม หรือหน่วยไอโอ

3.เผด็จการเข่นฆ่ากระทำการรุนแรงกับประชาชน ในกรณี 6 ตุลา รัฐระดมกำลังพลและอาวุธสงครามล้อมฆ่าประชาชนที่ไร้ทางสู้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะที่ปัจจุบันรัฐเริ่มเพิ่มระดับความรุนแรงในการปราบผู้ชุมนุมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่แก๊สน้ำตา ฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมสารเคมี เอากระบองไล่ทุบตี ตระเวนขึ้นรถกระบะไล่ยิงกระสุนยาง และมี “มือมืด” ใช้กระสุนจริงด้วย

4.บังคับให้ถูกลืม กรณี 6 ตุลา การล้อมฆ่าถูกทำให้ลืมเลือน ใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะถูกรื้อฟื้น เมื่อเทียบกับการชุมนุมในปัจจุบันมักจะมีข่าวสังคมสร้างดราม่าเข้ามาแทรกเกือบทุกครั้ง ดังนั้นพรรคการเมืองและประชาชนจะต้องร่วมกันรื้อทุบโครงสร้างเหล่านี้ไปให้ได้ เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ยุติธรรมกลับคืนมาจะได้ไม่ต้องมีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2529 เกิดขึ้นซ้ำอีก

พรรคก้าวไกล–คณะก้าวหน้า มาพร้อมกัน โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วที่มาร่วมกิจกรรม 6 ตุลา ตนเคยเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นทุกปีเป็นการสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตและปัจจุบัน ไม่ว่าจะเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดจากรัฐใช้ความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมายจนมาถึงปัจจุบันที่ดินแดง

รัฐบาลไทยยังไม่รับฟังและรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่รับฟังความฝันใหม่ ๆ และความเปลี่ยนแปลงยุคสมัย 45 ปีเคยเป็นอย่างไรปีนี้ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ ซึ่งพรรคก้าวไกลมีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.ขอให้ยุติการใช้ความรุนแรงกับประชาชน ยิ่งมีการใช้ความรุนแรงต่อสู้กับอนาคตมากเท่าไร การชุมนุมแต่ละครั้งก็จะมีการปะทุและรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

2.ขอเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้คนยุคนี้ได้แสดงความคิดเห็น ใช้ความประนีประนอมกันไม่ใช้ความรุนแรง และ 3.ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น ต้องแก้ด้วยกระบวนการทางการเมือง ยอมรับการที่มีคนเห็นต่างในระบบประชาธิปไตยเป็นเรื่องปกติและสามารถทำได้ เชื่อว่าผลลัพธ์ความขัดแย้งทางการเมืองจะถูกชำระและทำให้ประเทศไทยเดินต่อไปได้

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เรียกร้องว่า ถ้ารัฐบาลยังดำเนินคดีกับเยาวชน และมองเห็นเยาวชนของชาติเป็นภัยความมั่นคงอย่างนี้อยู่ สังคมเดินต่อไปไม่ได้ ดังนั้น สำหรับเรื่องคดีทางการเมือง 1.จะต้องยุติการดำเนินคดีทางการเมือง เปิดพื้นที่ปลอดภัยทางการเมืองอย่างมีวุฒิภาวะ เพื่อหาจุดลงตัวให้ได้ว่าจะเดินร่วมกันไปอย่างไร ท่ามกลางความเห็นที่แตกต่าง

2.คดีที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องใช้วิธีทางการเมืองแก้ไข ไม่ว่าคดีมาตรา 112 มาตรา 116 คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องใช้กระบวนการทางการเมืองหาทางออก อาจต้องเดินไปถึงการนิรโทษกรรม ให้คดีเป็นโมฆะ เพราะหากดำเนินคดีเหล่านี้ต่อไปไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

“มาตรา 112 อย่างน้อยต้องแก้ไข หากไม่ยอมให้แก้ไข อนาคตประชาชนก็จะเสนอให้ยกเลิก”

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า เรามารำลึกอดีตเพื่อส่งเสียงว่าอยากเห็นอนาคตเป็นแบบไหน อนาคตที่เราอยู่ร่วมกันอย่างโอบอ้อมอารี อนาคตที่ความคิดเห็นแตกต่างได้รับการยอมรับ อนาคตที่อยู่ร่วมกันอย่างอดทนอดกลั้นกับอุดมการณ์แตกต่างกัน

อนาคตที่สิทธิ เสรีภาพประชาชนได้รับการปกป้อง มีแต่อนาคตแบบนี้เท่านั้นที่ประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าเข้าทันโลกาภิวัตน์ได้ เรามารำลึก 6 ตุลา ไม่ได้รำลึกแต่เพียงอดีต แต่เรามาป่าวประกาศถึงสังคมที่เราอยากจะสร้างไปด้วยกัน

พรรคไทยสร้างไทย นำโดยนายต่อพงษ์ ไชยสาส์น ประธานคณะกรรมการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็มาร่วมรำลึก โดยเรียกร้องให้รัฐต้องสรุปบทเรียนการจัดการความขัดแย้งในอดีต เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำเหมือนกับในอดีต โดยเฉพาะผู้นำประเทศ ที่จะต้องถอดบทเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงทุกรูปแบบต่อประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน

“พรรคไทยสร้างไทย ขอสืบทอดเจตนารมณ์ของคนยุค 6 ตุลา โดยขอเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันร่วมกับประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อสานต่อ 4 ภารกิจสำคัญ คือ ขจัดเผด็จการอำนาจนิยม, ขจัดรัฐราชการรวมศูนย์, ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยเต็มใบได้สำเร็จ”

อีกด้านในท้องสนามหลวง กลายเป็นที่วางตูคอนเทนเนอร์จำนวนมาก และมีรั้วลวดหนามตั้งไว้ในรั้วเตรียมพร้อมสำหรับการใช้งาน เช่นเดียวกับบริเวณด้านหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ก็มีตู้คอนเทนเนอร์กั้นเอาไว้เช่นกัน

เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงบ่ายที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จะจัดปราศรัย ณ ลานปืนใหญ่ ข้างหอประชุมใหญ่ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการอ่านบทกวีโดย น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จนถึงการจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ในช่วงเวลา 18.50 น.